มองอนาคตธุรกิจ Ride- hailing “เเอปเรียกรถ” ในไทย ณ วันที่ยังไม่ถูกกฎหมาย 100%

ปัญหาการขนส่งในไทยเป็นหนึ่งใน Pain Point หลักของชีวิตประจำวันของทุกคนก็ว่าได้ หลายคนต้องเคยเจอการโบกเเท็กซี่เเล้วโดนปฏิเสธด้วยคำว่า “ไปส่งรถ” บ่อย ๆ ส่วนรถเมล์สาธารณะก็มา “ไม่เป็นเวลา” จัดการเวลาเดินทางไม่ได้ หรือในต่างจังหวัดก็เดินทางลำบาก หากคุณไม่มีรถส่วนตัว

การมาถึงของเทคโนโลยีเเละอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดนวัตกรรม Ride- hailing หรือบริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตและการเดินทางของคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

“ปัจจุบันคนไทยกว่า 34.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของคนไทยทั้งประเทศเคยใช้บริการ Ride-hailing และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73 ในอีก 30 ปีข้างหน้า”

ถึงตัวเลขผู้ใช้จะพุ่งสูงมาก เเต่ก็ดูจะสวนทางกับกฎหมาย เมื่อ “ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศสุดท้ายในภูมิภาคอาเซียน ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับการให้บริการ Ride-hailing”

ชี้ให้เห็นว่า เเม้อุตสาหกรรม Ride-hailing จะได้รับการยอมรับจากภาคประชาชนและเป็นทางเลือกการเดินทางของคนไทย ควบคู่ไปกับแท็กซี่ในระบบดั้งเดิม แต่ธุรกิจนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของภาครัฐ

จากผลการศึกษาและวิจัยของ CONC Thammasat มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า 95% ของผู้บริโภคเห็นด้วยกับการทำให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Grab หรือ Uber ถูกกฎหมาย และ 77.24% ของคนไทยเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ปัจจุบันอุตสาหกรรม Ride-hailing ในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 21,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของ GDP ภาคขนส่งทางบกไทย

จากความนิยมของผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีการเติบโตสูงขึ้นจนมีมูลค่าถึง 1.2 แสนล้านบาทในปี 2568 คิดเป็นร้อยละ 20 – 25 ของ GDP ภาคขนส่งทางบกไทยในอีก 6 ปีข้างหน้า

โดยผู้โดยสารใช้บริการ Ride-hailing ในประเทศไทยในปี 2561 ประมาณ 2.4 ล้านคนต่อเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคนต่อเดือนในปี 2568

ในขณะที่มีผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารเพื่อให้บริการ Ride-hailing ในปี 2561 ประมาณ 105,000 คนต่อเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 590,000 คนต่อเดือนในปี 2568

Photo : Shutterstock

Positioning คุยกับ “ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว” หัวหน้าโครงการศึกษาและวิจัยฯ CONC Thammasat ถึงโอกาสเเละอุปสรรคของ Ride-hailing ในไทยเเละอาเซียน การเเข่งขันของธุรกิจ เทรนด์ผู้ใช้ เเละปมความ
ขัดเเย้งกับระหว่างเจ้าถิ่น รวมถึงคาดการณ์ระบบขนส่งสาธารณะในปี 2565

“เรามองว่าการทำให้ Ride-hailing ถูกกฎหมายในประเทศไทยเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งเป็นสมดุลที่เหมาะสม ระหว่างการเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร และเป็นการชูนวัตกรรมเทคโนโลยีให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม กฎหมายสำหรับบริการ Ride-hailing ในประเทศไทยยังเป็นที่ถกเถียงกัน เนื่องจากมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว หัวหน้าโครงการศึกษาและวิจัยฯ CONC Thammasat

ด้วยเหตุนี้ CONC Thammasat จึงทำการศึกษาวิจัย ภายใต้หัวข้อ “อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน (Ride-hailing service): บทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและความจำเป็นในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกฎหมายให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อนำเสนอให้เห็นผลกระทบต่างๆ จากการมี Ride-hailing ทั้งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นแนวทางไปยังภาครัฐในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเรื่องนี้ต่อไป เนื่องจากการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชาชนทุกคน

