ประชากร “ญี่ปุ่น” ลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 13 คนใน “โตเกียว” ลดลงครั้งแรกตั้งแต่เก็บสถิติ

สถิติประชากร “ญี่ปุ่น” ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นที่ 13 เหลือเพียง 123.22 ล้านคน โดยปี 2021 ถือเป็นปีที่มี “เด็กเกิดใหม่” น้อยที่สุดตั้งแต่เก็บสถิติมา รวมถึงเขตเมือง “โตเกียว” ก็มีประชากรลดลงเป็นครั้งแรกเช่นกัน ใน 47 จังหวัดของญี่ปุ่น มีเพียง “โอกินาว่า” เท่านั้นที่มีประชากรเพิ่มขึ้น

กระทรวงมหาดไทยแห่งรัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยสถิติประชากรญี่ปุ่น ณ วันที่ 1 มกราคม 2022 พบว่า มีประชากรทั้งหมด 123.22 ล้านคน ลดลงกว่า 619,000 คนจากปีก่อนหน้า และถือเป็นการลดลงของประชากรที่มากที่สุดตั้งแต่เริ่มสำรวจในปี 1968  รวมถึงเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 13 จากที่ญี่ปุ่นเคยมีประชากรจำนวนสูงสุดเมื่อปี 2009

นอกจากประชากรสัญชาติญี่ปุ่นแล้ว ชาวต่างชาติที่อาศัยพำนักในญี่ปุ่นก็ลดลงเช่นกัน โดยลดลงกว่า 107,000 คนจากปีก่อนหน้า ปัจจุบันมีชาวต่างชาติอยู่ในญี่ปุ่นกว่า 2.7 ล้านคน การลดลงของชาวต่างชาตินั้นเกิดขึ้นเป็นปีที่สองติดต่อกัน

ด้านจำนวน “เด็กเกิดใหม่” ก็ทำสถิติ “เกิดน้อยที่สุด” ตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลชุดนี้เมื่อปี 1979 โดยปี 2021 มีเด็กญี่ปุ่นเกิดใหม่เพียง 812,000 คน ขณะที่ฝั่งผู้เสียชีวิตนั้นขึ้นไปถึงกว่า 1.44 ล้านคน เป็นสถิติสูงสุดที่เคยเก็บมาเช่นกัน

ใน 47 จังหวัดของญี่ปุ่นนั้น มีเพียง “โอกินาว่า” ที่พบว่ามีประชากรเพิ่มขึ้น โดยมีคนมากขึ้น 186 คน เนื่องจากจังหวัดนี้มีอัตราการเจริญพันธุ์สูงที่สุดในประเทศ ขณะที่พื้นที่ที่มีคนน้อยลงมากที่สุดอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดอากิตะ อาโอโมริ และยามางาตะ

เขตมหานครโตเกียวมีประชากรลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 47 ปี เพราะช่วงโรคระบาดมีคนจำนวนมากย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด (Photo : Shutterstock)

ส่วนเขตมหานคร “โตเกียว” ซึ่งนับรวมทั้งตัวเมืองหลวง และจังหวัดรอบๆ ได้แก่ ไซตามะ ชิบะ และคานางาวะ พบว่าประชากรเขตมหานครโตเกียวลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1975 โดยลดลงเกือบ 35,000 คน ปัจจุบันเขตเมืองหลวงญี่ปุ่นมีคนอาศัย 35.61 ล้านคน

กระทรวงมหาดไทยรายงานว่าจำนวนผู้เสียชีวิตนั้นมากกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งในช่วง COVID-19 ทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยในญี่ปุ่นน้อยลง และทำให้ประชากรลดลงในเขตเมืองหลวง เพราะออกไปอยู่ต่างจังหวัดกันมากขึ้น

ดังที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมานานแล้ว และภาวะเด็กเกิดน้อยเป็นประวัติการณ์ก็ยิ่งทำให้สัดส่วนผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็น 29% ของประชากรทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นมา 0.27% จากปีก่อนหน้า ส่วนคนวัยทำงานซึ่งที่ญี่ปุ่นนับตั้งแต่อายุ 15-64 ปีนั้นมีสัดส่วน 58.99% ลดลง -0.1% จากปีก่อนหน้า

รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามมาอย่างต่อเนื่องที่จะจัดการกับปัญหาประชากรสูงวัยและคนวัยทำงานลดต่ำลง โดยหวังว่าจะสามารถลดปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ผ่านการนำเข้าแรงงานต่างชาติให้มากขึ้น

Source: Asahi Shimbun, SCMP