ไม่ว่าวิกฤตการเมืองครั้งนี้จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีหรือไม่ก็ตาม แต่ได้สร้างปรากฏการณ์ขึ้นมาใหม่ในโลกออนไลน์ ที่เรียกว่า “ม็อบออนไลน์” มีเครือข่าย Social Network อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือ มาพร้อมกับ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตติดไฮสปีด และจำนวนคนใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น ทำให้พลังของโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค
หากเมื่อครั้งพฤษภาทมิฬ 2535 มีโทรศัพท์มือถือและเพจเจอร์เป็นเครื่องมือสื่อสารอันทรงพลัง นำพากลุ่มคนชั้นกลาง คนทำงาน ออกมารวมตัวขับไล่รัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร และได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ม็อบมือถือ”
ในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มเสื้อเหลือง ที่สื่อหลักถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลยุคนั้น นำไปสู่การแจ้งเกิดของทีวีดาวเทียม ผนวกเข้ากับพลังของสื่อออนไลน์ และความเป็นมัลติมีเดีย ที่เชื่อมโยงวิทยุ โทรทัศน์ออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์มาแล้ว ได้กลายเป็นอาวุธใหม่ที่สามารถดึงมวลชนปลุกม็อบเสื้อเหลืองจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาแล้ว
วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบนี้ มีสังคมออนไลน์อย่าง Social Network เป็นกลไกสำคัญที่ก่อให้เกิดพลังเงียบในโลกออนไลน์ ผ่านเครื่องมืออย่าง Facebook และ Twitter จนกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ถูกเรียกว่า “ม็อบเฟซบุ๊ก”
ด้วยประสิทธิภาพความเร็วของสื่อประเภทนี้ สามารถส่งต่อข้อมูลในแบบเรียลไทม์ สร้างการรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว วินาทีต่อวินาที ในแบบที่หาไม่ได้ในสื่อแบบเก่า และด้วยพื้นที่สื่อที่เปิดกว้างให้กับการแสดงออกทางความคิดที่หลากหลาย ผู้รับข้อมูลเป็นทั้งผู้ส่งข้อมูลได้ในเวลาเดียวกัน เกิดการรวมกลุ่มของคนที่มีความคิดและความชอบเดียวกัน จนเกิดเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ในโลกออนไลน์
เมื่อม็อบเสื้อแดงชุมนุมยืดเยื้อจนเกิดการปะทะกับทหาร มีผู้คนบาดเจ็บ ล้มตาย เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ มีการจาบจ้วงถึงสถาบัน และถึงขั้นปิดล้อมโรงพยาบาล เกิดพลังเงียบทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับม็อบเสื้อแดง นำไปสู่การรวมตัวกันในพื้นที่จริงอย่างที่เกิดการรวมตัวของกลุ่มเสื้อหลากสี ซึ่งเกิดจากการรวมพลังของคนในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก “กลุ่มมั่นใจคนไทยเกิน 1 ล้านคนต่อต้านการยุบสภา”
การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนหลากสีกลายเป็นพลังของมวลชนกลุ่มคนรุ่นใหม่วัยทีน วัยทำงาน และมีการศึกษา โดยมีจุดเริ่มมาจากโซเชี่ยล มีเดียอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ สะท้อนถึงพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสังคมไทย
เพราะทันทีที่ประกาศโรดแมปของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อหวังปรองดองกับกลุ่มคนเสื้อแดงท่ามกลางความคลางแคลงใจ กับ 5 ข้อเสนอในโซเชี่ยลมีเดีย ก็มี “ไม่เอาอภิสิทธิ์” และ “อภิสิทธิ์ ถามกูหรือยัง” ก็ออกมาทันที ตามมาด้วยขบวนการพิทักษ์อภิสิทธิ์”
นี่คือพลังของโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค และปรากฏการณ์ของม็อบออนไลน์
ซึ่งนับวันจะทวีความสำคัญ และร้อนแรงมากขึ้นทุกขณะ