ปี 2019 ที่ผ่านพ้นไปมีหลากหลายเหตุการณ์ที่เป็นกระแสข่าวดังในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนหนัก ปัญหาเบร็กซิต การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง รวมไปถึงกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทำให้การเมืองอเมริกันในช่วง 1 ปีก่อนศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ กลายเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
• จีนส่งยาน ‘ฉางเอ๋อ-4’ ไปลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. จีนกลายเป็นชาติแรกในโลกที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศไปลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์ โดยภารกิจของยาน ฉางเอ๋อ-4 ประกอบด้วยการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์, สำรวจภูมิประเทศ, ลักษณะผิวดินและองค์ประกอบแร่ของดวงจันทร์ รวมถึงวัดการแผ่รังสีจากนิวตรอนและอะตอมที่เป็นกลาง เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมด้านมืดของดวงจันทร์
• สหรัฐฯ เล่นงาน ‘หัวเว่ย’
สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ทวีความร้อนระอุยิ่งกว่าเก่าเมื่อรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้มาตรการแบน ‘หัวเว่ย’ บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่แดนมังกร หวังตัดวงจรธุรกิจและยับยั้งการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้แจ้ง 23 ข้อหาต่อหัวเว่ยและบริษัทในเครือ รวมถึง เมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินหัวเว่ยซึ่งถูกจับอยู่ในแคนาดา โดยมีทั้งข้อหาขโมยเทคโนโลยี, ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และฉ้อโกงธนาคาร
หน่วยข่าวกรองอเมริกันกล่าวหา หัวเว่ย ว่าได้รับการสนับสนุนจากกองทัพจีน และอ้างความเป็นไปได้ที่อุปกรณ์ของบริษัทนี้อาจกลายเป็นเครื่องมือสอดแนมของปักกิ่ง ขณะที่ปฏิบัติการเล่นงานหัวเว่ยครั้งนี้พลอยทำให้ซัพพลายเออร์ในอเมริกาได้รับผลกระทบ และยังเป็นแรงขับให้จีนลุกขึ้นมาสร้างนวัตกรรมไฮเทคเพื่อปลดแอกตัวเองจากซิลิคอนแวลลีย์
• ความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถาน
กลุ่มติดอาวุธ จาอิช-อี-โมฮัมเหม็ด (JeM) ในปากีสถานก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในพื้นที่ควบคุมของอินเดียในแคชเมียร์เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ซึ่งคร่าชีวิตทหารพรานอินเดียไปอย่างน้อย 40 นาย รัฐบาลเดลีโทษปากีสถานว่าเป็นต้นเหตุและแก้แค้นด้วยการส่งเครื่องบินเข้าไปทิ้งบอมบ์ค่ายฝึกของกลุ่ม JeM ในปากีสถานเมื่อวันที่ 26 ก.พ. นำมาสู่ปฏิบัติการตอบโต้จากอิสลามาบัดจนหวิดเกิดเป็นสงครามเต็มรูปแบบ ทว่าโชคดีที่สถานการณ์คลี่คลายลงได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดได้ปะทุขึ้นอีกระลอกเมื่อนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ประกาศเพิกถอนสิทธิ์ในการปกครองตนเองของ ‘แคชเมียร์’ และนำดินแดนแถบหิมาลัยที่เต็มไปด้วยชาวมุสลิมเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง การกระทำของเดลีคราวนี้เสียงประณามจากจีนและปากีสถานซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองดินแดนแคชเมียร์เช่นกัน
• วิกฤต ‘โบอิ้ง 737 แม็กซ์’
โศกนาฏกรรมเครื่องบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์สตกเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ซึ่งเกิดขึ้นเพียง 5 เดือนตามหลังอุบัติเหตุไลอ้อนแอร์อินโดนีเซียดิ่งทะเลชวา ส่งผลให้เครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8 ถูกสั่งระงับการบินทั่วโลก ขณะที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ได้เปิดการสอบสวนและบังคับให้ค่ายอากาศยานแห่งนี้ปรับปรุงระบบควบคุมการบิน ผลกระทบจากคำสั่งระงับบินที่ส่อแววยืดเยื้อไปถึงปี 2020 สร้างความเสียหายแก่โบอิ้งแล้วไม่ต่ำกว่า 9,200 ล้านดอลลาร์
