‘การตลาดโลกสวย’ ไม่ใช่แค่ช่วยโลก แต่ยังเพิ่มโอกาสขายกว่า 70%

เทรนด์การตลาดโลกสวยเริ่มแพร่หลายมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ขณะที่ปี 2563 เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมกลับมาเป็นที่สนใจเพิ่มขึ้น จากนโยบายงดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ ดังนั้น วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) จึงได้ทำงานวิจัการตลาดโลกสวย Voice of Green: เพื่อโลก เพื่อเรา จากกลุ่มผู้บริโภค จำนวน 1,252 คน เพื่อเจาะลึกแนวโน้มการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และบริการที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สายกรีน 4 ประเภทที่ต้องรู้

ผลวิจัยดังกล่าวสามารถแบ่งผู้บริโภคได้ 4 ประเภท ได้แก่ 1.สายกรีนตัวแม่ 37.6% ตั้งใจทำทุกอย่าง และยินดีจ่ายแพงขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม 2.สายกรีนตามกระแส 20.8% ทำตามกระแสใช้สินค้าอีโค่ แต่ยังขาดทัศนคติด้านความต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อม 3.สายสะดวกกรีน 15.7% มีความเข้าใจในการปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ยังเคยชินกับการบริโภคแบบเดิม ๆ 4.สายโนกรีน 26.0% ยังไม่พร้อมใช้จ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อม และยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ขณะที่ Gen Baby boomer (อายุ 55-73 ปี) มีแนวโน้มเป็นสายกรีนตัวแม่สูงสุด ตามด้วย Gen X (อายุ 39-54 ปี) Gen Y (อายุ 23-38 ปี) และ Gen Z (อายุต่ำกว่า 23 ปี) ตามลำดับ

“สายกรีนตัวแม่ สายกรีนตามกระแส สายสะดวกกรีน รวมกันมีสัดส่วนถึง 74% ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีแนวโน้มการบริโภคสินค้ารักษ์โลก ขณะที่ 37.6% ที่เป็นกรีนตัวเเม่ยอมจ่าย ดังนั้นนี่เป็นโอกาสของนักการตลาดที่จะสร้างสรรค์สินค้า บริการ และแคมเปญ เพื่อเข้าถึงความต้องการดังกล่าว” พิมพ์ลดา ธารินทร์ภิรมย์ Project Leader งานวิจัย Voice of Green เพื่อโลก เพื่อเรา กล่าว

โอกาสสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยของกรีน

องค์กรที่ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงใจ โดยธุรกิจที่มีสินค้าและบริการต่อไปนี้ มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นในปี 2563 ได้แก่ 1.สินค้าที่ใช้วัตถุดิบย่อยสลายง่ายและกลับมาใช้ซ้ำ 2.สินค้าหรือบริการที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น ธุรกิจศูนย์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น 3.สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ไบโอ และธุรกิจอาหารที่เปลี่ยนพืชให้มีรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ เป็นต้น และ 4.สินค้าอีโค่มีดีไซน์

4 กลยุทธ์เปลี่ยนสายโนกรีน ให้เริ่มกรีน

ตอนนี้หลายแบรนด์ออกแคมเปญออกมาเพื่อสร้างสรรค์สังคม เช่น เปลี่ยนมาใช้วัสดุที่ย่อยสลายง่าย งดแจกถุงพลาสติก แต่ผู้บริโภค 79% ยังมองว่าองค์กรทำเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ส่วนใหญ่ทำตามกระแส 18% มองว่าทำเพื่อเพิ่มกำไรและลดต้นทุน อย่างการไม่แจกถุง แต่ขายถุงผ้าแทน และ 3% มองว่าทำตามนโยบายภาครัฐ ดังนั้นองค์กรต้องขับเคลื่อนอย่าง จริงใจ ด้วยกลยุทธ์ “เอ็นไว” (ENVI Strategy)

E : Early ปลูกฝังจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ N : Now or Never แก้ไขทันที และให้ความสำคัญกับการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ V : Viral ต้องตีให้เป็นกระแส โดยใช้โซเชียลมีเดีย สุดท้าย I : Innovative ใช้นวัตกรรมในการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้วัตถุดิบสำหรับอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติอนุรักษ์มากขึ้น การใช้ระบบดิจิทัลในการผลิต เป็นต้น

