เปิดเบื้องหลัง “CPN” ดึง “มิตซูบิชิ เอสเตท” ร่วมทุน “เซ็นทรัล วิลเลจ” ใช้ Know-how พัฒนาเอาท์เล็ต

เซ็นทรัล วิลเลจ
  • มิตซูบิชิ เอสเตท ยักษ์อสังหาฯ ญี่ปุ่นลงทุน 30% ในเซ็นทรัล วิลเลจ เม็ดเงินกว่า 1 พันล้านบาท
  • ซีพีเอ็นหวังช่วยดึงลูกค้าต่างชาติเพิ่มในโครงการ
  • ดีลนี้อาจเป็นสะพานร่วมทุนโครงการในอนาคต ทั้งธุรกิจออฟฟิศ ศูนย์การค้า ในไทยและต่างประเทศ

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น แจ้งข่าวการเข้าถือหุ้นของ “มิตซูบิชิ เอสเตท” บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากญี่ปุ่น ในโครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ สัดส่วน 30% คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท โดยเซ็นทรัล วิลเลจ เป็นเอาท์เล็ตแห่งแรกที่เครือเซ็นทรัลพัฒนาขึ้น มีพื้นที่กว่า 100 ไร่ ร้านค้ากว่า 150 แบรนด์ ทำเลติดทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ และเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา

ดีลนี้มีความน่าสนใจที่ซีพีเอ็นแจ้งข่าวการร่วมทุนหลังจากโครงการเปิดบริการไปแล้ว ดังนั้นเรื่องแหล่งเงินจึงไม่ใช่ประเด็นหลัก เมื่อสอบถามไปยัง “วัลยา จิราธิวัฒน์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีพีเอ็น ได้คำตอบว่าโครงการไม่ได้ติดปัญหาใดๆ แต่เนื่องจากฝั่งมิตซูบิตชิ เอสเตทติดต่อให้ความสนใจร่วมทุนในโครงการ รวมถึงมีบริษัทอื่นๆ รวม 3 รายที่ติดต่อเข้ามาที่ซีพีเอ็นในลักษณะเดียวกัน หลังจากเจรจาอยู่ 1 ปีครึ่งบริษัทจึงได้ข้อสรุปที่จะร่วมทุนกับมิตซูบิชิ เอสเตท

(ที่ 2 จากซ้าย) “วัลยา จิราธิวัฒน์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีพีเอ็น, (ที่ 3 จากซ้าย) “ปรีชา เอกคุณากูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่และซีอีโอของ ซีพีเอ็น, (ที่ 2 จากขวา) “ยูทาโร โยซุซูกะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย

สาเหตุเนื่องจากมิตซูบิชิ เอสเตทมีจุดแข็งด้านการพัฒนาเอาท์เล็ตที่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นอยู่แล้ว และเป็นบริษัทที่ขยายการลงทุนเข้าไปในหลายประเทศ ทำให้ซีพีเอ็นเล็งเห็นประโยชน์ในอนาคต อาจมีการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาโครงการอื่นๆ เพิ่มเติมโดยเฉพาะในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ซีพีเอ็นเองมีแผนการบุกต่างประเทศอยู่แล้ว โดยเพิ่งเปิดบริการเซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ ในมาเลเซียไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 และมีแผนรุกคืบเข้าสู่เวียดนามเป็นประเทศต่อไป ซึ่ง “วัลยา” แย้มว่าอาจได้เห็น ‘ข่าวดี’ กันในปีหน้า

ดึงลูกค้าต่างชาติช้อปเพิ่ม

ด้าน “ปรีชา เอกคุณากูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่และซีอีโอของ ซีพีเอ็น ชี้ให้เห็นว่า การเข้ามาของมิตซูบิชิ เอสเตทจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงการเซ็นทรัล วิลเลจได้ในหลายด้าน ได้แก่

  1. Know-how จากมิตซูบิชิ เอสเตทในการพัฒนาเอาท์เล็ต ทั้งในแง่การบริหาร และองค์ความรู้เรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค
  2. ความสัมพันธ์ของบริษัทกับ แบรนด์ญี่ปุ่น ที่เป็นที่นิยม ที่อาจช่วยเชื่อมต่อเพื่อดีลเข้ามาเปิดร้านค้าในเซ็นทรัล วิลเลจได้
  3. ช่วยดึงดูด กลุ่มนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นและ expat ญี่ปุ่น ในประเทศไทยเข้ามาที่โครงการเพิ่มขึ้น

ปรีชาเปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันหลังเปิดบริการมาเกือบ 3 เดือน เซ็นทรัล วิลเลจมีทราฟฟิกผู้ใช้บริการเฉลี่ย 17,000 คนต่อวัน มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 10,000-12,000 บาทต่อคน โดยบริษัทตั้งเป้าหมายสัดส่วนลูกค้าเป็นคนไทย 65% และต่างชาติ 35% แต่ยอมรับว่าปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าต่างชาติยังน้อยกว่าที่คาด

ซีพีเอ็นยังมีแผนจะพัฒนา เฟสสองของโครงการ ต่อไปในอนาคตด้วย โดยยังเหลือพื้นที่อีกราว 30 ไร่จาก 100 ไร่ที่สามารถขยับขยายเพิ่มพื้นที่ร้านค้าได้อีก 50-60 แบรนด์ แต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนการก่อสร้างชัดเจน ส่วนพื้นที่เฟสแรกมีผู้เช่าเต็ม 100% และเปิดบริการไปแล้ว 95% ของทั้งหมด ส่วนที่เหลือน่าจะเปิดบริการอย่างสมบูรณ์ภายในเดือนธันวาคมนี้

สนใจจับมือระยะยาว

ฝั่ง “ยูทาโร โยซุซูกะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย กล่าวถึงความสนใจในการลงทุนในเซ็นทรัล วิลเลจเนื่องจากเชื่อว่าจะกลายเป็นสถานที่จุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวไม่พลาดเข้าเยี่ยมเยือนเมื่อมาประเทศไทย เพียงแต่ต้องการกำลังเสริมให้โครงการดียิ่งขึ้น

“เซ็นทรัล วิลเลจ มีโครงสร้างทางกายภาพที่สมบูรณ์แล้ว แต่เราจะเข้ามาช่วยด้านการดูแลลูกค้าให้พึงพอใจมากขึ้น รวมถึงสัดส่วนลูกค้าที่ยังมีชาวต่างประเทศน้อย เราจะมาช่วยในส่วนนี้” โยซุซูกะกล่าว “เอาท์เล็ตนั้นไม่ใช่แค่แหล่งช้อปปิ้ง แต่ต้องเป็นแหล่งนันทนาการให้คนมาใช้ชีวิตได้ด้วย”

ภายในโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ

มิตซูบิชิ เอสเตทนั้นเป็นบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงโตเกียว เป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ ทั้งประเภทที่อยู่อาศัย ออฟฟิศบิลดิ้ง ศูนย์การค้า และโรงแรม และยังขยายไปในต่างประเทศ 7 ประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ไทย ฯลฯ โดยทำรายได้รวมปีล่าสุดประมาณ 1.14 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะธุรกิจเอาท์เล็ต มิตซูบิชิ เอสเตทมีการร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทไซม่อนพัฒนาไปแล้ว 9 แห่งในญี่ปุ่น ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือโครงการ Gotemba จังหวัดชิสึโอกะ ซึ่งมีลูกค้าช้อปปิ้งภายในศูนย์การค้าปีละกว่า 10 ล้านคน

ทั้งนี้ ในกลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัยในประเทศไทย มิตซูบิชิ เอสเตทมีสัญญาร่วมทุนกับ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) และดำเนินการพัฒนาร่วมกันมานานกว่า 5 ปี ดังนั้นหากมีการร่วมทุนกับซีพีเอ็นจะเป็นธุรกิจอสังหาฯ ประเภทอื่นๆ

“เราไม่ได้กำหนดกรอบการลงทุนเฉพาะโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ เราสนใจที่จะร่วมมือกับซีพีเอ็นในส่วนอื่นๆ ด้วย” โยซุซูกะกล่าว “ที่สามารถร่วมทุนด้วยได้ เช่น ออฟฟิศบิลดิ้ง ศูนย์การค้า”