ธนาคารไทยพาณิชย์ อัดฉีดความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างเร่งด่วน จัด 3 มาตรการช่วยเหลือ “ช่วยพัก ช่วยขาย ช่วยลดต้นทุน” พร้อมช่วยเอสเอ็มอีในทุกมิติเพื่อให้ฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จับมือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และสมาคมโรงแรมไทย (THA) เร่งสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศ ปลุกพลังนักท่องเที่ยวไทยช่วยธุรกิจไทย จัดงาน “SCB เที่ยวไทย ไปด้วยกัน” ยกขบวนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศออกบูธเสนอขายแพ็กเกจโรงแรม ที่พัก ให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยโดยตรง เร่งสร้างภูมิต้านทานให้ผู้ประกอบการพร้อมรับมือความท้าทายในอนาคตด้วย Hotel Business Matching เปิดเวทีจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยว กับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์เพื่อเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ ทั่วโลก และผู้ให้บริการดิจิทัลในด้านต่างๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนในระยะยาว เชิญร่วมสนับสนุนธุรกิจโรงแรมไทยก้าวผ่านวิกฤตท่องเที่ยวในงานได้ตั้งแต่วันนี้ – 28 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ SME ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID- 19 ได้สร้างวิกฤตด้านการท่องเที่ยวให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งผู้ประกอบการโรงแรม ทีพัก และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยชะลอการเดินทางท่องเที่ยวเช่นกัน ในขณะที่ผู้ประกอบการยังคงต้องแบกรับภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารได้ออก 3 มาตรการช่วยเหลือ “ช่วยพัก ช่วยขาย ช่วยลดต้นทุน” กล่าวคือ
1) ช่วยพัก ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินโดยพักชำระเงินต้นให้กับผู้ประกอบการทีได้รับผลกระทบเป็นระยะเวลาสูงสุด 12 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระในเบื้องต้นให้กับผู้ประกอบการแล้ว
2) ช่วยขาย ด้วยเข้าใจในปัญหาที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญซึ่งอาจกระทบกับสภาพคล่องของธุรกิจ ธนาคารจึงจับมือกับพันธมิตร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และสมาคมโรงแรมไทย (THA) จัดงาน “SCB เที่ยวไทย ไปด้วยกัน” เพื่อช่วยกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการกว่า 50 ราย ที่ได้รับผลกระทบเสนอขายแพ็กเกจ มอบส่วนลดสูงสุดถึง 60% สำหรับโรงแรม ที่พัก โปรแกรมท่องเที่ยว ร้านอาหาร ให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยโดยตรง พร้อมแคมเปญพิเศษจากธนาคาร สำหรับผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของ SCB ใช้คะแนนเท่ายอดซื้อแลกรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 15% ซึ่งสามารถเห็นผลด้านยอดขายและรายได้ทันที พร้อมกันนี้ยังได้วางแผนที่จะต่อยอดกิจกรรมนี้เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขายด้วยการจัด Roadshow งานนี้สัญจรไปยังสำนักงานองค์กรพันธมิตรต่างๆ ซึ่งมีทั้งกลุ่มพนักงานและลูกค้า ที่พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยวไทยก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน และธนาคารพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางการตลาดอื่นๆ เช่น การทำโปรโมชั่นพิเศษร่วมกันกับลูกค้า รวมถึงการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ของธนาคารช่วยลูกค้าโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มยอดขายได้ในอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ธนาคารยังมีพันธมิตรที่เป็นผู้ประกอบการด้านดิจิตอล สามารถส่งเสริมเรื่องการขายและการทำการตลาดออนไลน์ และช่วยเพิ่มยอดจองตรงกับโรงแรมให้มากขึ้นอีกด้วย
3) ช่วยลดต้นทุน ธนาคารพยายามใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางธุรกิจที่วางไว้มาช่วยลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรด้านต่างๆ เพื่อช่วยธุรกิจลดต้นทุนในระยะยาว ผ่านการทำ Business Matching เปิดเวทีให้ผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยวจับคู่เจรจาธุรกิจกับกลุ่มคู่ค้าทางธุรกิจ อาทิ Online Travel Agents ชั้นนำที่จะช่วยเปิดประตูให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อชดเชยนักท่องเที่ยวจีนที่ รวมทั้งคู่ค้าผู้พัฒนาเทคโนโลยีในการบริหารจัดการธุรกิจซึ่งมีประสิทธิภาพ อาทิ ระบบบริหารจัดการห้องพัก ระบบประหยัดพลังงาน ระบบบัญชี เป็นต้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Economic Intelligence Center (EIC) ประเมินว่าการระบาดของโรค COVID-19 จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2020 ลดลงเหลือเพียงราว 37 ล้านคน หรือลดลง 7.1% YOY นอกจากนี้ การระบาดของโรค COVID-19 ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจไทยในด้านอื่น ๆ ด้วย อาทิ ภาคการส่งออก ภาคการผลิต รวมถึงการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้ EIC ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จาก 2.7% เหลือ 1.8% YOY ในปี 2020 โดยธนาคารไทยพาณิชย์จะยังคงติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกค้าทั้งมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน และความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป