เพราะความสวยรอไม่ได้ ส่งผลให้ตลาด ‘ความงาม’ ไทยยังเติบโตต่อเนื่องปีละกว่า 10% สวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดในประเทศยังเติบโต เเต่สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) อยากให้ผู้ประกอบการไทยได้ Go Inter เพราะเทรนด์โลกเริ่มหันมาสนใจกับผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดแข็งไทย
ธุรกิจด้านสุขภาพความงามถือเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งของประเทศไทย เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 10% ติดต่อกันหลายปี โดยในปี 2019 มีมูลค่าถึง 2.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60% หรือราว 1.68 แสนล้านบาท และตลาดส่งออก 40% หรือ 1.12 แสนล้านบาท (การเติบโตดังกล่าวมาจากผู้ประกอบการทั่วประเทศกว่า 1,800 ราย) ยังไม่รวมธุรกิจอาหารเสริมที่มีมูลค่ากว่า 6.67 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารเสริมความงาม อาหารเสริมสุขภาพและรักษาโรค และอาหารเสริมสมรรถภาพร่างกาย
ขณะที่ภาพรวมตลาดโลกมีมูลค่าถึง 9.3 ล้านล้านบาท โดยไทยครองอันดับที่ 17 ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดโลกหันมาสนใจสุขภาพและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเข้าทางสินค้าไทยที่มีจุดขายตรงวัตถุดิบและส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติ สมุนไพร อีกทั้งยังมีงานวิจัยรองรับ น่าเชื่อถือ ประกอบกับช่องทางการตลาดออนไลน์ช่วยลดต้นทุนการตลาดและระบบขนส่งที่ทันสมัยทำให้เข้าถึงตลาดทั่วโลก ดังนั้นกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพความงามไทยมีโอกาสสูงในการขยายตลาดและปั้นแบรนด์เข้าสู่ตลาดโลก
“ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเติบโตในตลาดโลกสูง เนื่องจากกระเเสโลกที่หันมาสนใจสุขภาพ แต่ต้องรู้จักปรับตัวให้ทันกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงและต้องหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี และการใช้เครื่องมือดิจิทัลมากขึ้น” นันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าว
ทั้งนี้ หนึ่งในตลาดที่ NEA มองว่ามีความน่าสนใจคือ ‘ประเทศจีน’ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นผลให้มีการใส่ใจสุขภาพ ความสวยความงาม และการดูแลสุขภาพผิว ส่งผลให้ตลาดเครื่องสำอางในประเทศจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของผู้ประกอบการไทยอยู่ที่ภาครัฐของจีน ที่มีการประกาศควบคุมคุณภาพสินค้า เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไร เพื่อใช้พัฒนาสินค้าให้ดึงดูด รวมทั้งควรดำเนินการติดต่อทำบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้า เพื่อความสะดวกในการติดต่อขอเอกสารกับหน่วยงานของรัฐ
“สินค้าทุกชิ้นจำเป็นจะต้องผ่านขั้นตอนการดำเนินการและตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มงวด การตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพเครื่องสำอางจากหน่วยงาน SFDA , ศุลกากร และ CIQ ที่ตรวจสอบความถูกต้องของผลิตภัณฑ์ทั้งเรื่องฉลากสินค้า ขนาด และปริมาณ เป็นต้น”
#NEA #Beauty #Positioning