เรียกได้ว่าเป็นโครงการบ่มเพาะ Startup เบอร์ต้น ๆ ของไทย สำหรับ Dtac Accelerate เพราะตลอด 7 ปีที่ดำเนินงาน มีสตาร์ทอัพที่ได้รับการลงทุนไปทั้งสิ้น 62 ราย และ 70% ของสามารถระดมทุนในซีรีส์ต่อไปได้ รวมเม็ดเงินระดมทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติกว่า 1,200 ล้านบาท บริษัททั้งหมดมีมูลค่ารวมกันกว่า 7,000 ล้านบาทแม้ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จ แต่ Dtac กลับเตรียม ขาย โครงการดังกล่าว โดยยังไม่เปิดเผยสาเหตุที่แน่ชัด
“เพื่อให้การดำเนินธุรกิจและการสนับสนุนสตาร์ทอัปพให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้นไปในอนาคต ดีแทคจึงได้มองหาพันธมิตรที่จะช่วยขับเคลื่อน และยกระดับการช่วยเหลือสตาร์ทอัพให้ก้าวต่อไปได้ โดยกระบวนการสรรหาพันธมิตรกำลังดำเนินการ ต้องใช้ระยะเวลา และความพยายามที่จะหาโซลูชั่นที่ดีที่สุด ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในต้นปี 2020” ธีโบ จีราร์ หัวหน้าสายงานกลยุทธ์และนวัตกรรม บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าว
แม้จะยังไม่ได้มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่มีข่าวลือว่า ‘Innospace (Thailand)’ บริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนสำหรับลงทุนใน Startup อาจจะเป็นบริษัทที่มา สานต่อ โครงการ ขณะที่แหล่งข่าววงในสันนิษฐานว่า ที่ดีแทคขาย Dtac Accelerate เพราะมองว่าไม่ทำกำไร
สำหรับ Dtac Accelerate เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2013 โดยมี ‘กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล’ เป็นผู้ริเริ่ม หลังจากมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมไอที ส่วน Innospace (Thailand) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนรวม 13 บริษัท ได้แก่ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัทในเครือสหพัฒน์, บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพ เบื้องต้นมีเงินลงทุนกว่า 500 ล้านบาท โดยจะลงทุนตั้งแต่ Pre-Seed หรือ Seed
#Dtac #DtacAccelerate #Startup #Positioning