ไม่ได้ยืนหนึ่งแค่จำนวนผู้ใช้ แต่ ‘เอไอเอส’ ก็ยืนหนึ่งในด้านจำนวนคลื่นความถี่ด้วยเช่นกัน โดยการประมูล 5G ที่เพิ่งผ่านไป เอไอเอสก็ทุ่มเงินถึง 42,060 ล้านบาท สามารถคว้า 3 คลื่น ได้แก่ 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz รวม 23 ใบอนุญาต จนได้ 5G ระดับ World’s Best-In-Class คือ มีแบนด์วิธผืนใหญ่กว้างที่สุดรายเดียวในไทย!
มีคลื่นในมือมากกว่าคู่แข่งอันดับสองเกือบ 1.5 เท่า
ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส เปิดเผยว่า คลื่นความถี่ของเอไอเอสในปัจจุยันมีครบทุกย่าน ได้แก่ คลื่น 700 MHz จำนวน 30 MHz ที่เป็นย่านความถี่ต่ำ 2600 MHz จำนวน 100 MHZ เป็นย่านความถี่กลาง และ 26 GHz จำนวน 1200 MHz ที่เป็นย่านความถี่สูง รวมทั้งหมด 1420 MHz (ไม่รวมความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์) ซึ่งมากกว่าคู่แข่ง 40% มีความเร็ว Speed ที่สูงกว่าถึง 24 เท่า และมีขีดความสามารถในการรองรับการใช้งาน Capacity ที่มากกว่าถึง 30 เท่า และมี Latency ต่ำกว่าเดิมถึง 10 เท่า และถือว่าเป็น World’s Best-In-Class เพราะมีแบนด์วิธอย่างน้อย 100 MHz ขึ้นไป
“การแข่งขันวันนี้ไม่ใช่แค่ทำคุณภาพให้ดี แต่เป็นการแข่งขันด้านราคา ซึ่งถ้าทำราคาให้ถูก แต่ใช้ไม่ได้ก็ไร้ประโยชน์ อาจจะเพิ่มลูกค้าได้แค่ระยะสั้น ดังนั้นจำนวนคลื่นที่มากกว่าถือว่าได้เปรียบ ดังนั้นคนที่มีทรัพยากรมากกว่าย่อมได้เปรียบ”
ใช้ 5G ได้ทุกคลื่น
เอไอเอสวางแผนในการใช้ 5G ทุกคลื่นความถี่ที่มี โดยในคลื่นย่าน 700 MHz ที่เป็นคลื่นความถี่ต่ำจะใช้สำหรับการใช้งาน IoT ส่วน 2600 MHz ที่เป็นคลื่นย่านกลางจะใช้กับผู้ใช้งานทั่วไป ส่วนคลื่น 26 GHz ที่เป็นความถี่สูงจะใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมและสมาร์ทซิตี้
“การประมูล 5G ไม่ได้เป็นประโยชน์แค่ในอนาคต แต่ปัจจุบันก็ได้ประโยชน์กับ 4G ด้วย โดยลูกค้าเอไอเอส 4G ปัจจุบัน ที่มีจำนวนกว่า 16 ล้านราย ใช้มือถือที่รองรับคลื่น 2600 MHz ก็จะได้รับคุณภาพที่ดีขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นใช้ประโยชน์ได้ทันที เพราะมีดีไวซ์รองรับ”
ปัจจุบัน AIS ได้ทดลองให้บริการ AIS 5G ย่านความถี่ 2600 MHz ในย่านพื้นที่หนาแน่น อาทิ สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ แยกอโศก รวมถึงในเขตภูมิภาคทั่วประเทศ และเตรียมโซน 5G Trial ให้ลูกค้าและประชาชนได้เข้ามาลองสัมผัสกับเครือข่ายและอุปกรณ์ดีไวซ์ 5G ที่ AIS Flagship Store เซ็นทรัลเวิลด์ และ สยามพารากอน ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป
ขอแค่อีโคซิสเต็มส์ 5G ครบ เอไอเอสพร้อมลุย
แม้จะมีการทดสอบการใช้งาน แต่เนื่องจากนวัตกรรม 5G เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องก้าวไปพร้อมประเทศอื่น ดังนั้นอีโคซิสเต็มส์ยังต้องพัฒนาอีก อย่างมือถือที่รองรับ 5G ยังน้อย มีเพียงแค่ 3-4 รุ่น ดังนั้นตลาดจะค่อย ๆ เปลี่ยน ไม่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
อีกทั้ง 5G ไม่ได้จบแค่การใช้มือถือ แต่ยังใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้นการที่เรามีแบนด์วิธระดับโลก จะสามารถนำมาสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศได้มากยิ่งกว่าใครในอุตสาหกรรม โดยเอไอเอสเองพร้อมนำ 5G เข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง เพื่อปฏิวัติการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ EEC ซึ่งได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรชั้นนำในพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง อมตะนคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศรีราชา ฯลฯ
“ที่ผ่านมา เอไอเอสเองก็มีการเตรียมตัวกว่า 1 ปี โดยเป็นพาร์ตเนอร์ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ ภาคการผลิต ภาคขนส่ง ภาคคมนาคม ภาคสาธารณสุข ภาคการศึกษา ฯลฯ จนมีความรู้และประสบการณ์ที่สามารถจะนำมาสร้างสรรค์รูปแบบบริการได้อย่างตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพมากที่สุดได้ทันที”
#AIS #5G #AIS5G #คลื่นมากสุดก็สร้างประโยชน์ได้มากกว่า #Positioning