ตลาดขานรับสังคมผู้สูงวัย งาน Good Living for Aging Society ครั้งที่ 4 ผลตอบรับดีเกินคาด

ผลตอบรับดีเกินคาดงาน Good Living for Aging Society ครั้งที่ 4 ภายใต้คอนเซ็ปต์“Together Longer” ใช้ชีวิตสุขใจหลังวัยเกษียณคับคั่งด้วยผู้เข้าร่วมงานที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย โดยจากผลสำรวจผู้เข้าร่วมงานในปีนี้พบว่าเกือบครึ่งเคยซื้อออนไลน์ขณะที่กลุ่มคนที่ไม่ได้ซื้อออนไลน์นิยมซื้อสินค้าในหมวดหมู่ เช่น บริการด้านการเงิน การออกกำลังกาย/อาหารเสริม และการดูแลสุขภาพพื้นฐาน และกลุ่มผู้บริโภคอายุระหว่าง51-60 ปี ที่นิยมซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านเว็บไซต์กับแอปพลิเคชันมากกว่าเฟซบุ๊คและไลน์ โดยภายในงานอัดแน่นด้วยสาระดีๆ พร้อมแนะเคล็ดลับเพื่อการวางแผนชีวิตสุขใจหลังเกษียณ การปรับบ้านให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุเพื่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิต การลงทุนอย่างชาญฉลาดหลังเกษียณ วางแผนการออมเงินเพื่ออนาคตที่มั่นคงทางสุขภาพ แนวทางวางแผนการเงินอุ่นใจ บ้านอบอุ่น รับชีวิตเกษียณ พร้อมแนวทางการดูแลตัวเองและสานสัมพันธ์คนใกล้ชิด ชี้ธุรกิจDigital Health น่าจับตา คาดอีก 5 ปี โตก้าวกระโดด 209%

นางสาวภาคนี วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานจัดงานร่วมงานมหกรรมการเงิน Money Expo เปิดเผยว่าการจัดงาน Good Living for Aging Society ครั้งที่ 4 ในโซนกิจกรรมภายในงาน Money Expo Year-End 2019 ที่จัดเมื่อวันที่ 28 พ.ย.-1 ธ.ค. 2562ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายใต้คอนเซ็ปต์“Together Longer” ใช้ชีวิตสุขใจหลังวัยเกษียณ ได้รับผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก โดยตลอด 4 วันมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคทั้งกลุ่มผู้วางแผนเกษียณอายุ ผู้ที่เกษียณอายุแล้ว และกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกับผู้สูงอายุตื่นตัวกับการปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคมผู้สูงอายุด้วยความเข้าใจ

อย่างไรก็ดีผลสำรวจผู้เข้าร่วมงานในปีนี้พบว่าเกือบครึ่งนึงของผู้สูงอายุเคยมีการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์โดยกลุ่มอายุ 51-60 ปีที่ซื้อสินค้าทางออนไลน์นิยมซื้อผ่านช่องทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นมากกว่าช่องทางเฟซบุ๊คและไลน์ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้ซื้อทางออนไลน์จะเป็นสินค้าในหมวดหมู่บริการด้านการเงินการออกกำลังกาย/อาหารเสริมและการดูแลสุขภาพพื้นฐานซึ่งสินค้าในกลุ่มดังกล่าวผู้ซื้อต้องการการสอบถามและได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญมีข้อมูลครบถ้วนน่าเชื่อถือประกอบการตัดสินใจอย่างละเอียด

นอกจากนี้ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงสถิติการใช้แอปพลิเคชั่นของผู้สูงวัยโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 51-60 ปีซึ่งกำลังเริ่มก้าวเข้าสู่วัยเกษียณที่เน้นไลฟ์สไตล์ท่องเที่ยวนิยมใช้แอปพลิเคชั่นด้านท่องเที่ยวถึง 30% รองลงมาเป็นแอปพลิเคชั่นด้านการถ่ายภาพและวิดีโอถึง 22% สูงกว่าการใช้แอปพลิเคชั่นด้านการเงินและโซเชียลมีเดียสำหรับกลุ่มคนในช่วงอายุนี้

