ชาอี้ฟาง (Yi Fang) ชาผลไม้จากไต้หวันเปิดสาขาแรกในไทยแล้วที่สามย่านมิตรทาวน์ แบรนด์นี้เป็นร้านชาสุดฮิตที่สามารถขยายไปมากกว่า 1,500 สาขาใน 16 ประเทศภายในเวลาไม่ถึง 4 ปี ด้วยการฉีกแนวทางตลาด เลือกจับกลุ่มชาผลไม้สดแทนกระแสชาไข่มุก
เคอ จือ ไค เริ่มทำธุรกิจเครื่องดื่มครั้งแรกเมื่ออายุ 23 ปี โดยเข็นรถเข็นขายชาตามท้องถนนในไต้หวัน ก่อนที่สูตรชาของเขาจะพัฒนามาเรื่อยๆ จนก่อตั้งเป็นแบรนด์ ชาอี้ฟาง และตั้งบริษัทขึ้นเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว เคอยังทำธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น ร้านไก่ทอด ปิ้งย่างเกาหลี ปิ้งย่างญี่ปุ่น ร้านกาแฟ
ปัจจุบันเคอในวัย 36 ปี มีพอร์ตธุรกิจร้านอาหาร-เครื่องดื่มกว่า 10 แบรนด์ แต่ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคือ “ชาอี้ฟาง” ที่ขยายไปแล้วกว่า 1,500 สาขาใน 16 ประเทศทั่วโลก
ประเทศที่มีการขยายสาขามากที่สุดของอี้ฟางคือ จีน 1,100 สาขา รองลงมาคือ ไต้หวัน 150 สาขา ฮ่องกง 30 สาขา ตามด้วย ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม ประเทศละ 20 สาขาเท่ากัน นอกจากนี้ยังขยายไปในทวีปอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ส่วนสาขาในไทยเพิ่งเปิดสาขาแรกเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.62 ที่สามย่านมิตรทาวน์
ทุกวันนี้อี้ฟางขายได้วันละ 7 แสนแก้ว และมีเป้าหมายปี 2563 ที่จะขยายทะลุ 2,000 สาขาใน 30 ประเทศ บุกหนักในแถบอเมริกาและยุโรป และคาดว่าจะทำยอดขายรวมได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ฉีกจาก “ชานม” เป็น “ชาผลไม้”
การขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่เคอวางไว้ โดยเขามองว่าไต้หวันมีชื่อเสียงด้านชาไข่มุกไปทั่วโลกอยู่แล้ว แต่ตลาดชาไข่มุกที่ชูโรงด้วย “ชานม” นั้นอิ่มตัวจนการทำแบรนด์ใหม่ขึ้นมาจะไม่แตกต่าง ขณะเดียวกันไต้หวันมีวัตถุดิบผลไม้ในประเทศ เช่น สับปะรด แอปเปิ้ล เสาวรส เลม่อน เมล่อน ทำให้เขาเชื่อว่าชาผลไม้จะสร้างความต่างได้ในระดับโลก
เคอยังสร้างแบรนด์ด้วย “เรื่องราว” เขาเล่าว่า อี้ฟางเป็นชื่อเล่นของคุณยายของเขา ในครอบครัวเคอที่ทำไร่สับปะรดกันมาตลอด ชาที่ดื่มแก้กระหายหลังทำงานในไร่คือชาผสมแยมสับปะรดสูตรของคุณยายนั่นเอง
Positioning ถามเคอถึง key success ในการขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว เขามองว่าเป็นส่วนประกอบของสองมุม คือ ฝั่งเจ้าของแบรนด์ ต้องสร้างสินค้าที่มีจุดเด่น มีคุณภาพ และเตรียมวัตถุดิบพร้อมส่งไปทั่วโลก โดยชาอี้ฟางเองใช้จุดขายคือวัตถุดิบเป็นชาสดและผลไม้สด อีกมุมหนึ่งคือ ฝั่งผู้รับบริหารแฟรนไชส์ ต้องมีศักยภาพในการบริหารจัดการ สามารถขยายสาขาได้ และสร้างชื่อเสียงให้แบรนด์ในประเทศนั้นๆ
