มาอีกราย! Kbank ผนึกสตาร์ทอัพ YouTrip เปิดตัวบัตรแลกเงิน ฟรีค่าแรกเข้าดูดนักเดินทาง

ช่วงที่ผ่านมาสารพัดธนาคารต่างเปิดศึกตีตลาดแลกเงิน ด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวไทยไปต่างประเทศปีละ 11 ล้านคน มียอดใช้จ่ายรวม 4 แสนล้านบาท ทำให้กลายเป็นแหล่งเงินสำคัญที่ถูกจับจ้อง รวมถึงสตาร์ทอัพ “YouTrip” สัญชาติสิงคโปร์ที่ผนึกกำลังกับ Kbank เพื่อดูดนักท่องเที่ยวใช้จ่ายผ่านบัตร ชูไฮไลต์ฟรีค่าแรกเข้าและธรรมเนียมรายปี

YouTrip สตาร์ทอัพจากสิงคโปร์สยายปีกบุกไทยโดยจับมือแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ดีลกับ Kbank เปิดบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์และบัตรเดบิตแลกเงินสำหรับใช้ในต่างประเทศ โดย “จุฑาศรี คูวินิชกุล” พาร์ตเนอร์ร่วมก่อตั้งของ YouTrip ประเทศไทย ไม่ใช่คนหน้าใหม่ของโลกสตาร์ทอัพ เพราะเธอคืออดีตพาร์ตเนอร์ร่วมก่อตั้งของ Grab ประเทศไทยนั่นเอง

เช่นเดียวกับบัตรแลกเงินสำหรับใช้ในต่างประเทศอื่นๆ YouTrip มีจุดประสงค์เพื่อแก้ ‘pain point’ ของผู้บริโภคที่ไม่ต้องการมีเศษเงินเหลือกลับบ้าน และไม่ต้องการจ่ายค่าธรรมเนียมรูดบัตรเครดิตซึ่งมีอัตราระหว่าง 2.5-6.0%

ทางเลือกจาก YouTrip คือการใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น โดยผู้ใช้สามารถกรอกสมัครสมาชิกผ่านหน้าจอมือถือ จากนั้นบัตรเดบิตที่บริษัทร่วมเป็นพันธมิตรกับมาสเตอร์การ์ดจะถูกส่งมาตามที่อยู่ลูกค้าภายใน 3-5 วัน เป็นบัตรแบบคอนแทคเลสที่สามารถใช้ได้ทั้งการรูด แตะ และซื้อสินค้าออนไลน์ในต่างประเทศ

ส่วนการร่วมเป็นพันธมิตรกับ Kbank เพื่อให้ลูกค้าเชื่อมบัญชี YouTrip เข้ากับแอพฯ K PLUS โมบายแบงกิ้งของธนาคารกสิกรไทย เมื่อต้องการแลกเงิน ผู้ใช้สามารถเช็กเรตประจำวันและกดแลกเงินจากบัญชีกสิกรไทยเข้ามาเก็บใน e-Wallet ของ YouTrip ได้ทันที

กระบวนการเหล่านี้ นักท่องเที่ยวไทยบางกลุ่มน่าจะคุ้นหูคุ้นตาอยู่บ้างเนื่องจากธนาคารต่างๆ เช่น KTC, SCB, TMB หรือแม้แต่ Kbank เองก็เคยออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบนี้มาแล้ว แต่สิ่งที่เป็นหมัดเด็ดจาก YouTrip คือการประกาศฟรีค่าแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งต่างจากบัตรแลกเงินที่ออกมาก่อนหน้านี้ที่เก็บค่าแรกเข้ากันตั้งแต่ 200-700 บาท (ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะมีโปรโมชั่นฟรีค่าแรกเข้าจนถึงสิ้นปี 2562) ส่วนค่ารายปีนั้นมีบัตรจาก KTC และ SCB ที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียม

ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้น YouTrip สูสีกับเจ้าเดิมในตลาด ไม่ว่าจะเป็นตัวเลือกสกุลเงินให้แลกเปลี่ยนได้ 10 สกุลเงิน คือ THB, USD, EUR, JPY, GBP, HKD, AUD, CHF, CAD และไม่เสียค่าธรรมเนียมรูดจ่ายค่าสินค้า ขณะที่ค่าธรรมเนียมกดเงินสดจากตู้ ATM ในต่างประเทศ YouTrip และ Kbank จะเวฟค่าธรรมเนียม 100 บาทให้จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2563 แต่ค่าธรรมเนียมของตู้ ATM ธนาคารปลายทางนั้นอาจจะยังมีค่าใช้จ่ายอยู่ แตกต่างกันไปแล้วแต่ธนาคารแต่ละประเทศ

Kbank มองยาว YouTrip ช่วยเพิ่มฐานลูกค้า

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในดีลจับมือกันครั้งนี้คือ ธนาคารกสิกรไทยเองมีการออกบัตรแลกเงิน Journey อยู่แล้ว เหตุใดจึงมาออกผลิตภัณฑ์ซ้ำซ้อนร่วมกับสตาร์ทอัพ

ต่อคำถามนี้ “พัชร สมะลาภา” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกมาก ทำให้กสิกรไทยต้องมีตัวเลือกให้ผู้บริโภคหลายช่องทาง

“ถ้าเขาจะไปใช้ธนาคารอื่น ให้เขาเลือก YouTrip ยังดีกว่า” พัชรกล่าวพร้อมเสริมว่า ดีลครั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยไม่ได้หวังเป้าหมายในแง่รายได้ แต่ต้องการฐานลูกค้าเพิ่มจากผู้สมัครใช้งานแอปพลิเคชั่นนี้ซึ่งต้องผูกกับ K PLUS และเมื่อลูกค้าได้รับความสะดวกสบายจากการใช้งาน ก็อาจจะต่อยอดไปสู่การใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ในอนาคต เช่น สินเชื่อ

(จากซ้าย) พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย, จุฑาศรี คูวินิชกุล พาร์ทเนอร์ร่วมก่อตั้ง YouTrip ประเทศไทย และเซซิเลีย ชู ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ YouTrip

สำหรับบัตร Journey ของ Kbank นั้นนับเป็นบัตรแลกเงินที่เสียค่าแรกเข้าสูงสุดในขณะนี้คือ 700 บาท และมีค่าธรรมเนียมรายปี 550 บาท (โปรโมชั่นฟรี 1 ปีแรก) แต่สามารถกดเงินสดต่างประเทศได้สูง 2 แสนบาทต่อวัน

หวังเป้าผู้ใช้ 4 แสนรายภายในปีเดียว

ด้าน YouTrip นั้นวางเป้าไว้ไม่ใช่เล่นๆ โดย “จุฑาศรี” กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายดึงผู้ใช้ 4 แสนรายภายในปี 2563 จากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยปี 2562 ที่คาดการณ์ว่าจะมีถึง 11 ล้านคน เติบโต 7.4% จากปีก่อน และมีการใช้จ่ายต่างประเทศรวม 4 แสนล้านบาทต่อปี

ฐานลูกค้าเหล่านี้จะสร้างรายได้ให้กับ YouTrip หลักๆ มาจากการรับส่วนแบ่งจากมาสเตอร์การ์ดเมื่อลูกค้านำบัตรไปรูดใช้จ่าย ซึ่งค่าธรรมเนียมตรงนี้ร้านค้าจะต้องจ่ายให้กับมาสเตอร์การ์ดอยู่แล้ว ขณะที่ส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนนั้นจุฑาศรีบอกว่า ไม่ใช่จุดโฟกัสหลักของบริษัท

ขณะที่ภาพใหญ่ของสตาร์ทอัพ YouTrip “เซซิเลีย ชู” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ YouTrip จากสิงคโปร์กล่าวว่า บริษัทเพิ่งก่อตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 แต่ได้รับเงินระดมทุน series A แล้ว 26 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้ดาวน์โหลดแอปแล้ว 4 แสนครั้ง มียอดใช้จ่ายแล้ว 10 ล้านครั้ง

การบุกประเทศไทยนี้ถือเป็นประเทศที่สองของบริษัท โดยมีเป้าหมายใช้เงินระดมทุนรอบล่าสุดเพื่อให้บริการครอบคลุมไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้