ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกเติบโตช้า แนวโน้มดอกเบี้ยขาลง ตลาดมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จะลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างไร เป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ลงทุน ในเวทีสัมมนา “ลงทุนอย่างไรให้ได้รับผลตอบแทนกับภาวะดอกเบี้ยขาลง” จัดโดย TMB WEALTH BANKING ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ชวนตัวแทนพันธมิตร ประกอบด้วย Ms.Madeline -Sales Director Asia Pacific Jupiter Asset Management (Asia) Private Limited และ นายวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อสารองค์กร สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) รวมทั้ง นายศรายุทธ แก้วเกษ ผู้บริหารผลิตภัณฑ์กองทุนรวม ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันฉายภาพเศรษฐกิจรวม พร้อมแนะนำกลยุทธ์การสร้างโอกาสเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน
“ตราสารหนี้” หรือ Fixed Income ถูกยกเป็นหนึ่งสินทรัพย์ที่เหมาะกับการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเป็นขาลง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้มีความคึกคักและให้ผลตอบแทนที่ดี เพราะเมื่อคนมีความกังวลจะหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวสูงขึ้น และจากมแนวโน้มดอกเบี้ยโลกเป็นขาลง โดยธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้อีก 1 ครั้ง และปรับลดลง 2-3 ครั้งในปี 2563 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้า ทำให้ตราสารหนี้มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก เพราะนอกจากเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ได้รับดอกเบี้ยคงที่แล้ว ยังมีส่วนต่างราคาเสริมจาก Yield ด้วย
ปัจจัยบวกที่สนับสนุนให้ตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนมีสองประเด็นหลักคือ การเติบโต (Growth) และเงินเฟ้อ โดยในเรื่องแรกต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจากตัวเลขดัชนีชี้วัดของหลายประเทศที่ออกมาตอกย้ำว่าการเติบโตทั่วโลกหดตัว และถูกเพิ่มความเร็วขึ้นด้วยสงครามการค้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องเงินเฟ้อ จะเห็นได้ว่าธนาคารกลางของประเทศต่างๆ พยายามตั้งเป้าหมายให้เงินเฟ้อเติบโตแต่ไปไม่ถึง จึงส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไม่โต เนื่องจากเศรษฐกิจจะดีต้องมีเงินเฟ้ออ่อนๆ ขึ้นราคาสินค้าได้ คนมีเงินใช้จ่าย เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งขณะนี้คนเก็บไว้ไม่ใช้จ่ายเก็บ ซึ่งเทรนด์นี้ยังดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากทั้งสองเรื่องทำให้เห็นว่าภาพในระยะยาวยังเป็นบวกต่อตลาดตราสารหนี้
หากมองถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าและเงินเฟ้อต่ำก็จะมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวที่แก้ไขยาก นั่นคือ “3D” เริ่มจาก Debt หรือ หนี้ ซึ่งหลายประเทศมีระดับการก่อหนี้สูงขึ้นทั้งในภาคธุรกิจและหนี้ครัวเรือน ขณะที่ประสิทธิภาพของการก่อหนี้ต่อการทำให้เศรษฐกิจเติบโตลดต่ำลงเรื่อยๆ จากอดีต ทำให้ในภาพรวมมีความกังวลว่าการแบกรับภาระหนี้ที่สูงขึ้น อาจทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้จนกลายเป็นความเสี่ยง เพิ่มความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจ ส่วน D ที่สองเป็นเรื่อง Demographic หรือ ลักษณะประชากรศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย คนในวัยทำงานลดลง ทำให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจของโลกน้อยลง และทุกประเทศกังวลเรื่องนี้มาก ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่แก้ยาก สุดท้ายเป็นเรื่องเทคโนโลยี Digital ที่เข้ามา ดิสรัปชั่น เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ แม้เป็นเรื่องดีต่อผู้บริโภค แต่ระยะยาวทั้งธุรกิจและแรงงานต้องปรับตัวรับมือให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง
