บอสใหญ่ ‘ETDA’ ลาตำแหน่ง พร้อมผันตัวเป็น ‘Startup’ ตั้งเป้า Unicorn รายแรกของไทย

ETDA หนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทด้าน Digital ของไทยในหลากหลายด้าน อาทิ E-commece, Cyber Security, E-payment และอื่นๆ อีกมาก แต่หลังจากที่พี่แอน ‘สุรางคณา วายุภาพ’ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ‘สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA’ มานานถึง 9 ปี ในที่สุดก็ถึงเวลาที่บอสใหญ่จะประกาศอำลาตำแหน่ง พร้อมด้วยลูกทีมอย่าง นางสาวจิตใส เก่งสาริกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และ นายสรณันท์ จิวะสุรัตน์ รองผู้อำนวยการ เพื่อไปเป็น Startup โดยตั้ง บริษัท บีเทค เทคคอมพานี จำกัด

ตั้งเป้า Unicorn รายแรกของไทย

สำหรับบริษัทใหม่มีแผนจะเปิดตัวในวันที่ 8 ม.ค. 2563 และมั่นใจว่าจะเป็น Startup รายแรกที่ก้าวสู่การเป็น ‘Unicorn’ เนื่องจากรูปแบบของบริษัทจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมการทำงานสตาร์ทอัพแบบเดิม โดยบริษัทจะเป็นทีมที่ทำงานกับทีมต่างๆ ซึ่งเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน อาทิ บล็อกเชน, การทำบัญชี, การคิดค้นนวัตกรรม เพื่อทำหน้าที่ในการ ‘ซื้อ’ สตาร์ทอัพที่น่าสนใจ โดยที่เจ้าของผลงานมีสิทธิ์เป็นผู้บริหารร่วม

เมื่อบริษัทมีกลุ่มสตาร์ทอัพที่รวมตัวกัน จะทำให้สามารถบริหารจัดการด้านสิทธิประโยชน์และภาษีได้ เพื่อลดข้อด้อยของกฎหมายไทยที่ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ดังกล่าวได้ ทำให้สตาร์ทอัพต้องไปจดทะเบียนที่ประเทศสิงคโปร์เพราะต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษี

“สตาร์ทอัพในเมืองไทย ยังคงเป็นเพียงแค่ซอฟต์แวร์เฮาส์ ไม่ใช่ เทคคอมพานี จึงไม่สามารถสร้างลิขสิทธิ์และต่อยอดได้ ดังนั้นจึงทำได้แค่ขายบริษัททิ้งให้บริษัทรายใหญ่ หรือต่างชาติอยู่เสมอ และสาเหตุที่สตาร์ทอัพไทยไม่เติบโตไม่ใช่เพราะทุน แต่เขายังไม่เห็นความต่างที่จะต่อยอดได้”

มั่นใจ ETDA ไปต่อแม้ไม่มีตน

ถึงแม้ว่าตนเองจะไม่ได้เป็นผู้อำนวยการที่ ETDA แล้ว แต่ก็เชื่อมั่นว่าองค์กรจะยังเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากได้วางวัฒนธรรมองค์กรไว้อย่างมั่นคงแล้ว แม้ว่าก้าวต่อไปในปีที่ 10 ที่จะเปลี่ยนทั้งโครงสร้างการทำงาน และมีโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งเรื่องบล็อกเชน (Blockchain) เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ แมชชีนเลิร์นนิ่ง รวมทั้งเรื่องบิ๊กดาต้า (Big Data) ก็ตาม

“งานทั้งหมดจะเร่งสปีดไม่ได้เลยหากขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างเรื่องกฎหมาย ซึ่งการมีทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) และพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 ทำให้บทบาทของ ETDA ชัดเจนขึ้น สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการทำธุรกรรมทางออนไลน์ของประเทศ”

ผลงานสำคัญตลอด 9 ปี ขับเคลื่อนกฎหมายดิจิทัล

ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ETDA ได้มีส่วนรวมในการขับเคลื่อนชุดกฎหมายดิจิทัลกับกระทรวงดีอีเอสจนเกิดผลเป็นรูปธรรมทั้งหมดในปี 2562 พร้อมจัดทำมาตรฐานที่สอดคล้องกับระดับสากล เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างกันได้ รวมทั้งพัฒนาบริการ ‘ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือ’ หรือ TEDA (Trusted Electronic Document and Authentication) ช่วยในการแปลงแบบฟอร์มราชการเดิมให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ยังกำหนดแนวทางว่า การลงนามเอกสาร การจัดเก็บเอกสารระยะยาว ที่เป็น e-Document ว่าจะต้องทำอย่างไร อีกทั้งยังมีบริการประทับรับรองเวลา (e-Timestamping) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ e-Document นอกจากนี้ยังพัฒนามาตรฐานข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ใบเพิ่มหนี้/ลดหนี้อิเล็กทรอนิกส์ ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ (e-Invoice) และใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์อย่างย่อให้กรมสรรพากรด้วย

ในส่วนของงานกลุ่มสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ทั้งการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเทศไทย, การสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต, ข้อมูลด้าน e-Payment และ e-Trading and Service เพื่อนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ของธุรกรรมออนไลน์ในปัจจุบัน รวมถึงการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดออนไลน์

“งานสำคัญในทศวรรษที่สองของ ETDA คือ การเตรียมพร้อมประเทศให้รับความท้าทายใหม่ๆ โดยมี 2 ธุรกิจที่ควรผลักดันให้มีการกำกับดูแลโดยเร็ว คือ การกำกับดูแลผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และ Digital ID ซึ่งปัจจุบันถือเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อขั้นตอนการทำธุรกรรมทางออนไลน์ ซึ่งจำเป็นต้องดูแลให้ระบบน่าเชื่อถือ และรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น บล็อกเชนได้”

#ETDA #สพทอ #Starup

Source