ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุค 4.0 ที่ความฉลาดของเทคโนโลยี จะทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สื่อสารและทำงานกันเองได้อย่างอัตโนมัติ เทคโนโลยีถูกนำมาพัฒนาต่อยอด เพื่อลดเวลาและปริมาณงานของมนุษย์ และเพิ่มศักยภาพให้มนุษย์สามารถใช้เวลากับความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างนวัตกรรม อำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตของเรามากขึ้น อย่างไรก็ตามโลกดิจิทัลที่ก้าวไปอย่างรวดเร็วและเคลื่อนที่ไม่หยุดได้ส่งผลให้เกิด Disruptive Technology ที่กระทบกับธุรกิจซึ่งใช้เทคโนโลยีแบบเดิมๆ ต้องล้มหายตายจากกันไป
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. ที่ให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยในการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้ริเริ่มโครงการ GPSC Young Social Innovator 2018 (GPSC YSI 2018) ขึ้นเป็นปีแรก โดยเปิดโอกาสให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา (ปวช.) หรือเทียบเท่า ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราดและฉะเชิงเทรา นำเสนอแนวคิดโครงงาน ผลิตภัณฑ์ หรือวิธีการ รวมถึงกระบวนการที่มุ่งแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
การตัดสินโครงการข้างต้น ได้คัดเลือกเหลือ 2 ทีมสุดท้าย ที่นำผลงานนวัตกรรมไปทดลองใช้จริงในชุมชน เพื่อให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการใช้งาน โดยผลงาน Smart Biogas จากทีมเยาวชนโรงเรียนวิทยาศาตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ชลบุรี ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากผลงานพัฒนาอุปกรณ์ติดตั้งระบบกรองก๊าซชีวภาพที่ผลิตจากฟาร์มสุกร โดยมีแนวคิดในการลดกลิ่นและความชื้นของก๊าซชีวภาพ ด้วยการใช้สนิมเหล็กเป็นตัวดูดซับ ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เป็นผลงาน The Food Waste Separating Machine ที่เป็นการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อแยกกากเศษอาหาร นำไปผลิตเป็นสารปรับปรุงดิน จากทีมเยาวชนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง
จากผลงานดังกล่าว ได้นำไปสู่การต่อยอดร่วมกับทีมที่ปรึกษาและคณะทำงาน GPSC เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ และสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ ให้สามารถใช้ได้อย่างสมบรูณ์มากยิ่งขึ้น จนทำให้ทั้งสองโครงการดังกล่าว สามารถเข้าแข่งขันในเวทีประกวดนานาชาติ Seoul International Invention Fair 2019 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งผลงาน Smart Biogas สามารถคว้ารางวัล ระดับเหรียญเงิน (Silver prize) ขณะที่ผลงาน The Food Waste Separating Machine คว้ารางวัล Special Prize นับเป็นความภาคภูมิใจมาสู่คนไทยทั้งประเทศ
นายสุภกร กอกน้อย หรือน้องมิดฟิว นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 ตัวแทนทีมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ชลบุรี ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดการทำอุปกรณ์ Smart Biogas ว่า มาจากประสบการณ์จริงที่ได้เห็นปัญหาของการนำก๊าซที่ได้จากบ่อหมักมูลสุกร มาใช้เป็นเชื้อเพลิงปรุงอาหารกลางวันของโรงเรียนน้องๆ ชั้นประถม ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโรงเรียนของตนเอง โดยพบว่าก๊าซที่ใช้ยังส่งกลิ่นปฎิกูลออกมาในอากาศขณะปรุงอาหาร ทำให้เขามองหาวิธีการลดกลิ่น ซึ่งพบว่ากลิ่นที่เกิดขึ้น เกิดจากก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือเรียกว่าก๊าซไข่เน่า มีกลิ่นเหม็น แต่สามารถจัดการปัญหาได้ด้วยปฏิกิริยาเคมีอย่างง่าย โดยใช้ของใกล้ตัวอย่างสนิมเหล็ก เป็นตัวดูดซับกลิ่นและความชื้น ทำให้ก๊าซมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ลดกลิ่นจากก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่หายไปประมาณ 40% ส่งผลให้ก๊าซมีค่าความร้อนสูงขึ้นถึง 20% และยังเป็นส่วนสำคัญของการประหยัดการใช้เชื้อเพลิงได้อีกด้วย