ซึ่งยังพบอีกว่ากลุ่มอายุ 51-60 ปีที่ใช้งานโซเชียลมีเดียเช่นเฟซบุ๊คและไลน์ให้ความสนใจในการติดตามหมวดหมู่เรื่องการแพทย์และสุขภาพถึง 21% ถึงแม้จะน้อยกว่าหมวดหมู่อาหารและเครื่องดื่ม (25%) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอายุ 41-50 ปี (11%) และ 61-70 ปี  (14%) ก็พบว่าคนกลุ่มอายุ 51 ปีขึ้นไปโดดเด่นในเรื่องความสนใจด้านสุขภาพอย่างเห็นได้ชัดอันดับรองลงมาคือหมวดหมู่ด้านข่าวสารและความบันเทิง

อย่างไรก็ดีการจัดงานครั้งนี้เน้นให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่พึ่งพาตนเองได้ เพื่อเตรียมพร้อมวางแผนด้านการหารายได้ในยามสูงวัย การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงยืนยาว มีความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ และได้รับการดูแลจากคนรอบข้างที่เข้าใจผู้สูงวัยซึ่งสาระประโยชน์ภายในงานครั้งนี้สามารถเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางเพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนผ่านของสังคมประเทศไทยที่จะก้าวข้ามจาก Aging Societyหรือ“ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ”เข้าสู่ Aged Society หรือ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”ในทุกๆด้าน

ด้านบ้านพักอาศัยจำเป็นต้องมีปรับบ้านให้เป็นมิตรกับผู้สูงวัยนับเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ จากการสัมมนาเรื่อง “Senior Living ปรับบ้านให้คนสูงวัยพึ่งพาตนเองได้”โดยรองศาสตราจารย์ ไตรรัตน์ จารุทัศน์ จากภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบสถาปัตยกรรมกับผู้สูงอายุ ได้แนะปรับโครงสร้างบ้านที่ออกแบบให้เป็นมิตรกับผู้สูงวัย ป้องกันการหกล้มในแต่ละโซนในบ้าน แบ่งเป็น3โซนที่สำคัญคือ1.ห้องน้ำส่วนที่เกิดการหกล้มมากที่สุดควรมีราวจับพยุงในจุดชักโครกและอ่างล้างหน้ามีเก้าอี้นั่งอาบน้ำฝักบัวต้องไม่สูงเกินไปมีหน้าต่างเพื่อระบายอากาศควรต้องมีสัญญาณฉุกเฉินไว้ใช้ขอช่วยเหลือ2.บันไดภายในบ้าน ควรเป็นทางราบ มีความสูงขั้นบันไดไม่เกิน 15 ซม. และมีราวจับ3. ห้องนอน ความสูงของเตียงจากพื้นควรสูงประมาณ 45 ซม. เมื่อลุกจากเตียงควรมีราวจับเพื่อพยุงตัว

ด้านการลงทุนอย่างฉลาดเป็นอีกตัวช่วยให้ผู้สูงอายุวางแผนจัดการเงินในวัยเกษียณ การสัมมนาพิเศษหัวข้อ “ลงทุนสุขภาพ รับเทรนด์ Digital Health”นับเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าและน่าจับตา โดย นพ.มนต์สรร อัศวนพเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายระบบประกันและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้มุมมองว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบันที่มีนวัตกรรมการ พัฒนายาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยโรคร้ายต่าง ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในช่วง 10 – 20 ปี นายคมสัน ผลานุสนธิ กรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาดและผลิตภัณฑ์ บลจ.แอสเซท พลัส จำกัด ชี้จุดว่าการลงทุนธุรกิจเฮลธ์แคร์รับเทรนด์ Digital Health กำลังได้รับความสนใจทั่วโลก เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาพัฒนาอุสาหกรรมเฮลธ์แคร์ ทำให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มดังกล่าว หรือกองทุนระยะยาว มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค ซึ่งเป็นอนาคตใหม่แห่งวงการสุขภาพ ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ยอดขายยาที่พัฒนามาจากเทคโนโลยีชีวภาพ เติบโตเพิ่มขึ้น 85% และคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า การพัฒนาจะช่วยเพิ่มการเติบโตสูงถึง 209%นายราชันย์ ตันติจินดา CFP นักวางแผนการเงินยังได้แนะการเลือกออมเพื่ออนาคตที่มั่นคงทางสุขภาพ เพราะจากสถิติกลุ่มผู้ที่มีอัตราเข้าโรงพยาบาล และอัตราค่าใช้จ่ายต่อปีค่อนข้างสูง เช่น กลุ่มคนอายุ 61 – 70 ปี จากสถิติเข้าโรงพยาบาล 8-10 ครั้งต่อปี โดยคิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 10,000 – 16,000 บาทต่อปี จึงควรเลือกลงทุนเพื่ออนาคตที่รองรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว ซึ่งมีหลากหลายประเภท เช่น ประกันบำนาญ ที่ไม่ต้องรอเกษียณก็สามารถทำได้ หุ้นกู้เอกชน หรือตราสารหนี้เอกชน

