เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย จัดประชุม “สร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษา (Education Transformative Change)เพื่อการพัฒนาคนสำหรับอนาคต” ณ ห้องจูปิเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯเพื่อนำข้อมูลและข้อค้นพบจากโครงการวิจัยด้านการศึกษาที่สำเร็จแล้ว 3 โครงการ คือ มาเป็นจุดตั้งต้นหาคำตอบเชิงนโยบายและการปฏิบัติการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยอธิการบดีและคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ผู้บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้อำนวยการสถานศึกษา ตลอดจนผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา เข้ารับฟัง โดยประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในงานดังกล่าวคือคำถามที่ว่าโลกเปลี่ยนไป ทำไมการศึกษาไทยไม่เปลี่ยนแปลง ?
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ สกสว. เปิดเผยข้อมูลว่า การจัดงานประชุมวันนี้เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยด้านการศึกษา 3 โครงการวิจัย ประกอบด้วย
1.โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา (พัฒนายุววิจัย) (2556- 2562) ที่ สกสว. ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย และมหาวิทยาลัย 8 แห่งใน 4 ภูมิภาค ออกแบบให้การวิจัยเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ของเด็กและทำให้ครูเปลี่ยน mindset ของการสอน (ถามคือสอน สะท้อนคิดคือเรียน เขียนคือคิด) สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ในการบูรณาการสาระวิชาต่าง ๆ คือการคิดวิเคราะห์ ลงมือหาคำตอบจากการทดลองปฏิบัติ การเรียนรู้ปัญหาจริงจากชุมชน ผสมผสาน STEMกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่คำนึงถึงมิติเศรษฐกิจท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม
2.โครงการความร่วมมือ สกสว. – มหาวิทยาลัยราชภัฏ. (2558-2562) โดยเครือข่ายครุศาสตร์ราชภัฎ 38 แห่งได้สร้างโมเดล CCR คือ จิตตปัญญา การเป็นอาจารย์และครูโค้ช และการจัดการเรียนรู้ผ่านโครงงานฐานวิจัย เพื่อพัฒนานักศึกษาฝึกหัดครู และกำลังพัฒนาหลักสูตรผลิตครูฐานสมรรถนะ
3.โครงการพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา (2562- ปัจจุบัน) โดย สกสว. สนับสนุนภาคีการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการสร้างศักยภาพครูและผู้บริหารโรงเรียน พัฒนากลไกการบริหารการศึกษาในระดับจังหวัดและการวิจัยเพื่อปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโรงเรียน ตลอดจนสร้าง ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อโอกาสใหม่ๆทางการศึกษา โดยมหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับโรงเรียน ชุมชน เอกชน และจังหวัด มีการพัฒนาและทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่สอดคล้องกับภูมิสังคมรวมทั้งปรับการวัดผล โดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำงานในพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา จังหวัดสตูล สถาบันอาศรมศิลป์ทำงานในพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจังหวัดระยอง และร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษและมูลนิธิสยามกัมมาจลทำงานในพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ข้อจำกัดทางกฎระเบียบและประเมินผลลัพธ์ที่เกิดในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้งสามจังหวัด
จากการวิจัยทั้ง 3 ชุดโครงการอย่างต่อเนื่อง พบว่า ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงที่เด็กเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของครูและผู้บริหารโรงเรียนที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยสามารถเข้าไปทำงานเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง “เชนจ์ เอเจนทส์” (Change agent) ได้ในหลายระดับ เช่น
1.ผลิตครูใหม่ให้ปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นโค้ช และมีโกรท มายด์เซ็ท (Growth mindset)
2.เป็นพี่เลี้ยงที่โรงเรียน กระตุ้นหนุนเสริมให้ผู้อำนวยการโรงเรียนทำบทบาทเป็นโคชครู และพัฒนาครูให้เป็นโคชการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะการเรียนรู้จากการปฏิบัติที่มีการคิดวิเคราะห์แบบมีเหตุมีผล
3.สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอน เช่น โครงงานฐานวิจัยบนหลักการของ STEM และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกกระบวนการคิดที่เชื่อมกับโลกแห่งความเป็นจริง สามารถแก้ปัญหา มีความเห็นสร้างสรรค์ เป็นเหตุเป็นผล ทำงานเป็นทีมได้
4.เป็นแกนวิชาการหนุนเสริมการพัฒนาการศึกษาของจังหวัด เช่นที่จังหวัดระยอง การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะที่อิงกับบริบทพื้นที่ และปรับปรุงการวัดประเมินผลการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะโดยทำงานร่วมกับโรงเรียน เอกชน ชุมชนพื้นที่
5.เป็นฝ่ายวิชาการร่วมพัฒนากลไกการศึกษาเชิงพื้นที่ และเป็นกลไกเชิงนโยบายในระดับประเทศโดยวิเคราะห์ข้อจำกัดและโอกาสใหม่ๆของระบบการศึกษา
ทั้งนี้ในวงเสวนาของการประชุมดังกล่าว สรุปข้อมูลว่า ปัจจุบัน กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กระทรวง อว. ได้กำหนดให้ประเด็น “การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต”เป็น 1 ในประเด็นสำคัญของการให้ทุนวิจัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวคิดว่า ภาคนโยบายมองเห็นว่า “การปฏิรูปการศึกษาของประเทศ” ควรใช้ “งานวิจัย” เป็นกลไกส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนทั้งนี้ หรือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศไทย คงไม่ใช่เพียง “ครู” หรือผู้อยู่ในแวดวงการศึกษา แต่คือผู้ที่มีความเชื่อ ความกล้าในการเปลี่ยนแปลง มาร่วมกันทำงานภายใต้การกระจายอำนาจทางการศึกษา ที่มีการออกแบบกลไก มีการเสริมพลังการทำงานของเครือข่าย โดยท้ายที่สุดบุคคลที่เป็นเจ้าของหลักสูตร การเรียนรู้ ที่เป็นอาวุธพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศ ควรเป็นเจ้าของพื้นที่นั้น โดยมีเครือข่ายร่วมกันหนุนเสริมการทำงาน
Related