GDP “กว่างโจว-เซินเจิ้น” แซงหน้าฮ่องกงแล้วเรียบร้อย

กว่างโจวกับเซินเจิ้น เมืองใหญ่ทั้ง 2 ของมณฑลกวางตุ้งบนแผ่นดินใหญ่จีน แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการยืดหยุ่น แม้ต้องเผชิญทั้งสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และผลกระทบต่อเนื่องจากการประท้วงในฮ่องกง โดยที่เซินเจิ้นซึ่งแซงฮ่องกงไปเมื่อปี 2018 น่าจะอยู่ในฐานะนำต่อไปอีกในปี 2019 ขณะกว่างโจวที่ถูกเซินเจิ้นเบียดขึ้นหน้าในปี 2018 อาจจะสามารถแซงกลับคืน

กว่างโจว (กวางเจา) กับ เซินเจิ้น ทำท่าจะสามารถรักษาฐานะนำหน้าเหนือฮ่องกงให้มั่นคงยิ่งขึ้นอีก ในการสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจประจำปี เมื่อวัดจากรอบปี 2019 ที่ผ่านมา โดยที่ไดนาโมทางเศรษฐกิจทั้ง 2 แห่งนี้ต่างยังคงเดินเครื่องรุดหน้า ขณะที่กระแสการประท้วงรัฐบาล สร้างความเสียหายหนักหน่วงให้แก่เขตบริหารพิเศษของจีนที่เป็นอดีตอาณานิคมของอังกฤษ

เซินเจิ้น

นครใหญ่ทั้ง 2 แห่งในมณฑลกวางตุ้งซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากฮ่องกง กำลังอยู่ในกระบวนการที่จะเปิดเผยข้อมูลสถิติเบื้องต้นสำหรับปี 2019 พวกผู้ปฏิบัติงานที่นั่นกำลังแสดงสัญญาณของความโล่งอกในเมื่อเศรษฐกิจแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการยืดหยุ่น แม้ต้องเผชิญปัญหาจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ตลอดจนผลกระทบต่อเนื่องจากความปั่นป่วนวุ่นวายทางสังคมของฮ่องกง

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (จีดีพี) ของเซินเจิ้น เติบโตขยายตัวด้วยอัตรา 7% จนมีมูลค่าเท่ากับ 2.6 ล้านล้านหยวน (374,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อปี 2018 อยู่ในอันดับตามหลังเซี่ยงไฮ้กับปักกิ่งเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับพวกนครใหญ่ของจีนด้วยกัน เวลานี้เซินเจิ้นคือเมืองที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในพื้นที่ “เกรตเทอร์ เบย์ แอเรีย” (Greater Bay Area) ซึ่งเป็นเขตอภิมหานครทางภูมิเศรษฐกิจ (geo-economic megapolis) ที่ครอบคลุมรวมเอาทั้งฮ่องกง, มาเก๊า, และอีก 9 เมืองใหญ่ในกวางตุ้งเข้าไว้ด้วยกัน

นายกเทศมนตรี เฉิน หรูกุ้ย (Chen Rugui) ของเซินเจิ้น ระบุในรายงานฉบับหนึ่งที่เสนอต่อสมัชชาประชาชนของเทศบาลนครว่า เศรษฐกิจของเซินเจิ้นซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยการส่งออกอย่างมากมายนั้น ได้ฟื้นคืนจากแรงกดดันขาลงได้เป็นจำนวนมากแล้ว และเริ่มที่จะเร่งตัวเติบโตใหม่ หลังจากทำอัตราเติบโตขยายตัวได้ในระดับ 6.6% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2019

ก่อนหน้านี้พวกเจ้าหน้าที่ของเซินเจิ้นมีความวิตกกังวลว่า การที่หัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในนครแห่งนี้ ถูกสหรัฐฯใช้ “ม่านเหล็ก” มาพยายามสกัดขัดขวางไม่ให้ขายผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี 5 จีทั้งในอเมริกาและชาติพันธมิตรอื่นๆ ทั่วโลกของอเมริกา, บวกกับยอดส่งออกโดยรวมซึ่งอยู่ในอาการสะดุดติดขัด, รวมทั้งการถอยจากไปของพวกโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต, ตลอดจนการติดเชื้อโรคทางเศรษฐกิจซึ่งลุกลามจากการประท้วงของฮ่องกง อาจกลายเป็นแรงตีกระหน่ำหนักหน่วงถึงขั้นทำให้เป็นอัมพาต แต่ปรากฏว่าเศรษฐกิจของนครแห่งนี้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 ดูเหมือนทำได้ดีกว่าที่คาดหมายกันไว้ ทั้งนี้เซินเจิ้นเพิ่งได้รับการ “เจิม” จากปักกิ่งในปีที่แล้ว ในแผนแม่บทขนาดใหญ่ที่จะสร้างให้เมืองนี้กลายเป็นนครแห่งโลกซึ่งสามารถอวดโอ่คุณสมบัติดีงามต่างๆ ของระบบสังคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศจีน

ขณะที่เซินเจิ้นกำลังทำท่าได้รับพลังพรักพร้อมเพื่อตะลุยบุกหน้าต่อไป เศรษฐกิจของฮ่องกงซึ่งเพิ่งถูกเมืองเพื่อนบ้านติดกันแห่งนี้แซงหน้าไปได้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันอันดุเดือดเรื่องผลผลิตจีดีพีในปี 2018 กลับกำลังแผ่วลงมาอีกจนถึงขนาดเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยพวกเจ้าหน้าที่เตือนด้วยความกังวล จากการที่ 3 ไตรมาสแรกปีที่แล้วอัตราเติบโตหดตัวลงมาอยู่ในระดับ 2.9% นครแห่งนี้ซึ่งการส่งออกและการส่งสินค้าต่อ อยู่ในภาวะซึมเซา สืบเนื่องจากการสู้รบกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอยู่แล้วนั้น ได้รับความเสียหายหนักยิ่งขึ้นอีกนับแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้วเป็นต้นมา เมื่อการประท้วงขนาดมหึมาและการอาละวาดทุบทำลายข้าวของร้านรวงและสถานที่ต่างๆ อย่างกว้างขวางครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ธุรกิจอยู่ในอาการชะงักงัน

มาถึงตอนนี้ทุกๆ สายตากำลังจับจ้องเฝ้าดูรายงานผลงานทางเศรษฐกิจของนครกว่างโจวในรอบปี 2019 หลังจากอัตราเติบโตของจีพีดีในเมืองหลวงของมณฑลกวางตุ้งแห่งนี้สามารถแซงหน้าเซินเจิ้นได้แล้วในช่วง 3 ไตรมาสแรก ทำให้พวกผู้สังเกตการณ์พากันพิศวงว่า หรือกว่างโจวซึ่งมีประชากรราว 15 ล้านคนกำลังจะช่วงชิงเอาตำแหน่งนครที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคแถบนี้กลับคืนไปได้สำเร็จ ภายหลังสูญเสียให้แก่เซินเจิ้นในปี 2018 ขณะที่มีบางรายคาดหมายว่าการแข่งขันจะมีผลออกมาว่าเสมอกัน โดยที่พวกเขาทำนายตัวเลขจีดีพีตลอดทั้งปีที่แล้วของกว่างโจวว่าอยู่ในราวๆ 2.7 ล้านล้านหยวน

กว่างโจวกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างกันอย่างสนุกสาน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างการเพิ่มเส้นทางสายรถไฟฟ้าใต้ดิน, การขยายท่าอากาศยานของนคร, ตลอดจนการขยายท่าเรือสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ และทั้งการทุบทิ้งกลุ่มตึกอาคารที่พักอาศัยจำนวนหนึ่งเพื่อเปิดพื้นที่ว่างให้แก่ย่านธุรกิจใหม่ๆ โดยที่ เทนเซนต์ (Tencent) ให้คำมั่นสัญญาที่จะรักษาฐานปฏิบัติการแอปป์ “วีแชต” (WeChat) เครือข่ายสื่อสังคมซึ่งแพร่หลายกว้างขวางของตนเอาไว้ในนครแห่งนี้ต่อไป และ อาลีบาบา (Alibaba) ก็มีแผนการสร้างสำนักงานใหญ่ประจำภาคใต้ของจีนแห่งใหม่ขึ้นที่นี่ นครแห่งนี้ยังเป็นบ้านของ ไชน่าเซาเทิร์น (China Southern) สายการบินใหญ่ที่สุดในเอเชียเมื่อวัดกันด้วยขนาดของฝูงเครื่องบิน ตลอดจนเป็นที่ตั้งของโรงงานใหญ่ที่สุดในจีนของโตโยต้า และฮอนด้า

พวกบัณฑิตสำเร็จจากมหาวิทยาลัยและกิจการสตาร์ทอัป ยังต่างกำลังพบว่า กว่างโจวเสนอที่พักอาศัยราคาถูกกว่าและพื้นที่ใหญ่โตกว่าซึ่งทำให้ความสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตดีขึ้นมาก, รวมทั้งด้านการศึกษา, และการดูแลรักษาสุขภาพ ก็เปรียบเทียบได้กับพวกนครระดับชั้นที่ 1 แห่งอื่นๆ ของจีน

พวกผู้รับผิดชอบระดับมณฑลของกวางตุ้ง ต่างปักธงวาดหวังอย่างสูงว่า กว่างโจวกับเซินเจิ้นจะสามารถก่อรูปการประสานกำลังกัน เพื่อกระตุ้นการเติบโตให้เพิ่มสูงขึ้นอีก ด้วยนโยบายต่างๆ จำนวนหนึ่งซึ่งจะบูรณาการศูนย์กลางชุมชนเมืองใหญ่ทั้งสองแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ห่างกันเพียงแค่ 130 กิโลเมตร ให้เข้าอยู่ใน “เครื่องหมุนเหวี่ยงหลอมรวมทางเศรษฐกิจ” (economic centrifuge) ในด้านธุรกิจและการลงทุน เพื่อให้บริการแก่พื้นที่อื่นๆ ของเขตเกรตเทอร์เบย์แอเรีย ในเวลาที่ฐานะความสำคัญเหนือใครเพื่อนในภูมิภาคแถบนี้ของฮ่องกง อยู่ในอาการเสื่อมถอยลดน้อยลงเรื่อยๆ.

Source