เมื่อลงลึกไปดูเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา พบว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจและผลกำไรของบริษัทต่างๆ ในปีนี้ลง แม้ว่าในปีหน้าคาดว่าผลกำไรจะกลับมาดีเช่นเดิม แต่ Jupiter Asset Management มองว่าเป็นมุมมองบวกเกินไป จากภาระหนี้ในระดับสูงของคนอเมริกาคนไม่มีเงินจับจ่าย จนต้องดึงเงินในอนาคตมาใช้ ดังนั้น สินทรัพย์เสี่ยงในอเมริกาจึงแพงเกินไป และในตลาดยังเกิดความผิดปกติ Inverted Yield Curve หรือการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น บ่งชี้ถึงความกังวลของนักลงทุนต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่วนเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปเมื่อมองไปที่บิ๊กบอยอย่าง เยอรมนี จะเห็นว่ามีสัญญาณการชะลอตัวเช่นเดียวกัน ขณะที่ออสเตรเลียซึ่งเศรษฐกิจค่อนข้างแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้รับผลกระทบหนักจากปัญหาสงครามการค้า เพราะมีการส่งออกไปยังประเทศจีนในสัดส่วนสูงมาก และมีปัญหาจากการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ของธนาคารง่ายเกินไป จนทำให้ธนาคารกลางต้องออกมาตรการควบคุม ส่งผลต่อเศรษฐกิจรวมด้วย
เมื่อเห็นภาพรวมที่เกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วโลก เศรษฐกิจมีความเปราะบางของความเสี่ยงมากขึ้น คนระมัดระวังหันมาลงทุนพันธบัตรรัฐบาลกันมากขึ้น และตอนนี้ไม่ใช่แค่ประชาชนเท่านั้นที่รู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ในส่วนของภาครัฐที่ดูแลนโยบายก็รู้สึกเช่นกัน ธนาคารกลางในหลายประเทศมีโอกาสลดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งราคาพันธบัตรจะสูงขึ้น จึงป็นเหตุผลให้แนะนำว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นทางเลือกที่ดี โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ซึ่งทั้งสองประเทศมีทิศทางจะปรับลดดอกเบี้ยลง ทำให้ราคาพันธบัตรปรับขึ้น จึงมีโอกาสได้รับส่วนต่างจากราคาด้วย อย่างไรก็ตาม พันธบัตรรัฐบาลจะให้ผลตอบแทนไม่มาก ดังนั้น ควรลงทุนในหุ้นกู้เอกชนเพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่ม แม้ต้องรับความเสี่ยงสูงขึ้น ซึ่งต้องเฟ้นหาหุ้นกู้บริษัทคุณภาพดี สามารถสร้างโอกาสในการเติบโตจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อายุหุ้นกู้ไม่ยาวมาก มีรายได้สม่ำเสมอ เพื่อรักษาความผันผวนของพอร์ต
สิ่งที่ Jupiter Asset Management เน้นย้ำในการลงทุนคือ ความสม่ำเสมอของรายได้ต้องไม่ผันผวนจนเกินไป ซึ่งมาจากการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม การบริหารจัดการพอร์ตอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการสร้างตอบแทนและให้ความสำคัญกับ Yield โดยมองหาโอกาสในตราสารหลายตัวที่อยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมทั้งต้องประเมินภาพรวมเศรษฐกิจและเจาะลึกลงในรายอุตสาหกรรม สิ่งสำคัญต้องบริหารเชิงรุก พร้อมปรับเปลี่ยนตลอดเวลา อันเป็นแนวทางการลงทุนสำคัญที่ใช้บริหารกองทุนหลัก The Jupiter Global Fund ซึ่งกองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล บอนด์ ฟันด์ (ยูดีบี) เข้าไปลงทุน เพื่อตอบโจทย์ในการสร้างเพิ่มผลตอบแทนท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตช้าและดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาลง
“ท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่โตช้าลง เราอาจต้องถอยมาตั้งหลัก รอจังหวะการลงทุน แต่ไม่ใช่กลัวจนถอยกรูด สถานการณ์ตอนนี้เปรียบเสมือนมีคลื่นลมอยู่ตลอดเวลา การเลือกเรือฝ่าไปต้องมีความปลอดภัยและมีความยืดหยุ่นสูง นั่นคือ เรือดำน้ำ เพราะสามารถอยู่บนคลื่นได้และหลบไปใต้น้ำก็ได้ เช่นเดียวกับการลงทุนหากต้องการความปลอดภัยและสร้างโอกาสเพิ่มผลตอบแทน เราต้องเลือกกองทุนที่บริหารเชิงรุกและมีความยืดหยุ่น ปรับกลยุทธ์ได้ตลอดเวลา”