ดร.สุทธิกร มองว่า Ride-hailing เป็นทางเลือกสำคัญที่ช่วยสร้างประโยชน์ต่อระบบคมนาคมขนส่งทั้งระบบ เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทางให้กับคนไทย แต่ยังรวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งนำรายได้มหาศาลมาสู่ประเทศ ส่วนข้อมูลดิจิทัลที่ถูกบันทึกจากแอปพลิเคชันยังสามารถนำมาช่วยในการต่อยอดและพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว การวางแผนแก้ไขปัญหาการจราจรหรือการวางผังเมืองในอนาคต 

“ผลสำรวจจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าหากภาครัฐไม่อนุมัติให้การบริการ Ride-hailing ถูกกฎหมาย จะส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทบต่อดุลยภาพที่เกิดจากเศรษฐกิจตลาดเสรีและกลุ่มคนทั่วไปที่เห็นประโยชน์ของ Ride-hailing” 

เเนะรัฐกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ

ขณะที่เมื่อมองเรื่องการแข่งขันของธุรกิจ Ride-hailing ในไทย ก็นับแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมระบบคมนาคมในประเทศ ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันเพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกที่หลากหลาย

“เเต่สิ่งสำคัญคือจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานควบคุมขั้นต่ำ (Minimum Requirement) เพื่อควบคุมผู้ประกอบการที่จะเข้ามาในตลาดให้มีคุณภาพ เนื่องจาก Ride-hailing เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะที่ต้องรองรับผู้โดยสารจำนวนมากในแต่ละวัน มีผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมจำนวนมาก หากไม่มีการกำหนดคุณสมบัติและมาตรฐานขั้นต่ำไว้ เมื่อเกิดปัญหาจะเสียหายและส่งผลกระทบในวงกว้างอีกทั้งเป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” 

ถ้า Ride-hailing ถูกกฎหมาย จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับส่วนใดและอย่างไรบ้าง?

จากผลการศึกษาและวิจัยของ CONC Thammasat พบว่าการพัฒนาและผลักดันให้อุตสาหกรรม Ride-hailing สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกกฎหมายนั้นจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับหลายภาคส่วน และส่งผลต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

ผู้โดยสาร

Ride-hailing ทำให้การเดินทางในชีวิตประจำวันมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเดินทางด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานด้านความปลอดภัย และสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งในรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • 92% ของผู้โดยสารเห็นว่า บริการ Ride-hailing มีความปลอดภัยกว่าทางเลือกอื่นๆ
  • 95% ของผู้โดยสารเห็นว่า บริการ Ride-hailing ช่วยเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
  • 77% ของผู้โดยสารระบุว่า การใช้บริการ Ride-hailing มีความสะดวกและช่วยประหยัดเวลาในการเรียกรถ
  • 86% ของผู้โดยสารระบุว่า บริการ Ride-hailing มีส่วนช่วยให้มีเวลาเพิ่มขึ้นในการทำงาน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างการเดินทาง ผู้ขับขี่ที่ให้บริการ: Ride-hailing เป็นช่องทางในการประกอบอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้และลดภาระหนี้สิน
  • 60% ของคนที่นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการ Ride-hailing เป็นผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นว่างงาน หรือบุคคลที่เกษียณอายุแล้วซึ่งช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับพวกเขา
  • 99% ของผู้ขับที่เป็นแท็กซี่ระบุว่า แอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อให้บริการ Ride-hailing ช่วยทำให้มีผู้โดยสารและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
  • 94% ของผู้ขับระบุว่า รายได้ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันช่วยลดภาระหนี้สินได้

ภาคสังคม 

Ride-hailing ได้เข้ามาช่วยยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของไทย โดยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน พร้อมช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

ภาคเศรษฐกิจ

สร้างประโยชน์ส่วนเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ ทั้งรายได้โดยตรงที่เกิดขึ้นจากการให้บริการและรายได้ทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง โดยรายได้เหล่านี้ได้กระจายไปสู่อุตสาหกรรมหลักต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม

ภาคการท่องเที่ยว

Ride-hailing มีส่วนช่วยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยได้กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญที่ช่วยรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวแบบกลุ่มเล็กหรือมีการท่องเที่ยวแบบอิสระ (Free Individual Traveler) มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 75 ในขณะที่นักท่องเที่ยวแบบกลุ่มใหญ่เหลือเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น 

นอกจากนี้ ยังช่วยลดอุปสรรคด้านภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีแปลภาษาผ่านแอปพลิเคชันและปัญหาด้านค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมด้วยการแจ้งราคาล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

