วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยเทรนด์ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้ คือ เศรษฐกิจอายุยืน (Longevity Economy) พร้อมปรับการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ชี้โอกาสทางธุรกิจ 6 ด้านในสังคมอายุยืนสำหรับผู้ประกอบการ
สังคมอายุยืน จุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจใหม่
1 ใน 6 ของประชากรไทยได้เป็น “ผู้สูงอายุ” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกลุ่มผู้สูงอายุกำลังจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญของโลก ในรายงาน The Perennials : Future of Aging โดย Ipsos กล่าวว่า ผู้สูงอายุในสมัยปัจจุบัน แตกต่างไปจากในอดีตมาก ผู้สูงอายุสมัยใหม่ยังคงที่ชื่นชอบในการทำงาน มีการวางแผนการเงินที่รอบคอบมากขึ้น และมีไลฟสไตล์การใช้ชีวิตที่ Active
โดย Ipsos ได้ทำการบัญญัติศัพท์ใหม่ เพื่ออธิบายถึงกลุ่มผู้สูงอายุสมัยใหม่ว่า “The Perennials” (เดอะ เพอะเรนเนียลส์) จากศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้อธิบายถึงต้นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืน กลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคสมัย ซึ่งกำลังจะมีอิทธิพลเหนือกลุ่มมิลเลนเนียลส์ (Millennials) จึงเป็นความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องหันมาทำความเข้าใจกลุ่มสูงวัยชาวเพอะเรนเนียลส์ และสร้างสินค้า หรือ บริการ ที่ตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด
จาก “เบบี้ บูมเมอร์” สู่ “เดอะ เพอะเรนเนียลส์”
ก่อนที่จะลงลึกถึงโอกาสทางธุรกิจจากสังคมอายุยืน จำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า ผู้สูงอายุในปัจจุบันเป็นใคร มาจากไหน? หากย้อนดูตามทฤษฎี Generation หรือการแบ่งลักษณะของประชากรตามปีที่เกิด ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น
- Baby Boomer: เกิดปี ค.ศ. 1944 – 1964
- Gen x: เกิดปี ค.ศ. 1965 – 1979
- Millennial: เกิดปี เกิดปี ค.ศ. 1980 – 1994
- Gen Z: เกิดปี ค.ศ. 1995 – 2015
จะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่กำลังจะเป็นผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มประชากรที่มาจาก Baby Boomer ซึ่งปัจจุบันจะมีอายุประมาณ 56-76 ปี (ปีที่เขียนบทความนี้ คือปี ค.ศ. 2020) เบบี้ บูมเมอร์ เป็นประชากรที่เกิดและเติบโตในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เบบี้ บูมเมอร์ จึงเป็นประชากรที่มีความทุ่มเทในการทำงาน ขยัน มีการวางแผนการเงิน จุดเด่นของประชากรกลุ่มนี้ คือ มีความอดทนสูง
สำหรับในประเทศไทย เบบี้ บูมเมอร์ กลุ่มใหญ่ในประเทศกำลังเป็นผู้บริหารในองค์กร ผู้ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงาน และยังคงเป็นกลุ่มบุคคลที่มีคำถามในใจว่า หากจะต้องเกษียณการทำงาน จะใช้ช่วงชีวิตที่ยืนยาวนั้นอย่างไรให้มีคุณค่า และมีความสุขมากที่สุด จาก “เบบี้ บูมเมอร์” ผู้ต่อสู้กับสภาวะทางเศรษฐกิจในอดีต จึงกลายเป็น “เดอะ เพอะเรนเนียลส์” ผู้บริโภคสูงวัยที่กำลังจะมีช่วงชีวิตที่ยาวนานขึ้น
มหิดลเปิดหลักสูตรเจาะลึก 6 โอกาสทางธุรกิจในสังคมอายุยืน
ผศ.ดร.ธนพล วีราสา รองคณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงโครงการ NEO (New Education for Opportunity) ที่ออกแบบมาเพื่อปรับรูปแบบการศึกษาให้ทันต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยเริ่มจากหลักสูตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจในสังคมอายุยืน (Business Opportunity Creation in Longevity Society) หลักสูตรระยะสั้น 8 สัปดาห์ สำหรับผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปที่ต้องการสร้างธุรกิจใหม่ แตกไลน์ธุรกิจเดิมให้รองรับคนสูงวัยมากขึ้น เน้นการรวบรวมองค์ความรู้และงานวิจัยของมหิดลมานำเสนอให้ผู้ประกอบการได้เห็นโอกาสและนำไปต่อยอดใน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ ด้านอาหารและเครื่องดื่ม ด้านธุรกิจที่พักอาศัย ด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ ด้านการเงินและประกันภัย ด้านการจ้างงานของผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเรียนเชิญ นักธุรกิจและผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมงาน NEO OPEN HOUSE เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างโอกาส และแนวคิดทางธุรกิจใหม่ๆ ในวันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.00 – 11.00 น. ที่ห้องประชุมชั้นสอง วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนน วิภาวดีรังสิต ลงทะเบียนฟรี พร้อมรับสิทธิพิเศษ Voucher ส่วนลดค่าลงทะเบียนหลักสูตรมูลค่า 2,500 บาท สำหรับหลักสูตรของ NEO ACADEMY
ลงทะเบียนฟรีที่นี่ https://www.neobycmmu.com/open-house