แม้ว่าตลาดไอทีของไทยจะเริ่มฟื้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสของเกมมิ่ง แต่ดูเหมือนว่าในปีนี้และปีต่อไปกระแสเกมจะไม่สามารถฉุดให้ตลาดเดินหน้าต่อได้ซะแล้ว โดยข้อมูลจาก GFK ข้อมูลตลาดไอทีปี 2562 ถึงเดือนกันยายน ระบุว่าตลาดติดลบทุก Segment โดยตลาด Notebook ติดลบ 7% มูลค่าติดลบ 8% ตลาด Desktop ติดลบ 19% มูลค่าติดลบ 22% ตลาด Printing ติดลบ 13% มูลค่าติดลบ 16% ส่วนตลาดมอนิเตอร์ติดลบ 7% ทั้งจำนวนและมูลค่า และตลาด storage ทรงตัวด้านจำนวน แต่มูลค่าติดลบ 12%
“ตลาดไอทีเมื่อ 1-2 ปีก่อนฟื้นเพราะกระแสเกมมิ่ง แต่ปัจจุบันตลาดอยู่ในจุดทรงตัว อีกทั้งราคาเฉลี่ยจากที่อยู่ราว 35,000-40,000 บาท แต่ปัจจุบันเหลือ 20,000 บาท ส่งผลให้มูลค่าตลาดลดลง นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจในไทยและทั่วโลกยังไม่ดี ดังนั้น คาดว่าตลาดไอทีปีหน้ายังคงติดลบ ส่วนจำนวนเครื่องอาจทรงตัว ผู้ขายรายย่อยอาจล้มหายไป” จักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ไอที อินฟินิท จำกัด กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทิศทางของผู้ผลิตสินค้าไอทีเริ่มมีการพูดถึงกลุ่ม ‘ครีเอเตอร์’ มากขึ้น เนื่องจากความนิยมของคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ รวมทั้งการเติบโตที่สูงขึ้นของเหล่า Caster และ Youtuber โดยคาดว่า Segment ดังกล่าวจะช่วยสร้างการเติบโตให้ตลาดในอนาคต ขณะที่ปัจจัยบวกในปัจจุบันนี้ยังไม่มี เพียงแต่อุปกรณ์ไอทียังเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นยังมีการซื้อต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มคนเจน Z ส่วนการลงทุนด้านไอทีในองค์กรยังคงเท่าเดิม
แม้ตลาดจะติดลบแทบทุกกลุ่ม แต่แอดไวซ์คาดว่าปีนี้เติบโตได้ 5% มีรายได้ 13,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้ 85% มาจากต่างจังหวัด 15% มาจากกรุงเทพฯ มีสัดส่วนยอดขายออนไลน์ 1,800 ล้านบาท เติบโต 30% ขณะที่สัดส่วนรายได้ทั้งหมดแบ่งเป็นคอนซูมเมอร์ 45% คอมเมอร์เชียล 55% โดยปีหน้าแอดไวซ์ตั้งเป้าเติบโต 10% และปรับสัดส่วนรายได้เป็น 50-50% และเพื่อสร้างการเติบโตให้ได้ตามเป้าในปีหน้า แอดไวซ์ได้แบ่งกลยุทธ์เป็น 3 ด้าน 1.ช่องทางหน้าร้าน 2.ช่องทางออนไลน์ และ 3.ลูกค้าองค์กร
ในส่วนของหน้าร้าน ปัจุจบันแอดไวซ์มีทั้งหมด 355 สาขา ครอบคลุมทั่วประเทศไทยและมีสาขาในประเทศลาว โดยปีหน้าจะเปิดเพิ่ม 14 สาขา เน้นพื้นที่ห้างในกรุงเทพฯ ส่วนสาขาในต่างจังหวัดจะปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมทั้งบริหารหน้าร้านให้กับแบรนด์ไอทีอื่น ๆ อาทิ msi, Asus เป็นต้น นอกจากนี้แอดไวซ์ได้จับมือกับ ‘เพาเวอร์บาย’ โดยจะทำคอนเนอร์สินค้าประเภท DIY ภายในเพาเวอร์บาย เบื้องต้นมีประมาณ 15 สาขา
“การที่เราได้เป็นพาร์ตเนอร์กับเพาเวอร์บายจะช่วยให้เราเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เป็นระดับกลาง-บน เพราะเพาเวอร์บายจะอยู่ในห้างใหญ่และอยู่ในเครือเซ็นทรัลเรที่มีรอยัลตี้โปรแกรมอย่าง The one card ที่มีผู้ใช้ราว 10 ล้านราย จะมีส่วนช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่าย”
ขณะที่ช่องทางออนไลน์ เป็นส่วนที่เติบโตมากที่สุด แม้ว่าจะขายเพียงบนเว็บไซต์ของตัวเองและ Shopee ดังนั้นในปีหน้าแอดไวซ์จะขยายพันธมิตรมาร์เก็ตเพลสรายอื่น ๆ อาทิ เพาเวอร์บาย, SCG, Kingpower เป็นต้น อีกทั้งจะทำแอปพลิเคชั่นของตัวเอง โดยตั้งเป้ายอดขายออนไลน์เติบโตเป็น 2,000 บาทในปีหน้า สุดท้ายในตลาดองค์กร แอดไวซ์ได้เพิ่มทีมโดยเฉพาะทั่วประเทศ รวมทั้งเตรียมทำเว็บไซต์แยกสำหรับลูกค้าองค์กร
ด้านแผนการทำมาร์เก็ตติ้งในปีหน้า แอดไวซ์ยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมด้านอีสปอร์ตในภาคการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ส่วนการตลาดออนไลน์จะเน้นผลิตรายการไอทีให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ อาทิ การประกอบคอมพิวเตอร์, การเป็นแคสเตอร์บนเพจ Facebook และเตรียมขยายไปยัง Youtube ในส่วนหน้าร้านก็ยังคงมีกิจกรรมหน้าร้านอยู่อย่างสม่ำเสมอในทุกเดือน โดยงบการตลาดทั้งหมดแอดไวซ์ใช้ประมาณ 7-8% ของยอดขาย
“เมื่อตลาดไม่โต การที่เราจะโตเราต้องกินมาร์เก็ตแชร์คนอื่น ดังนั้นการสร้างความแตกต่างปละประการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ อย่างออนไลน์เราเติบโตได้เยอะเพราะลูกค้าไว้วางใจเรา รู้ว่าเรามีหน้าร้าน เขาจึงกล้าซื้อสินค้าที่มีราคาสูง”
ปัจจุบันกลุ่มสินค้าของแอดไวซ์มีรวมกว่า 10,000 รายการ แบ่งเป็น ดีไอวายคอมโพเนนท์ 30% โน้ตบุ๊ก 24% เดสก์ท็อป 8-9% เครื่องพิมพ์ 17% ส่วนสมาร์ทโฟนประมาณ 3-4%
#AdviceIT #Gaming #Esport #Youtuber #creator #IT #Positioning