คลิกเดียวจุดติด “ม็อบเฟซบุ๊ก”

“เฟซบุ๊ก” กลายเป็นสื่อที่สร้าง “คนเสื้อหลากสี” นับแสนคนได้เพียงคลิกเดียว นี่คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงพลังความแข็งแกร่งของ “โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค” ที่สำเร็จได้จากการเลือกเพื่อนคอเดียวกัน โพสต์รูป คอมเมนต์ และหาชื่อกลุ่ม และในทางกลับกันได้ตอกย้ำถึงความอ่อนแอของสื่อเก่าอย่างทีวีและวิทยุอีกครั้งท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง

ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 หรืออาจก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดทรัพย์ ”ทักษิณ ชินวัตร” มูลค่า 46,373 ล้านบาท วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ผู้ที่สนใจข่าวสารการเมือง คงมีความรู้สึกเดียวกันว่า ”ข่าว” จากฟรีทีวี ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3, 5, 7, 9, 11 หรือแม้แต่ ไทยพีบีเอส และทีเอ็นเอ็น ไม่ได้มีความต่าง หรือให้อะไรในการสร้างการรับรู้ได้เพียงพอ มีข่าววน ข่าวซ้ำ ต่างกันเพียงความยาวของเวลาเสนอข่าว และมีนักคอมเมนต์แทรกเท่านั้น จนเกิดความเบื่อหน่ายในการรับชม และยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ 10 เมษายน ที่สี่แยกคอกวัว ที่สื่อทีวีของไทยแทบจะปิดสวิตช์ ต่างจากการรายงานข่าวการสาดน้ำกันช่วงสงกรานต์อย่างสิ้นเชิง ยิ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกหมดหวังกับสื่อทีวีของไทยมากยิ่งขึ้น

แม้จะมีข้อจำกัดในการเสนอข่าวภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่การเสนอข่าวของแต่ละช่องน่าจะทำให้ดีกว่านี้ได้ นั่นคือความคาดหวังของผู้ชม

จากปรากฏการณ์นี้ “ผศ.ดร.กิตติ กันภัย” อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ในกลไกประชาธิปไตย การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นโอกาสของมนุษย์ทุกคน แต่ปัญหาคือสื่อใหญ่อย่างทีวีบ้านเราอยู่ในมือชนชั้นปกครอง และกลุ่มทุนที่คนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของได้ยาก ที่สำคัญบทบาทของสื่อใหญ่ไม่ได้ทำหน้าที่แก้ปัญหา แต่แค่รายงานเท่านั้น แต่อินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นนิวมีเดีย เกิดมาเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกระดับได้เข้าไปใช้งาน

และอีกเช่นกัน ที่สื่อใหญ่อย่างทีวีไม่สามารถตอบสนองความกระหายในการแสดงความคิดเห็นของผู้คนได้ แม้ว่าทีวีหลายรายการจะเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านเอสเอ็มเอส แต่คือการถูกกลั่นกรองก่อนที่จะได้สะท้อนออกผ่านจอทีวี ไม่ได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเต็มที่

และเช่นเดียวกันที่ “ธาม เชื้อสถาปนศิริ” ผู้จัดการกลุ่มวิชาการ มีเดีย มอนิเตอร์ เห็นว่าสื่อในบ้านเราเดิมเป็น Mass Communication คือสื่อถึงมวลชน ด้วยทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ เป็นสื่อทางเดียว จนเมื่อมีเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ที่เป็นยุคของ Mini Mass Communication เพราะสื่อเก่าตอบสนองไม่ได้ เป็นการเปิดประตูบานใหม่ในการรับข้อมูลข่าวสาร จนมาถึงโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ที่ค่ายเนชั่น ที่นักข่าวเปิดบล็อกจนมาถึงทวิตเตอร์ และโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คสำหรับคนทั่วไป ที่ทำให้ออนไลน์ไม่ใช่โลกเสมือนอีกต่อไป แต่คือจุดร่วมให้คนออกมาทำกิจกรรมร่วมกันได้