“ผลสำรวจพบว่า 61% ของผู้บริโภคมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลง 10% เริ่มมีพฤติกรรมแต่ยังติดบางอย่าง 16% ยอมจ่ายเงินที่สูงขึ้น และ 13% ทำจนเป็นนิสัย ดังนั้นผู้บริโภคพร้อมเเล้ว เหลือเเค่แบรนด์ที่ต้องกระตุ้น”

ลูกค้าไม่ใช่พระเจ้า แต่เป็นโลกใบนี้

สิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องฉุกเฉิน ดังนั้นสถานการณ์จึงเปลี่ยนจากแค่สนใจ กลายมาเป็นส่วนประกอบที่ต้องการซื้อ ส่งผลให้ความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการ ดังนั้นองค์กรต้องพัฒนาจริง ๆ ไม่ใช่แค่ทำเพื่อสร้างภาพ แต่ความท้าทายคือ mindset ที่คิดเรื่อง ‘กำไร ขาดทุน’ แต่มองหาโอกาสจากการสร้างธุรกิจจากสิ่งที่ไม่มีคุณค่า ให้เกิดธุรกิจใหม่ที่ Profit People และ Planet ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชัน จำกัด

“ตอนนี้ลูกค้าไม่ใช่พระเจ้าอีกต่อไป แต่คือ โลกที่เราอาศัย เพราะเรามีโลกแค่ใบเดียว ดังนั้นถ้าแก้ปัญหากับธุกิจและสิ่งแวดล้อมได้จะเกิดธุรกิจใหม่ ก้าวข้าม CSR เป็น CSV หรือ Creating Shared Value” ปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชัน จำกัด 

นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสารและความยั่งยืน บริษัท โคคา โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด

ใช้ Customer Insight ดีไซน์กลยุทธ์

นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสารและความยั่งยืน บริษัท โคคา โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จะเปลี่ยนพฤติกรรมต้องมีคัสตอมเมอร์อินไซต์ ต้องมีรีเสิร์ช เพื่อจะได้รู้พฤติกรรมว่าจะใช้กลยุทธ์อะไรในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้หันมารักษ์โลก อย่างประเด็นเรื่องการแยกขยะ กลับเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับการใช้ชีวิต ก็ต้องหาวิธีที่ทำให้มันง่ายขึ้น

“ความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญของธุรกิจ ถ้าธุรกิจถูกมองว่าเป็นภาระต่อสังคม คงไม่มีใครอยากเห็นธุรกิจโค้กเติบโต ดังนั้นจำเป็นต้องทำเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ประเทศไทยดีตรงที่มีโรงรีไซเคิลเยอะ แต่ปัญหาตอนนี้คนไม่ค่อยชอบแยกขยะ”

วีนัส อัศวสิทธิถาวะ ผู้อำนวยการ Enterprise Management Office บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย

วีนัส อัศวสิทธิถาวะ ผู้อำนวยการ Enterprise Management Office บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็กระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น เพราะต้องใช้ทรัพยากร เราต้องอยู่ด้วยกันในสังคมที่ยั่งยืน ต้องคิดเรื่องการผลิตสินค้า เพื่อยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์ อย่างพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย ถ้านำไปรีไซเคิลใช้ประโยชน์ได้ ใน 2 ปีที่ผ่านมา SCG จึงเน้นทำเรื่องการนำของกลับมาใช้ใหม่

“ตอนนี้โลกร้อนขึ้น 1.5-2 องศา ถ้าเราไม่ทำคนยุคต่อไปจะไม่มีทรัพยากรเพียงพอ อย่างถุงปูนที่พิมพ์พลาด ปกติต้องทิ้ง เราเลยเอาไปรีไซเคิล การหมุนเวียนทรัพยากร ตอนนี้เราสามารถ ขายถุงปูนที่ไม่มีปูน ได้แพงกว่าถุงปูนที่มีปูน

#Green #Marketing #Positioning