ด้านการมองหาที่อยู่อาศัยและการออมเงินสำหรับใช้จ่ายเมื่อเข้าวัยเกษียณ หัวข้อพิเศษ “การเงินอุ่นใจ บ้านอบอุ่น รับชีวิตเกษียณ” นางสาวศศิวิมล สิงหเนตร Happy Director MEESUK SOCIETYกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกสถานที่ให้ผู้สูงอายุ หรือบ้านพักคนชราในประเทศไทย บ้านพักคนชราถูกแบ่งออกเป็น3 ประเภท คือ1.องค์กรการกุศล 2.บ้านพัก สามารถซื้อขายเป็นกรรมสิทธิ์และเป็นมรดกได้ 3.เนิร์สซิ่งโฮม มีบริการดูแลผู้สูงอายุ แต่ไม่ได้เป็นที่รักษาผู้ป่วยสูงอายุ นายราชันย์ ตันติจินดา CFP นักวางแผนการเงิน แนะวางแผนทางการเงินรองรับชีวิตเกษียณ ควรแบ่งเงินออกเป็นก้อน ก้อนแรกอยู่ในรูปแบบการออมทรัพย์หรือฝากประจำ เพื่อรับดอกเบี้ยสูงขึ้น ก้อนสอง เพื่อลงทุนหรือเพิ่มมูลค่าให้เงินออมเช่นกองหุ้น หุ้น ตราสารหนี้ การลงทุนที่ดีที่สุด ต้องศึกษาด้วยตัวเอง ปัจจุบันมีหลายวิธี เช่น  ศึกษาจากแพลตฟอร์มออนไลน์

ด้านการดูแลสุขภาพและการสานสัมพันธ์ผ่านหัวข้อ “ชีวิตไม่มีแก่ ดูแลถูกวิธี สร้างสัมพันธ์คนใกล้ชิด”โดย ผศ.ดร.กภ.ภครตี ชัยวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าผู้รับการทำกายภาพบำบัดสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยออกกำลังกายที่ต้องการฟื้นฟู และกลุ่มผู้ป่วย โดยสามารถแก้ไขหรือสร้างพฤติกรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่เรียกว่า “เป็นต้นทุนให้กับสุขภาพร่างกายในอนาคต”ด้วยการสังเกตความผิดปกติของร่างกายดูแลตัวเองด้วยวิธีการออกกำลังกายพักผ่อนให้เพียงพอส่วนผู้ดูแลที่ต้องเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุ ควรหาข้อมูลการดูแลที่ถูกต้อง

นางสาวภาคนี กล่าวทิ้งท้ายว่าเรามุ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่ Aged Society หรือ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”ของคนทุกช่วงวัยให้กับสังคมไทย ผ่านการจัดงาน Good Living for Aging Society โดยประกอบด้วยกลุ่มวัยทำงานก่อนเกษียณ เตรียมความพร้อมด้านการดำเนินชีวิต ทั้งด้านความเป็นอยู่ที่พักอาศัย การเงินที่อุ่นใจพร้อมรับมือช่วงวัยเกษียณ กลุ่มผู้สูงอายุหลังเกษียณมุ่งเน้นให้ดูแลตัวเองด้วยเทคนิคต่าง ๆ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง และประกอบกับกิจกรรม หรืองานอดิเรกสำหรับหลังเกษียณ และกลุ่มสุดท้าย สำหรับกลุ่มลูกหลาน หรือผู้ดูแลผู้สูงอายุ เน้นการดูแลด้วยความเข้าใจ กับครอบครัวในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”

ในงาน Good Living for Aging Society ครั้งที่ 5 ครั้งต่อไปในงาน Money Expo 2020 จะมีการต่อยอดสาระดีมีประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมงานและสำหรับงานนี้ใครพลาดไป สามารถติดตามข้อมูลเทคนิคต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม รวมถึงข่าวสารการจัดงานGood Living for Aging Society ครั้งที่ 5 ในครั้งต่อไป ได้ที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ @GoodAgingSociety