สรุปความเคลื่อนไหวค่ายรถก่อนจบปี 2019 หลายค่ายรัดเข็มขัดจนหน้าเขียวหน้าแดงทั้ง GM, Ford และ Mercedes-Benz ที่ไม่เพียงประกาศเลิกจ้างพนักงานหลายพันตำแหน่ง แต่ยังพร้อมใจปรับโครงสร้างการดำเนินงานทั่วโลกเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายหลักพันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ โลกหวั่นใจปี 2020 อาจซ้ำรอยการล่มสลายของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกที่เคยเกิดเมื่อทศวรรษที่แล้ว ทั้งการชะลอตัวของยอดขายรถยนต์ และความหวั่นใจเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวที่กำลังตั้งเค้าเมฆครึ้มมาแต่ไกล
ปีแห่งการดื้นครั้งใหญ่
ปี 2019 ถือเป็นปีที่ค่ายรถลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองหลายด้าน เช่น การลงทุนในเทคโนโลยีเกิดใหม่อย่างรถยนต์ขับเคลื่อนตัวเองอิสระแบบไร้คนขับ และรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งหมดถือเป็นความพยายามเพื่อรับมือกับตลาดในสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว
ยอดขายรถยนต์ที่ถูกมองว่าชะลอตัวนั้น แม้ประเทศไทยจะมียอดขายปี 61 เพิ่มขึ้น 19.2% เป็น 1,039,158 คัน แต่ในตลาดโลก ยอดขายรถยนต์กลับลดลงเหลือ 80.6 ล้านคัน จากที่ยอดขายรถใหม่ปี 60 เคยอยู่ที่ 81.8 ล้านคัน ปี 60 นั้นถือเป็นปีแรกในรอบ 10 ปีที่ยอดขายรถใหม่โลกหกตัว (นับจากปี 2009) สำหรับปี 62 คาดว่ายอดขายรถใหม่จะหดตัวอีก 4% เหลือแค่ 77.5 ล้านคัน
ยอดขายรถใหม่ในปี 2020 จึงถูกมองว่าจะลดลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ปัจจัยหลักของภาวะนี้คือความต้องการในตลาดจีนที่หดตัว ในปี 2020 มีแนวโน้มว่ายอดขายรถใหม่จะดิ่งลงมากกว่า 17 ล้านคัน เป็นตัวเลขประเมินการลดลงที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งล่าสุด
แน่นอนว่าค่ายรถผู้ผลิตรถยนต์ได้เรียนรู้บทเรียนจากการถดถอยครั้งที่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การล้มละลายของ GM ตามติดมาด้วยคิวถัดไปอย่าง Chrysler ในปี 2009 หลายค่ายใหญ่จึงไม่อายที่จะปรับโครงสร้างการดำเนินงานเชิงรุกในปีนี้ ทำให้มีผลกำไรที่แข็งแกร่งบนยอดขายที่ชะลอตัว
Michelle Krebs นักวิเคราะห์บริหารของ Cox Automotive กล่าวว่า อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเตรียมพร้อมรับมือวิกฤติ และทุกฝ่ายจดจำได้ดีถึงความผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ทำผิดพลาดแบบเดียวกัน หลายบริษัทจึงพยายามลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ในภาวะที่ผลประกอบการยังสวยงาม ถือเป็นจุดที่แตกต่างจากภาวะช่วง 10 ปีที่แล้ว
“ชิ้นพายในตลาดกำลังเล็กลง ค่ายรถจึงวางตัวเองให้พร้อมเพื่อรับมือกับทุกสถานการณ์ รวมถึงอนาคตใหม่ที่กำลังมา…ทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกันในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน”
ปิดโรงงานเกิน 10 แห่ง
ความเคลื่อนไหวที่เห็นได้ชัดคือ GM และ Ford ที่ประกาศเลิกจ้างงานหลายพันตำแหน่ง ขณะเดียวกันก็ปิดหรือประกาศแผนการปิดโรงงานประมาณ 12 แห่งทั่วโลก ในจำนวนนี้ 4 แห่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา
Mary Barra CEO ของ GM เคยกล่าวเมื่อครั้งประกาศการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน 2018 ว่า บริษัทกำลังดำเนินการเชิงรุกเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพธุรกิจหลักของ GM เพื่อป้องกันการชะลอตัวของบริษัท และสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้น การประกาศทำให้ GM ลดจำนวนพนักงานลง 14,000 คนในช่วงปีที่แล้วถึงปีนี้ และปิดโรงงาน 7 แห่งทั่วโลก ซึ่ง 5 แห่งตั้งในอเมริกาเหนือ เวลานั้นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติดีทรอยต์คาดว่าโครงการนี้จะช่วยให้บริษัทลดต้นทุนได้สูงถึง 6 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
Ford เดินหน้ารัดเข็มขัดในทางเดียวกัน ซึ่ง Jim Hackett ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Ford ย้ำว่าเพื่อให้ธุรกิจยังคง “มีชีวิตชีวา” อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มเป็น CEO ให้ Ford ในปี 2560 หัวเรือใหญ่อย่าง Hackett ได้ใช้มาตรการประหยัดค่าใช้จ่ายทั่วโลก โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างมูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ที่จะขยายผลถึงช่วงต้นปี 2563
ในเดือนมิถุนายน Ford ประกาศว่าจะลดพนักงานรายชั่วโมงลง 12,000 งานในสายการผลิตที่ยุโรปภายในสิ้นปี 2563 การประกาศนี้เกิดขึ้นในช่วง 1 เดือนหลังจากที่ Ford ประกาศแผนลดพนักงานประจำประมาณ 7,000 ตำแหน่งทั่วโลก ซึ่ง 2,300 คนอยู่ในสหรัฐอเมริกา
ปีนี้ Ford กล่าวว่าจะปิดโรงงานผลิตเครื่องยนต์ในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา และเตรียมปิดตัวหรือขายโรงงาน 6 แห่งในยุโรป จากที่มี 24 แห่ง กลายเป็น Ford ที่ผู้บริหารมองว่าผอมกำลังดี และรักษาตัวในจุดยืนตำแหน่งที่ดีมาก
ยังไม่นับ Fiat Chrysler ที่เตรียมยุบรวมกับผู้ผลิตรถสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง PSA Group และ Daimler ต้นสังกัด Mercedes-Benz ที่วางแผนลดพนักงาน 10,000 รายทั่วโลกในช่วง 3 ปีนับจากนี้ ยังมีแบรนด์ลูกของ Volkswagen อย่าง Audi ที่เตรียมหั่นทิ้ง 9,500 ตำแหน่งงานหรือ 10.6% ของพนักงานรวมให้ได้ในปี 2025
มองที่ฝั่งญี่ปุ่น Nissan Motor ยังมีแผนปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี โดยประกาศเมื่อ ก.ค. 62 ที่ผ่านมาว่าจะเลิกจ้างพนักงานมากกว่า 12,500 รายทั่วโลกภายในมีนาคม 2023 การประกาศนี้ตามหลัง Honda Motor ที่มีแผนปิดโรงงานที่ประเทศอังกฤษ จนคาดว่าจะมีพนักงานถูกลอยแพ 3,500 ตำแหน่ง
ถ้าค่ายรถไม่หน้าเขียว ก็คงเป็นพนักงานที่จะหน้าเขียวแทน.