เทคโนโลยีเป็นตัวเปลี่ยนพฤติกรรม คนมาทวิตเตอร์ เฟซบุ๊กกันมากขึ้น เพราะคนไม่สนใจเปิดทีวีแล้ว ขณะเดียวกันโลกข้อมูลข่าวสารกำลังบอกว่าอายุของข่าวสารกำลังสั้นลงเรื่อย ๆ จากเดิมหนังสือพิมพ์อาจมีอายุ 1 วัน ทีวี เป็นรายชั่วโมง แต่ในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คแทบจะเป็นวินาที ด้วยพื้นที่ที่กว้างขึ้น โลกนี้คือทุกคนเป็นสื่อ

เฟซบุ๊ก เป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมคนเข้ามาได้ เป็นการสื่อสารที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวจากคนหนึ่งไปยังกลุ่มคนในสังคมได้หลายๆ คน ท่ามกลางวัฒนธรรมของคนในโลกออนไลน์ ที่เข้าสู่เว็บ 3.0 หรือบางคนเรียกว่า People 3.0 คือ Many to Many จาก 2.0 ที่ยังเป็น People to People

ในท่ามกลางความรุนแรงของสถานการณ์ทางการเมือง ก็มีกลุ่มคนขนาดใหญ่กำลังเพาะอารมณ์ไม่พอใจในโลกเสมือนจริงอย่างเฟซบุ๊ก รอเวลาระเบิด และเมื่อถึงจุด Ignite หรือจุดติด ก็เกิดปรากฏการณ์อย่างที่เห็นที่พลังเงียบออกมาในโลกความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่ง ดร.กิตติ บอกว่า นี่คือการสะท้อนว่าสังคมไม่ใช่เป็นแมสแบบเดิม แต่มีลักษณะกลุ่มย่อยเต็มไปหมด เป็นหลายสังคมควบคู่กันที่มีขนาดใหญ่ และมีศักยภาพ

ดร.กิตติ วิเคราะห์ว่าการจุดติดในเฟซบุ๊กนั้นไม่ยาก ด้วยกลไกของการรวมตัวของสังคมนี้ คือ 1.การเลือกเพื่อนความคิดเห็นเดียวกันมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน 2.สามารถแสดงออกได้อย่างอิสระทั้งถ้อยคำและภาพ ที่สามารถพูดความในใจได้ดีกว่า มีเวลาไตร่ตรอง คิด เลือกรูป ทำให้เป้าหมายในการสื่อสารได้ผลยิ่งขึ้น และ 3.ให้ความรู้สึกจริงใจมากกว่า แม้จะเป็นการสื่อสารระหว่างคนหนึ่งไปยังหลายคน ไปต่ออีกหลายคน แต่ผู้ส่งสารรู้สึกว่าเป็นส่วนตัว และใกล้ชิดกับผู้รับสารมากกว่า

กลไกของการจุดติดยังมาจากวิธีการหลักๆ คือ 1.การใช้วาทกรรม วิธีการใช้ภาษา การเลือกสรรคำ การทำให้คำนั้นกลายเป็นถ้อยคำที่ทุกคนเห็นพ้อง เข้าใจตรงกัน และยอมรับโดยปริยาย เช่น ”เสื้อหลากสี” “คนสีลม” และ 2.การโพสต์ภาพ การเลือกภาพ ทำให้เกิด Viral Mail และคอมเมนต์ ที่ส่งต่อความหมายบางอย่างได้ทั่วถึง

การสร้างกลุ่มทางการเมืองในโลกเฟซบุ๊ก ยังทำให้มองเห็นว่าหากใคร หรือแม้แต่นักการตลาดที่ต้องการสร้างกลุ่มในโลกเสมือนจริง ให้ปรากฏตัวในโลกความจริงได้นั้น การสื่อสารต้องการ Story Telling เพื่อเกิด Word of Mouth เพราะข้อมูลในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คนั้น ผู้รับสารที่อยู่ในสังคมเดียวกันรู้สึกว่าน่าเชื่อถือมากกว่า เหมือนการบอกจากเพื่อนคนรู้จัก ซึ่งสื่อใหญ่อย่างทีวีก็ต้องกลับมาตั้งคำถามแล้วว่าปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งนี้ สื่อใหญ่ยังมีความน่าเชื่อถือหรือเปล่า

3เทรนด์แรงมาแน่

พลังของเฟซบุ๊กในวันนี้ ยังทำให้มองเห็นอนาคต ซึ่ง “ปรเมศวร์ มินศิริ” กรรมการผู้จัดการ บริษัทบัณฑิตเซ็นเตอร์ จำกัด หนึ่งใน Influencer โลกออนไลน์ มองว่าจากปรากฏการณ์นี้จะเกิด 3 เทรนด์อย่างแน่นอนในอนาคต คือ

