ในปีที่ผ่านมา ‘แกร็บ ไฟแนนเชียล’ บริษัทลูกด้านการเงินได้เปิดตัวบริการ ‘แกร็บเพย์ วอลเล็ต’ ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปัจจุบันก็มีการเติบโตถึง 7 เท่า! ส่งผลให้การชำระเงินภายในแอปพลิเคชันแกร็บเกือบครึ่งเป็นรูปแบบแคชเลส ขณะที่ภาพรวมการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลของไทยอยู่ที่ 6-7% เท่านั้น
ล่าสุด ‘แกร็บ ไฟแนนซ์’ ก็ออกบริการใหม่ ‘Digital Landing’ หรือการขอสินเชื่อในรูปแบบดิจิทัลครั้งแรกของไทย ที่มีจุดเด่น คือ ไม่ต้องใช้เอกสารในการสมัคร ไม่ต้องขอสินเชื่อ (แกร็บจะเสนอให้เอง) เพื่ออุดช่องว่างให้พาร์ตเนอร์ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานรับรองรายได้ที่เป็นทางการ โดยแบ่งเป็น 3 บริการ ได้แก่
- สินเชื่อเงินสดผ่านแอป สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่สามารถขอสินเชื่อได้ผ่านแอปพลิเคชัน โดยมีวงเงิน 1 แสนบาท ดอกเบี้ยอยู่ที่ 18% ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 6 เดือน ปัจจุบันมีการกู้เฉลี่ยที่ 2-3 หมื่นบาท
- บริการผ่อนชำระสินค้ารายวัน – บริการผ่อนชำระโทรศัพท์มือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบรายวัน ดอกเบี้ย 0% สำหรับพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่
- สินเชื่อ SMEs – สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย ระยะสั้น ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะพาร์ตเนอร๋ร้านอาหาร ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 15%
ซึ่งจากการทดลองให้บริการ 3 เดือนที่ผ่านมา ได้ปล่อยเงินกู้แล้วกว่า 500 ล้านบาท ขณะที่ยอด NPL (Non-Performing Loan) หรือหนี้เสียไม่เกิน 2% เนื่องจากระยะเวลาสั้นและยอดเงินไม่สูงมาก โดยภายในปีนี้ แกร็บ ไฟแนนซ์คาดว่าจะปล่อยกู้ได้ 3,000 ล้านบาท ครอบคลุมกว่า 100,000 ครัวเรือน
เบื้องต้น แกร็บจะให้บริการเฉพาะพาร์ตเนอร์ร้านค้าและผู้ขับขี่ที่มีการใช้งานเกิน 3 เดือนขึ้นไป ดังนั้น ไม่ได้เป็นคู่แข่งกับใครในตลาด เพราะมีลูกค้าชัดเจนคือ คนในอีโคซิสเต็มส์แกร็บ
“แกร็บให้บริการในไทยมา 8 ปี ซึ่งจุดแข็งของแกร็บคือ จำนวนข้อมูลการใช้งานทั้งของพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ ร้านอาหาร และผู้ใช้งานทั่วไป ทำให้เราเป็นรายแรกที่นำชุดข้อมูลที่ไม่เหมือนใครมาทำเครดิตสกอริ่ง และมีการปรับเรื่อย ๆ ตามจำนวนเดต้าที่ได้มาต่อวัน ไม่ใช่ได้มาครั้งเดียวแล้วจบ” วรฉัตร ลักขณาโรจน์กรรมการผู้จัดการ แกร็บเพย์ ประจำประเทศไทย แกร็บไฟแนนเชียลกรุ๊ป กล่าว
เร็ว ๆ นี้ แกร็บมีแผนจะขยายไปสู่ธุรกิจประกันให้กับพาร์ตเนอร์สามารถซื้อผ่านแอปได้เลย อนาคตอาจจะมีบริการ ‘ใช้ก่อน จ่ายทีหลัง’ สำหรับลูกค้าทั่วไป รวมถึงบริการ ‘Micro Investment’ หรือกองทุนย่อยสำหรับให้ผู้ที่สนใจมาร่วมลงทุน
“เรามองว่ามันจะเติบโตไปกับการขยายตัวของแกร็บ อย่างตอนนี้เรามีแค่ 20 จาก 77 จังหวัด ซึ่งแกร็บแพลตฟอร์มยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เมื่อแกร็บขยายตัวไปในจังหวัดต่าง ๆ และมีพาร์ตเนอร์ร้านอาหารและคนขับมากขึ้น เรายังไม่มีแผนบุกไปนอกอีโคซิสเต็มส์ แต่ขอทำให้ดีก่อน”
#Grab #Grabfinancialgroup #Finance #Loan #Positioning