IOC ถกเครียด เฝ้าระวังสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ระบาด วางเส้นตายตัดสินใจยกเลิกหรือเดินหน้างาน “โตเกียว โอลิมปิก 2020” จนถึงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ คณะกรรมการชี้ถ้าจัดงานตามตารางไม่ได้อาจต้อง “ยกเลิก” สถานเดียว หากเลื่อนตารางจัดงานจะปั่นป่วนหลายฝ่าย และการย้ายไปจัดที่เมืองอื่นอาจไม่มีใครพร้อมรับเป็นเจ้าภาพในเวลาอันสั้น
สำนักข่าว AP รายงานจากแหล่งข่าวระดับสูงของ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ผู้จัดงาน โอลิมปิก 2020 ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า IOC กำลังพิจารณา หากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนายังอยู่ในขั้นอันตราย ผู้จัดงานมีแนวโน้มที่จะยกเลิกการจัดงานโตเกียว โอลิมปิก 2020 โดยสิ้นเชิงมากกว่าเลื่อนการจัดงานหรือย้ายสถานที่
โดย Dick Pound อดีตแชมป์นักว่ายน้ำชาวแคนาดาและหนึ่งในคณะกรรมการของ IOC ที่ปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่ปี 1978 ประเมินว่า IOC มีเวลาประมาณ 3 เดือน หรืออย่างช้าที่สุด 2 เดือนก่อนงานเริ่ม เพื่อตัดสินใจว่าจะยกเลิกงานโตเกียว โอลิมปิก 2020 หรือไม่ นั่นหมายความว่า คณะกรรมการมีเวลาตัดสินใจได้จนถึงปลายเดือนพฤษภาคมนี้
“ในห้วงเวลานั้น ผมกล่าวได้ว่าเพื่อนสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานน่าจะเริ่มถามเราว่า ‘งานนี้จะอยู่ภายใต้การควบคุมที่มีประสิทธิภาพพอหรือไม่ ก่อนที่เราจะเดินทางไปเยือนโตเกียว’ ” Pound กล่าวกับสำนักข่าว AP
เขากล่าวด้วยว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานโตเกียว โอลิมปิกไม่ได้มีแค่นักกีฬา แต่ก่อนที่งานจะเริ่ม บุคลากรหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยรักษาความปลอดภัย อาหาร หมู่บ้านนักกีฬา โรงแรม ไปจนถึงสื่อมวลชน จะต้องเตรียมพร้อมในการทำงาน
ดังนั้น หาก IOC มีมติว่าไม่สามารถจัดงานได้ “คุณคงจะได้เห็นการยกเลิกจัดงาน” Pound กล่าวย้ำ “คุณคงไม่เลื่อนการจัดงานที่ใหญ่ขนาดโอลิมปิกออกไป มีฟันเฟืองหลายตัวที่เกี่ยวข้อง หลายประเทศเข้าร่วม และมีปัจจัยด้านฤดูกาลที่สามารถจัดแข่งกีฬาได้ รวมถึงดีลการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ดังนั้นคุณไม่สามารถจะพูดแค่ว่า ‘เราจะจัดงานในเดือนตุลาคมแทน’ ”
ส่วนการย้ายไปจัดที่เมืองอื่นก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน “เพราะมีแค่ไม่กี่เมืองในโลกนี้ที่จะสามารถสร้างสาธารณูปโภคได้ทันในเวลาอันสั้น”
การกระจายการจัดแข่งขันกีฬาแต่ละประเภทออกไปในหลายประเทศก็ไม่อยู่ในตัวเลือก “เพราะนั่นจะไม่นับว่าเป็นการแข่งโอลิมปิก ทุกอย่างจะกลายเป็นการจัดแชมเปี้ยนชิพระดับโลกหลายรายการเท่านั้น” นอกจากนี้ยังยากที่จะกระจายการแข่งขันไปทั่วโลกโดยต้องแข่งจบภายใน 17 วัน และมีเวลาให้เตรียมงานแค่ไม่กี่เดือนด้วย
กรณีผลกระทบต่อการถ่ายทอดสด ผลกระทบหลักหากมีการเลื่อนจัดงานไปเดือนอื่น จะกระทบกับสถานีโทรทัศน์หลายรายที่ต้องเปลี่ยนไปถ่ายทอดกีฬาชนิดอื่นแล้วตามตารางที่วางล่วงหน้า เช่น สถานีโทรทัศน์ในทวีปอเมริกาเหนือ ปกติในฤดูใบไม้ร่วงจะเริ่มถ่ายทอดสดการแข่งขันทั้งอเมริกันฟุตบอลระดับชาติและลีกระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงฟุตบอลยุโรป บาสเก็ตบอล เบสบอล และฮอกกี้
อย่างไรก็ตาม Pound กล่าวว่า หากการเลื่อนจัดงานจะเป็นไปได้ อาจเป็นการเลื่อนไปเลย 1 ปี ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพด้วยว่าจะสามารถเลื่อนไปอีก 1 ปีได้ไหม และรายการแข่งขันระดับสากลของแต่ละชนิดกีฬาจะปรับตารางตามได้หรือไม่
ณ ขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาไปแล้วมากกว่า 80,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,700 ราย แม้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในจีน แต่เริ่มขยายวงผู้เสียชีวิตออกไปถึงเกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง และทวีปยุโรป รวมถึงญี่ปุ่นเอง มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย
ส่วนการจัดงานโตเกียว โอลิมปิก 2020 หากเป็นไปตามตารางจะทำพิธีเปิดกันในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ และมีนักกีฬาเตรียมเข้าร่วมแข่งขัน 11,000 คน ต่อจากนั้นจะเป็นการแข่งขันโตเกียว พาราลิมปิก 2020 เริ่มขึ้นวันที่ 25 สิงหาคม มีนักกีฬาร่วมแข่งขันประมาณ 4,400 คน
“เท่าที่เราประเมินขณะนี้ คุณ (นักกีฬา) จะยังได้ไปโตเกียวอยู่” Pound กล่าว “ตัวบ่งชี้ในระดับนี้ยังตัดสินว่างานจะยังมีตามปกติ ดังนั้นจงมุ่งมั่นกับการฝึกกีฬาของคุณ และมั่นใจได้ว่า IOC จะไม่ส่งคุณไปอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด” เขาย้ำว่า IOC ฟังคำปรึกษาจากองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างเคร่งครัดก่อนตัดสินใจใดๆ
โอลิมปิกยุคใหม่ที่เรารู้จักเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 1896 และที่ผ่านมาเคยยกเลิกจัดงานไปเฉพาะช่วงสงคราม นั่นคือในปี 1940 ซึ่งญี่ปุ่นควรจะได้เป็นเจ้าภาพ แต่ต้องยกเลิกไปเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ญี่ปุ่นทำการรบกับประเทศจีน ในขณะที่การระบาดของไวรัสซิก้าเมื่อปี 2016 ไม่ได้หยุดการทำหน้าที่เจ้าภาพของบราซิลในงานโอลิมปิกที่ ริโอ เดอ จาเนโร