“ผู้รับบริหารแฟรนไชส์ต้องมีธุรกิจของตัวเองที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วเพื่อพิสูจน์ว่าขยายสาขาให้เราได้ และต้องมีเป้าหมายขยายสาขา” เคอกล่าว “ในไทยเราเลือกคุณวิเชียร (อัศววรฤทธิ์) เพราะเป็นคนเดียวที่มองระยะยาว ต้องการเปิดมากกว่า 1 สาขา”
ส่วนการหาผู้รับแฟรนไชส์นั้นเคอบอกว่า ส่วนใหญ่มาจากลูกค้าที่ได้ลองชิมแล้วชอบจนเข้าหาบริษัทเพื่อรับแฟรนไชส์เอง ดังนั้น “อี้ฟางจึงต้องการให้การดื่มชาอี้ฟางทั่วโลกได้รับความรู้สึกเหมือนกัน รสชาติเดียวกัน” เคอกล่าว
ปลุกตลาดชาผลไม้ 50 สาขาทั่วไทย
วิธีการขยายตลาดแบบให้หน้าร้านและสินค้าขายตัวเองนั้นได้ผลกับไทยเช่นกัน เพราะ “วิเชียร อัศววรฤทธิ์” ผู้รับบริหารลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ ชาอี้ฟาง ในไทย ‘ติดใจ’ รสชาติชาแบรนด์นี้จากสาขาที่ฮ่องกง และพบว่าตลาดประเทศไทยยังไม่มีแบรนด์ชาผลไม้สดที่แข็งแรง จึงตัดสินใจติดต่อไปเพื่อขอนำเข้า
วิเชียรประเมินว่าตลาดร้านชาในไทย มีสัดส่วนกลุ่มชาผลไม้ไม่เกิน 10% แต่ทั้งตลาดชามีการเติบโตปีละ 10-15% ดังนั้นน่าจะเป็นโอกาส โดยปีนี้บริษัทจะเปิด 2 สาขาที่สามย่านมิตรทาวน์และแอม ไชน่าทาวน์ ส่วนปี 2563 เปิดเพิ่มอีก 10 สาขา เน้นในศูนย์การค้าระดับ B+ ขึ้นไป เฉพาะกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ตั้งเป้ารายได้ปีหน้าที่ 50-60 ล้านบาท
ระยะยาวจะเริ่มขยายออกต่างจังหวัด ตั้งเป้าภายใน 3-5 ปีสามารถขยายได้ 50 สาขาทั่วประเทศ ส่วนการปล่อยแฟรนไชส์ต่อนั้นยังไม่อยู่ในแผน เนื่องจากต้องการบริหารจัดการเองก่อน
- อ่านเพิ่มเติม: เจาะอินไซต์ “ทาสชาไข่มุก” ชาวไทย กินเดือนละ 6 แก้ว!
ชาอี้ฟาง เป็นแบรนด์ชาระดับพรีเมียม ราคาเฉลี่ย 100 บาทต่อแก้ว 22oz ทำให้กลุ่มเป้าหมายคือผู้บริโภคที่ต้องการคุณภาพ หลังทดลองตลาดระยะหนึ่งพบว่าลูกค้าส่วนใหญ่ 70% เป็นเพศหญิง และอยู่ในวัยทำงานอายุ 25-35 ปี
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นครั้งแรกที่วิเชียรทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม พื้นฐานการทำของเขาคือ บริษัท บี โซไซตี้ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายกระเบื้องลามิเนตจากสิงคโปร์
“ก็ท้าทายเหมือนกัน แต่มองว่าพื้นฐานธุรกิจต่างๆ เหมือนกันในการบริหารจัดการ สามารถปรับใช้กันได้ จุดสำคัญคือสินค้า ซึ่งเราพอใจในสินค้าอยู่แล้ว” วิเชียรกล่าว “ชาผลไม้เป็นสินค้าที่แตกต่างจากชานม ตอบโจทย์คนที่ชอบชาใสและคนที่อยากลองอะไรใหม่ๆ อย่างตลาดไต้หวันเอง ชาไข่มุกบูมมาก แต่ชาผลไม้ยี่ห้อนี้ก็ยังติดตลาดขึ้นมาได้”