• เปิดภาพถ่าย ‘หลุมดำ’ ครั้งแรก
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. หอดูดาวซีกฟ้าใต้ยุโรป (European Southern Observatory) ได้เผยภาพแรกของหลุมดำ (black hole) ซึ่งเผยให้เห็นแสงรัศมีอันเจิดจ้ารอบๆ ใจกลางที่ดำมืด นับเป็นภาพแรกที่พิสูจน์ได้ถึงการมีตัวตนของหลุมดำ โดยภาพที่เผยแพร่ออกมานี้เป็นภาพหลุมดำมวลยิ่งยวดที่อยู่ในกาแล็กซี M87 ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 6,500 ล้านเท่า
• ไฟไหม้มหาวิหาร ‘น็อทร์-ดาม’
อาสนวิหาร น็อทร์-ดาม เดอ ปารีส (Notre-Dame de Paris) โบสถ์คาทอลิกเก่าแก่ที่เป็นสัญลักษณ์คู่เมืองหลวงฝรั่งเศสมานานกว่า 850 ปี ถูกทำลายลงในเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 15 เม.ย. สร้างความตกตะลึงต่อชาวเมืองน้ำหอมและผู้คนทั่วโลก เช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์ที่ต่างเศร้าเสียดายกับการสูญเสียสมบัติทางวัฒนธรรมชิ้นเอก ขณะที่ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศสลั่นจะฟื้นฟูมหาวิหารแห่งนี้ให้กลับมางดงามดังเดิมภายในระยะเวลา 5 ปี
• จักรพรรดินารูฮิโตะขึ้นครองราชย์
เจ้าฟ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ที่ 126 ในเช้าของวันพุธที่ 1 พ.ค. หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระราชบิดา ได้ทรงสละราชสมบัติในวันอังคารที่ 30 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของรัชสมัยเฮเซที่ยาวนาน 30 ปี และยังเป็นครั้งแรกในรอบ 200 ปีที่จักรพรรดิญี่ปุ่นสละบัลลังก์ในขณะที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่
ญี่ปุ่นได้ประกาศชื่อรัชสมัยใหม่ว่า “เรวะ” ซึ่งมีความหมายว่า “ความสอดผสานอันปีติ”
• การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง
ชาวฮ่องนับล้านคนออกมาชุมนุมต่อต้านการเสนอร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีในจีนเมื่อเดือน มิ.ย. ซึ่งแม้ว่าต่อมานาง แคร์รี ลัม ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงจะยอมถอนร่างกฎหมายดังกล่าว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อต้านความพยายามลิดรอนอำนาจปกครองตนเองโดยจีน การประท้วงที่ยืดเยื้อมานานถึง 7 เดือนส่งผลให้เศรษฐกิจฮ่องกงช่วงไตรมาส 3 ปีนี้เข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
• อังกฤษเลื่อน ‘เบร็กซิต’
อังกฤษพลาดเส้นตายในการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ในขณะที่ความสับสนอลหม่านทางการเมืองทำให้นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ตัดสินใจสละตำแหน่งในวันที่ 7 มิ.ย. เปิดทางให้ บอริส จอห์นสัน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่
ล่าสุด รัฐบาลจอห์นสันได้ขอเลื่อนเบร็กซิตออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 31 ม.ค. ปี 2020 ซึ่งชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคคอนเซอร์เวทีฟในศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมาคาดว่าจะทำให้ จอห์นสัน สามารถทำตามสัญญา “Get Brexit Done” ได้สำเร็จ
• กระบวนการถอดถอน ‘ทรัมป์’
สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นเปิดการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ก.ย. โดยอาศัยมูลเหตุที่ ทรัมป์ ไปกดดันผู้นำยูเครนให้ตรวจสอบ โจ ไบเดน ผู้สมัครประธานาธิบดีตัวเก็งของพรรคเดโมแครต ซึ่งเข้าข่ายใช้อำนาจมิชอบและแทรกแซงศึกเลือกตั้ง
ต่อมาสภาผู้แทนฯ ได้มีมติถอดถอน ทรัมป์ อย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ธ.ค. ซึ่งทำให้คดีนี้ต้องถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการไต่สวนในช่วงเดือน ม.ค. ว่า ทรัมป์ นั้นมีความผิดจริงและสมควรถูกถอดออกจากเก้าอี้ประธานาธิบดีหรือไม่ แต่เนื่องจาก ส.ว.รีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาจึงมีโอกาสน้อยมากที่ ทรัมป์ จะพ่ายแพ้ในขั้นตอนนี้.