กลุ่มบริษัทดุสิตธานี แจ้งผลประกอบการประจำปี 2562 ระบุรายได้อยู่ที่ 6,117 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 320 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 คิดเป็น9.9% และ10.3% ตามลำดับ ฝ่ายบริหารเผยมุ่งมั่นรักษาอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรสุทธิ แม้ว่า ปีที่ผ่านมาจะเป็นช่วงยุติการให้บริการโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ รวมทั้งเผชิญกับภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าและเป็นช่วงเวลาของการลงทุนปรับปรุงโรงแรมเดิมอีกหลายแห่ง ยอมรับแบกต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่ม หลังเดินหน้านโยบายการดูแลพนักงานอย่างเต็มที่โดยไม่ปลดพนักงานแม้แต่คนเดียวหวังผลระยะยาวเมื่อเปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่ พนักงานจะมีทักษะพร้อมให้บริการทันที ขณะที่กลยุทธ์การขยายธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจอาหาร ช่วยเสริมพอร์ตรายได้ให้แข็งแรงขึ้น
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTCเปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังคงรักษาอัตราการขยายตัวของรายได้และกำไรสุทธิไว้ได้อย่างน่าพอใจ แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว จะเป็นช่วงที่ยากลำบากทั้งจากปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้นักท่องเที่ยวไปจุดหมายปลายทางอื่น ซึ่งกระทบกับธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในประเทศไทยโดยตรง และส่วนของปัจจัยภายในจากการยุติการให้บริการโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แต่บริษัทฯ ตั้งใจที่จะดูแลและเก็บรักษาพนักงานของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งเดิมไว้ทุกคน เพื่อรักษาแบรนด์และต่อยอดธุรกิจในระยะยาว ทำให้บริษัทฯ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่บริษัทฯ ประเมินไว้อยู่แล้ว ดังนั้น ที่ผ่านมาบริษัทจึงได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาอัตราการขยายตัวของรายได้และกำไรไม่ว่าจะเป็นการจัดโครงสร้างทางการเงินด้วยการจัดโครงสร้างทรัพย์สินให้มีศักยภาพมากขึ้น อาทิ การขายโรงแรมดุสิตธานี มัลดีฟท์ ให้กับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี หรือ DREITการจัดการบริหารทรัพย์สินและเงินลงทุนเพื่อรับรู้กำไร รวมถึงการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ และการลงทุนเพื่อรักษาแบรนด์และต่อยอดทางธุรกิจในระยะยาว เพื่อช่วยเติมพอร์ตให้รายได้ของกลุ่มดุสิตธานีมีความหลากหลายและสร้างสมดุลมากยิ่งขึ้น
“ปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งความท้าทายของธุรกิจโรงแรมที่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรามองเห็นแนวโน้มและทิศทางแบบนี้มาโดยตลอด ดังนั้น เราจึงวางกลยุทธ์ที่จะจัดการกับโครงสร้างทางการเงินและโครงสร้างทรัพย์สิน ด้วยการจัดการบริหารทรัพย์สินและเงินลงทุนเพื่อรับรู้กำไร เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ยากลำบากเหล่านี้ นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา เราได้มีการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวอีกกว่า 2,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) การลงทุนเพื่อรักษาแบรนด์และต่อยอดธุรกิจได้ในระยะยาวเช่น การลงทุนในโรงแรมดุสิต สวีท ราชดำริ และโรงแรมอาศัย ไชน่าทาวน์ การเปิดให้บริการร้านอาหาร “บ้านดุสิตธานี” การให้บริการ“น้ำสปา” ที่ต่อยอดมาจากเทวารัณย์ สปา 2) การลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เช่น การขยายธุรกิจบริหารจัดการวิลล่าระดับหรู Elite Havens เพิ่มเติม รวมถึงการจัดตั้งบริษัท ดุสิตฟู้ดส์ จำกัด เพื่อการขยายการลงทุนสู่ธุรกิจอาหาร ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด ซึ่งให้บริการจัดการอาหาร Catering แก่โรงเรียนนานาชาติ การลงทุนร่วมกับ Real Foods (Pty) Ltd เพื่อประกอบธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพในประเทศไทย โดยปัจจุบันรายได้จากธุรกิจอาหารเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้ธุรกิจอาหารสามารถเสริมพอร์ตรายได้ของกลุ่มดุสิตธานีให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น” นางศุภจีกล่าว