1.Social Movement คือ ต่อไป Social Network จะเป็น Social Movement หรือปัจจัยขับเคลื่อนทางสังคมในด้านต่างๆ เช่น ต่อไปจะเห็น Social Sanction อย่างที่เห็นกับการรณรงค์ไม่ซื้อสินค้าจากบริษัทที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม เป็นมาตรการลงโทษที่เกิดขึ้นได้ง่ายจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ และในทางกลับกัน จะเป็นผลดีต่อบริษัทที่ทำดี เช่น ช่วยกันรณรงค์ซื้อสินค้าจากบริษัทที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการรณรงค์เพื่อสังคมในด้านต่างๆ ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ

ส่วนการเมือง ก็เกิดขึ้นได้ไม่เพียงในไทย ที่เกิดกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อหลากสี การตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เช่น กรณีภาพถ่ายของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไปตามสถานที่ต่างๆ ว่าไปจริงหรือไม่ ซึ่งต่อไปจะเห็นมากขึ้น เช่น ในการเลือกตั้ง ก็จะมีข้อมูลออกมาให้ช่วยตรวจสอบ และจับตาดูพฤติกรรมนักการเมือง และเมื่อรับตำแหน่งแล้วชุมชนในโลกออนไลน์ก็จะเป็นเครื่องมือไปตรวจสอบการทำงานได้อย่างดี

2.เทรนด์ของการล้อเลียน อารมณ์ขัน เป็นความบันเทิงที่สร้างกันในเครือข่าย เช่น การตั้งชื่อกลุ่มที่ล้อเลียนบางกลุ่มการตัดต่อภาพส่งต่อให้เกิดความบันเทิง ซึ่งมีให้เห็นทุกวัน

3.กลยุทธ์บอกต่อ ที่ธุรกิจต่างๆ ในอนาคตจะใช้มากยิ่งขึ้น เพราะได้ผลเร็ว โดยเฉพาะเมื่อทวิตเตอร์ สำหรับการจัดอีเวนต์ต่างๆ จากเดิมที่การเปิดตัวสินค้าใช้ได้ผลมาแล้วในเว็บไซต์ต่างๆ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นแล้วอย่าง ศิลปิน โจอี้ บอย ที่ให้ดาวน์โหลดฟรี เพื่อให้เพลงดัง จากนั้นก็จัดคอนเสิร์ต โปรโมตอีเวนต์ผ่านทวิตเตอร์ ซึ่งก็ได้ผลดี

”ปรเมศวร์” สรุปว่า Social Network กลายเป็นSocial Media ที่ทำให้ทุกคนสื่อสารความคิดออกมาได้ เป็นคลื่นลูกใหญ่ในโลกออนไลน์ที่แรงและต้องติดตาม เหมือนอย่างที่เขาเองก็เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะในกระแสการเมืองเวลานี้ แต่เพราะโลกนี้ ”แรง” สำหรับ ”ปรเมศวร์” จึงเลือกแนวแบบระมัดระวัง ด้วยการตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กอย่าง WeLoveThai ที่เขาบอกว่าเป็นกลาง ๆ ที่รณรงค์ไม่เอาความรุนแรง ซึ่งแนวของเขาคิดว่าเหมาะสมกว่าการบอกว่าชอบหรือไม่ชอบกลุ่มใด แม้จะไม่ได้คนร่วมหลักแสน เพราะไม่ถูกใจชาวเฟซบุ๊กที่อยากเลือกข้างที่ชัดไปเลย แต่กว่า 6 พันคนที่ร่วมแคมเปญ ก็มากพอที่จะเห็นว่าโลกเฟซบุ๊กมีกลุ่มคนที่หลากหลายพร้อมให้ต่อยอดได้อีกมากมาย

Timeline “สื่อ” กับม็อบการเมือง

14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 : “คน” บอกต่อ
ในยุคที่เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารยังไม่พัฒนา อดีตแกนนำนิสิต นักศึกษาคนหนึ่งเล่าว่าคนที่มาชุมนุมส่วนใหญ่เกิดจากความรู้สึกร่วมกัน (14 ตุลา 16 นักศึกษา และประชาชน เรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่รัฐประหารรัฐบาลตัวเอง เพื่ออยู่ในอำนาจต่อ ท่ามกลางการคอรัปชั่น และ 6 ตุลา19 จอมพลประภาส จารุเสถียร และจอมพลถนอม กิตติขจร พยายามกลับเข้าประเทศหลังหนีออกไปเมื่อ 14 ตุลา 16)

นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ในช่วงนั้นซึมซับเรื่องราวและแนวคิดทางการเมืองจากการอภิปราย หนังสือ และจากนิตยสารราย 3 เดือน ”สังคมศาสตร์ปริทัศน์” และการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ (ซึ่งต่อมามีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์กว่า 20 ฉบับ) การรวมตัวกันเกิดจากการบอกปากต่อปาก ในระดับแกนนำมีกระดาษโน้ตข้อความส่งถึงกัน โดยในยุคนั้น ”คน” คือเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่สุด การใช้โทรศัพท์มีเพียงโทรศัพท์สาธารณะเครื่องสีแดงแบบหมุนเท่านั้น เพราะทั้งสื่อทีวีและวิทยุเวลานั้นยังมีน้อยมาก และอยู่ในอำนาจรัฐ

พฤษภาทมิฬ 2535 : ม็อบมือถือ
ได้ชื่อว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองโดยกลุ่มคน ”ม็อบมือถือ” และ ”ม็อบเพจเจอร์” ที่สะท้อนสัญลักษณ์ว่าเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง วัยทำงานมากกว่า ซึ่งในขณะนั้นมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ประมาณ 4 แสนคน โดยเฉพาะกลุ่มคนในกรุงเทพฯ และในหัวเมืองใหญ่ เพื่อขับไล่รัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร

ม็อบเสื้อเหลือง ปี 2548 – 2551 : ม็อบออนไลน์ ทีวีดาวเทียม ASTV
ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่กลิ่นของ ”ทุจริตเชิงนโยบาย” รุนแรง มาตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเมื่อปี 2544 และสื่อเก่าทั้งทีวี วิทยุ ถูกซื้อโดยทุนการเมือง เว็บไซต์ข่าวผู้จัดการออนไลน์ในยุคนั้น คือทางเลือกใหม่ในการเสพข่าวสาร และโดยเฉพาะเมื่อมีจุดเปลี่ยนที่รายการ ”เมืองไทยรายสัปดาห์” ซึ่งจัดโดย ”สนธิ ลิ้มทองกุล” ถูกถอดจากผังของ อสมท กลางเดือนกันยายน 2548 ทีวีดาวเทียมเอเอสทีวี คืออาวุธใหม่ ที่สามารถดึงมวลชนปลุกม็อบเสื้อเหลือง และนำไปสู่การรัฐประหาร นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ในวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมไปถึงการดึงมวลชนกดดันรัฐบาล ด้วยการปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิ จนรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2551

ม็อบเสื้อแดง ปี 2552-2553 : ทีวีแดง
โมเดลของม็อบเสื้อเหลือง ตั้งแต่การเลือกสีเป็นสัญลักษณ์ จนถึงรูปแบบการจัดเวที และการสื่อสารถึงมวลชนถูกม็อบเสื้อแดงก็อปปี้นำมาใช้ มีทั้งทีวีดาวเทียม ที่เสื้อแดงก็มีพีเพิ่ลแชนนอล โดยเฉพาะในปี 2553 ที่ธุรกิจทีวีดาวเทียมถึงจุดกระจายถึงกลุ่ม Mass ที่มีความเปราะบางในความรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกันในการแบ่งชนชั้นทางสังคม จึงสามารถจุดติดได้ง่ายกับยุทธศาสตร์ความเคลื่อนไหวของเสื้อแดงว่าด้วยเรื่องการล้มปืน ล้มทุน และล้มเจ้า

ม็อบเฟซบุ๊ก ปี 2553 : โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค
“พลังเงียบ” ในโลกออนไลน์ที่มีทั้งกลุ่มต่อต้านความรุนแรง และกลุ่มที่ไม่ชอบเสื้อแดงรวมตัวกันติด และโชว์ตัวกันในโลกความเป็นจริง ได้ด้วยพลังและเสน่ห์ของเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็น ”กลุ่มเสื้อหลากสี” ที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตติดไฮสปีด และจำนวนคนใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น ทำให้การเข้าถึงโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค โดยเฉพาะเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ง่าย และสะดวกมากขึ้น