บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (“SCGP”) ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อ สำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) แล้ว ในวันที่ 17 ธันวาคม 2562 โดย SCGP ชูศักยภาพธุรกิจ เป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[1] พร้อมนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ (Packaging Solutions) และบริการที่หลากหลาย โดยการระดมทุนครั้งนี้เพื่อเร่งขยายธุรกิจรองรับการเติบโตของผู้บริโภคในภูมิภาค (Consumer Growth) รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าตลอดจนถึงผู้บริโภค โดยดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างความยั่งยืนและหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
นายวิชาญ จิตร์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า SCGP เป็นคู่คิดที่ตอบโจทย์ลูกค้าด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร มีนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้าและบริการที่หลากหลาย และมุ่งเน้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้งานให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดย SCGP มีการขยายการเติบโต พัฒนาจุดแข็งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการต่าง ๆ โดยในปี 2562 ได้ควบรวมกิจการ PT Fajar Surya Wisesa Tbk. ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์กระดาษ และบริษัท วีซี่ แพ็คเกจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบคงรูปที่มีมูลค่าสูงระดับสากล อีกทั้งธุรกิจยังมีฐานลูกค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบัน SCGP มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและครอบคลุมทุกด้าน โดยแบ่งการดำเนินธุรกิจเป็น 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Chain) ที่มีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมและหลากหลายกว่า 120,000 รายการ หรือ SKUs ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Fast-Moving Consumer Goods หรือ “FMCG”) ธุรกิจค้าปลีก รวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ซึ่งมีโอกาสที่ดีในการเติบโต โดยสินค้าหลักในกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วย บรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก (Corrugated Containers) บรรจุภัณฑ์กล่องพิมพ์สีเพื่อแสดงสินค้า (Retail Display Packaging) เพื่อส่งเสริมแบรนด์ลูกค้า บรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) และบรรจุภัณฑ์แบบคงรูป (Rigid Packaging) เพื่อรักษาและปกป้องสินค้า รวมถึงกระดาษบรรจุภัณฑ์ (Packaging Paper) ถุงกระดาษ รีไซเคิลสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค และถุงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ SCGP ยังมี สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ (Fibrous Chain) ซึ่งประกอบไปด้วย ผลิตภัณฑ์ภาชนะสำหรับบรรจุอาหารปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แบรนด์ “เฟสท์” (Fest) ที่มีรูปแบบดีไซน์สวยงามและฟังก์ชั่นที่เหมาะกับการใช้งานของผู้บริโภค รวมถึงผลิตภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ ยิ่งไปกว่านั้น SCGP ยังให้บริการโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการพิเศษของลูกค้า ได้แก่ โซลูชันด้านการออกแบบและการพิมพ์ โซลูชันสำหรับงานย่อย โซลูชันที่ช่วยเพิ่มความสะดวกผู้บริโภค โซลูชันบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ โซลูชันสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) โซลูชันสำหรับการจัดแสดงสินค้าและส่งเสริมการตลาด โซลูชันสำหรับกลุ่มสินค้าและบริการภายใต้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
ภาพรวมตลาดบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร ตลอดจนการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ในภูมิภาค SCGP จึงวางแผนงานขยายธุรกิจเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องโดยมีกลยุทธ์หลักประกอบด้วย
1) เพิ่มสัดส่วนการขายบรรจุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง ซึ่งรวมถึงกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจการบริการด้านอาหาร และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce)
2) นำรูปแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของ SCGP ในประเทศไทยไปขยายในต่างประเทศ โดยใช้กระบวนการบูรณาการทั้งในแนวตั้งและแนวนอนเพื่อสร้างความใกล้ชิดระหว่าง SCGP กับลูกค้า และมีส่วนร่วมกับลูกค้าในด้านต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น
3) ดำเนินการตามกลยุทธ์การควบรวมกิจการและร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเร่งการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างประโยชน์จากการผนึกกำลัง (Synergy) ระหว่างธุรกิจภายใน SCGP
4) ลงทุนและพัฒนานวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง รวมถึงขยายฐานลูกค้าในตลาดที่มีการเติบโตสูง
5) เพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้เครื่องจักรกลอัตโนมัติ และเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง
6) เป็นต้นแบบ (Role Model) ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในภูมิภาคและสนับสนุนแนวทางดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น
นายกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ Chief Financial Officer บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2561 ของ SCGP มีรายได้รวมจากการขายทั้งสิ้น 87,255 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 7.1% แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากการขายแบ่งตามที่ตั้งของลูกค้าในประเทศไทย 61.0% และต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 39.0% และมีกำไรสุทธิ 6,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27.0% เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตและบริหารจัดการต้นทุนภายในด้านต่าง ๆ โดยในปี 2562 SCGP ได้ขยายธุรกิจโดยการควบรวมกิจการในภูมิภาคด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 25,000 ล้านบาท
นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า SCGP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยจะออกและเสนอขายหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 1,374,000,000 หุ้น โดยแบ่งเป็น (1) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนรวมไม่เกิน 1,194,800,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 27.7 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ SCGP ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ (ไม่รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจาก SCGP ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) และ (2) อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวนไม่เกิน 179,200,000 หุ้น โดยคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15.0 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้ SCGP สามารถระดมทุนมาใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจแพคเกจจิ้ง ทั้งในและต่างประเทศให้เติบโต รวมทั้งเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีความพร้อมในการรองรับการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต
ผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลในรายละเอียดจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนฉบับเต็มของ SCGP ซึ่งได้ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ที่ website ของสำนักงาน ก.ล.ต. (https://market.sec.or.th/public/idisc/th/Product/Filing)
หมายเหตุ
การแจกจ่ายเอกสารฉบับนี้ไปยังประเทศหรือเขตอำนาจรัฐอื่น ๆ นอกจากประเทศไทย อาจเป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย ผู้ที่ได้รับเอกสารฉบับนี้ควรศึกษาและปฏิบัติตามข้อจำกัดทางกฎหมายนั้น ๆ เอกสารฉบับนี้ไม่ได้ถูกจัดทำเพื่อการเผยแพร่ การตีพิมพ์ หรือการแจกจ่าย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในหรือไปยังสหรัฐอเมริกา
เอกสารฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อแจ้งข้อมูลเท่านั้น และไม่ถือเป็นการเสนอขายหรือการชักชวนให้เข้าซื้อหลักทรัพย์ใด ๆ และไม่มีการเสนอขายหรือซื้อหลักทรัพย์ในประเทศหรือเขตอำนาจรัฐใดที่การเสนอขาย การชักชวนการเสนอซื้อ หรือการขายหลักทรัพย์นั้นขัดต่อกฎหมาย หลักทรัพย์ที่กล่าวถึงในเอกสารฉบับนี้ยังไม่ได้นำไปจดทะเบียนภายใต้กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1933 รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม (“กฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา”) หรือกฎหมายของรัฐใด ๆ ในสหรัฐอเมริกา และจะไม่มีการเสนอขายหรือการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวในสหรัฐอเมริกา เว้นแต่จะได้มีการจดทะเบียนหรือได้รับยกเว้นการจดทะเบียนภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา และกฎหมายของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ไม่มีความประสงค์ที่จะจดทะเบียนไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดหรือว่าทั้งหมดของการเสนอขายหรือหลักทรัพย์ใด ๆ ที่กล่าวถึงในเอกสารฉบับนี้ในสหรัฐอเมริกา หรือดำเนินการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในสหรัฐอเมริกา
ข้อความในเอกสารฉบับนี้ที่เป็นการคาดการณ์ของตลาดหรือแนวโน้มอุตสาหกรรมนอกเหนือจากที่เป็นข้อเท็จจริงในอดีต เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองในปัจจุบัน สมมติฐาน การประมาณการ อันมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอน กรณีมิได้เป็นการรับประกันว่าเหตุการณ์หรือผลลัพธ์ที่คาดการณ์นั้นจะเกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงในสมมติฐานหรือปัจจัยต่าง ๆ อาจทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงแตกต่างจากการคาดการณ์ดังกล่าว
[1] จากข้อมูลของฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน ในปี 2561