เเละในขณะที่ “ระบบขนส่งสาธารณะ” ในหลายประเทศยังเป็นสิ่งที่ยากลำบากสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ด้วยรูปแบบบริการของ Ride-hailing จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นการสร้างความเท่าเทียมทำให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่เพียงแต่การเป็นผู้โดยสาร แต่รวมถึงบทบาทของการเป็นผู้ให้บริการ (ผู้ขับขี่) ด้วยเช่นกัน

ดร.สุทธิกร อธิบายต่อว่า Ride-hailing จะสร้างทางเลือกในการเดินทางและเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลรวมถึงพัฒนาสังคมเมืองให้เข้าสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มากยิ่งขึ้นซึ่งช่วยลดภาระของความเป็นเจ้าของยานพาหนะ (Ownership) ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย (ค่าผ่อนรถ ค่าประกัน) ความกังวล (รถหาย รถเสีย) และความไม่สะดวก (หาที่จอดรถไม่ได้) มาสู่ความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการ (Usership) อีกทั้งเปลี่ยนบทบาทของผู้บริโภคไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ให้บริการได้ คือขยับจากที่เป็นเพียง Consumer ไปมีบทบาท Prosumer (การผลิตโดยผู้บริโภค)ได้

เป็นธรรมดาของธุรกิจที่เมื่อมีข้อดีเเล้วก็ต้องมีข้อเสีย หัวหน้าวิจัยของ CONC บอกว่า ข้อเสียของ Ride-hailing คือ สถานการณ์เมื่อธุรกิจบริการ Ride-hailing เกิดขึ้นในประเทศ แม้ว่าจะไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนกำหนดไว้หรือกฎระเบียบที่ไม่สมดุลก็ตาม สิ่งสำคัญคือการระวังไม่ให้ตกอยู่ในกับดักของนโยบายคุ้มครองเพราะอาจไม่ได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาประเทศสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบัน

“เชื่อว่าถึงแม้ประเทศไทยยังไม่มีการออกกฏหมายที่ชัดเจนและมั่นคงเพียงพอ แต่ประเทศไทยถือว่าอยู่ในจุดที่ดี เนื่องจากเราได้เรียนรู้จากผลการศึกษาและวิจัยจากประเทศอื่นๆ และมีโมเดลของบริกา Ride-hailing ที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะในขณะที่เสริมสร้างธุรกิจและสภาพแวดล้อมนวัตกรรม”

ระบบเเท็กซี่ไม่ถูกเเทนที่…เเต่ต้องปรับเข้า Ride-hailing

ขณะเดียวกันหลายคนสงสัยว่า สิ่งที่น่ากังวลจากธุรกิจ Ride-hailing นี้ จะเข้ามา Disrupt อะไรบ้าง แล้วการขัดแย้งระหว่างเจ้าถิ่นยังคงมีต่อไปหรือไม่

“ผมไม่คิดว่าการที่ธุรกิจ Ride-hailing เข้ามา disrupt จะส่งผลเสียอะไร ระบบคมนาคมขนส่งของไทยยังมีความล้าหลังทำให้ธุรกิจ Ride-hailing กลายเป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้บริโภค ผู้ขับขี่รถแท็กซี่กลายเป็นส่วนสำคัญของระบบคมนาคมในประเทศไทย ซึ่งการโบกรถโดยสารตามถนนยังคงเป็นทางเลือกจำเป็นสำหรับผู้บริโภคอยู่ ดังนั้นระบบแท็กซี่จึงไม่ถูกแทนที่ได้ง่ายๆ” 

โดยผู้ขับขี่บนระบบแท็กซี่แบบดั้งเดิมสามารถเข้าร่วมกับระบบ Ride-hailing เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ได้

“แท็กซี่ระบบดั้งเดิมอาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกอุตสาหกรรมจำเป็นจะต้องปรับตัวเองให้ก้าวทันตามโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว”

เสนอ 5 เเนวทางกำกับ Ride-hailing

CONC Thammasat ได้นำเสนอแนวทางในการกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลบริการ Ride-hailing ในไทยซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรใช้ในการพิจารณา โดยการรับฟังความคิดเห็นและมุมมองจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ทั้งผู้โดยสารผู้ขับขี่ที่ให้บริการ Ride-hailing ผู้ขับแท็กซี่ในระบบดั้งเดิม ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิชาการ ซึ่งครอบคลุม 5 ประเด็นหลักอันได้แก่