ขณะที่นายธนกฤต ยูงสมพร หรือน้องแบงค์ ตัวแทนของทีมโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง กล่าวถึงที่มาของผลงาน The Food Waste Separating Machine ว่า ทีมได้ออกแบบอุปกรณ์เครื่องแยกเศษอาหาร เพื่อแก้ปัญหาเศษอาหารเหลือภายในโรงเรียน โดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนเศษอาหารให้กลายเป็นดินภายใน 1 วัน เพื่อลดปัญหาการเหลือทิ้งของเศษอาหารและนำไปสู่กลิ่นไม่พึงประสงค์ และแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค โดยดินที่ได้จากกระบวนการสามารถนำไปใช้เพาะปลูกพืชได้ เป็นการเปลี่ยนจากของเหลือทิ้งที่ไม่มีมูลค่า ให้กลายเป็นของที่มีประโยชน์ต่อไป
“เศษอาหารเกิดขึ้นตลอดเวลา และเป็นปัญหาของทุกประเทศ ในการต้องหาวิธีการกำจัด ซึ่งวิธีดังกล่าว เป็นการสร้างระบบคืนสู่ธรรมชาติ และไม่สร้างมลพิษ โดยเครื่องดังกล่าว ได้รับการจดอนุสิทธิบัตร เป็นที่เรียบร้อย” นายธนกฤตกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
สำหรับธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภค นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนานวัตกรรม ดังนั้น ในเวที GPSC Young Social Innovator ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างการตระหนักรู้ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี แต่ยังจุดประกายทางความคิดที่จะสร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ที่ GPSC จะนำไปต่อยอดการแก้ไขปัญหาให้กับสังคม สร้างโอกาสในการมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อไป
โดยเบื้องต้นผลงาน “Smart Biogas” ได้พัฒนาการใช้งานเพื่อให้สามารถลดกลิ่นและกำหนดตัวชี้วัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อปรับใช้กับชุมชนรอบสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่งตั้งในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ขณะที่ผลงาน “The Food Waste Composting Machine” พัฒนารูปแบบอุปกรณ์เพื่อให้เกิดความสะดวกและประสิทธิภาพต่อผู้ใช้งานให้เหมาะกับการนำไปติดตั้งภายในโรงเรียน วัด ชุมชน ฯลฯ ในพื้นที่ที่ดำเนินธุรกิจของ GPSC
โดยแนวทางดังกล่าวสอดรับกับนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) ที่พร้อมนำแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างแท้จริง ในรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises) ที่มุ่งในการสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาธุรกิจของ GPSC
“การจัดโครงการดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้กับเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบโครงงานและใช้องค์ความรู้ในด้านต่างๆ มาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ หรือวิธีการ กระบวนการที่มุ่งแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน สามารถนำไปสู่การพัฒนาต้นแบบ และมีโอกาสนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหาได้จริง รวมถึงสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ท้องตลาดในเชิงพาณิชย์ เพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises)” นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารสินทรัพย์ GPSC กล่าวถึงความตั้งใจของการดำเนินโครงการ
เวที GPSC Young Social Innovator ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี ถือเป็นอีกเวทีหนึ่งในการสร้างฝันของเยาวชน เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่ไม่เพียงหยุดนิ่งแค่ระดับประเทศ แต่ยังก้าวไกลไปสู่เวทีนวัตกรรมนานาชาติ เพื่อสร้างโอกาสให้กับสังคมไทยได้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นของคนไทยที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจฐานรากทำให้ไทยก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลแบบยั่งยืนได้อย่างแท้จริง