1) มาตรฐานด้านความปลอดภัยของแพลตฟอร์มที่ให้บริการ

o   มีเทคโนโลยีที่รองรับด้านความปลอดภัย เช่น ระบบ GPS เพื่อติดตามตำแหน่งและสถานะของการเดินทางแบบเรียลไทม์ หรือมีปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

o   มีระบบตรวจสอบและยืนยันตัวตนของผู้ขับ เช่น ระบบ Biometrics

o   มีศูนย์บริการให้ความช่วยเหลือและรับเรื่องร้องเรียนตลอด 24 ชั่วโมง

o   มีประกันคุ้มครองให้กับทั้งผู้ขับและผู้โดยสารในทุกเที่ยวการเดินทาง

2) มาตรฐานผู้ขับขี่และรถยนต์

o   ผู้ขับต้องผ่านการคัดกรองและตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อนให้บริการ

o   ผู้ขับต้องได้รับการอบรมในด้านความปลอดภัย

o   การกำหนดมาตรฐานของรถยนต์ควรอิงด้านความปลอดภัยของตัวรถและเปิดโอกาสให้ประชาชนนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาสร้างรายได้

3) มาตรฐานการให้บริการและเทคโนโลยี

o   มีศักยภาพในการให้บริการอย่างครอบคลุมและฐานผู้ขับที่เพียงพอกับความต้องการ

o   เทคโนโลยีที่นำมาใช้ต้องมีเสถียรภาพและสามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจ

o   มีระบบแปลภาษาที่ช่วยสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

o   สามารถชำระค่าบริการได้หลายรูปแบบ ทั้งเงินสดและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

4) มาตรฐานด้านราคา

o   ควรให้มีการคำนวณราคาค่าบริการตามกลไกตลาด หรือ Dynamic Pricing ที่สะท้อนปริมาณความต้องการและจำนวนรถที่ให้บริการ (Demand-Supply) ณ เวลานั้นๆ

o   ต้องมีการแจ้งราคาค่าบริการให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

o   ควรกำหนดราคาโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความต้องการของทั้งผู้โดยสารและผู้ขับขี่ โดยเป็นราคาที่ผู้ขับสามารถสร้างรายได้ในขณะเดียวกันผู้โดยสารก็ต้องยอมรับได้

5) มาตรฐานของบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหรือผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน

o   ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องในประเทศไทย

o   ควรมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนไทยหรือบริษัทไทย

o   มีการเสียภาษีให้กับประเทศ

o   มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต

ทางเลือกการเดินทาง “ที่ต้องมี” 

ดร.สุทธิกร ปิดท้ายด้วย การคาดการณ์ระบบขนส่งสาธารณะในปี 2565 ไว้ว่า จากการศึกษาของ BCG พบว่าถึงแม้ระบบขนส่งสาธารณะจะสามารถพัฒนาไปได้ตามแผนที่วางไว้และแล้วเสร็จตามกำหนดนั้น ในปี 2565 ระบบขนส่งสาธารณะเหล่านี้จะยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วนได้

ดังนั้นการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยอำนวยความสะดวกและลดความหนาแน่นของการโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะลงได้ ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการได้ทุกที่ และไม่มีทางเลือกอื่นๆ เนื่องจากยังไม่มีบริการอื่นมาแทนที่จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นการเดินทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

“การให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันจึงสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของคนเหล่านี้ได้ โดยการให้บริการผ่านทางแอปพลิเคชันนั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้บริการการขนส่งสาธารณะ แต่เพียงเข้ามาเพื่อปิดช่องว่างที่ไม่มีประสิทธิภาพเหล่านั้น และเป็นเส้นเลือดฝอยที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงเส้นเลือดใหญ่มากขึ้น”

อีกทั้งยังพยายามที่จะสนับสนุนให้คนเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยเห็นได้ว่ามีผู้ให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันบางรายให้บริการลดราคาหรือราคาพิเศษสำหรับการเดินทางไปยังป้ายรถประจำทางหรือสถานีรถไฟ

นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน ในช่วงเวลากลางดึกมีสัดส่วนการใช้งานที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบจากทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าในเวลากลางดึก ซึ่งเป็นเวลาที่การบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ งดให้บริการแล้ว สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางหรือมีตารางเวลาการทำงานที่ไม่แน่นอน และเวลาการทำงานแตกต่างจากปกติ เช่น พนักงานสายการบิน พนักงานโรงแรม เป็นต้น การใช้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันจึงเป็นตัวเลือกที่เข้ามาทดแทนได้

ยุคนี้ Ride-hailing มาเเน่…เเต่รัฐจะกำกับดูเเลอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้ใช้อย่างเราๆ ต้องคอยดูต่อไป