เเม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกล มีความสะดวก รวดเร็วทันใจ เเต่ความหลงใหลในความคลาสสิก ยังไม่เคยเลือนหายในทุกยุคสมัย เสน่ห์ของการ “กดชัตเตอร์เพื่อ 36 รูป” เป็นหนึ่งในนั้น
ปรากฏการณ์การคืนชีพของ “กล้องฟิล์ม” จึงกลับมาอีกครั้งเเละนับเป็นหนึ่งในเทรนด์ฮิตของคนรุ่นใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ในขณะที่กล้องดิจิทัลมีการยกระดับฟังก์ชันทันสมัย กดถ่ายได้ไม่ซ้ำเเละเช็กดูรูปได้ทันที เเต่หลายคนก็ยังโหยหาการรอคอยเเละการได้ “ลุ้น” ภาพที่ออกมาจากระบวนการล้างฟิล์ม บวกกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสร้างความแตกต่างเเละสะท้อนเอกลักษณ์ของตัวเองผ่านภาพถ่ายที่ลงในโซเชียล การกลับมาของกล้องฟิล์มจึงตอบโจทย์นี้ได้ดี
กระเเสกล้องฟิล์มไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น เเต่ตอนนี้คนดังจำนวนมากก็เป็น “สาวกกล้องฟิล์ม” เต็มตัวเเล้ว ไม่ว่าจะเป็น “ลิซ่า Blankpink” “เวียร์ ศุกลวัฒน์-เบลล่า ราณี” รวมถึง “นาย ณภัทร” ที่มีผลงานภาพถ่ายออกมาให้เราได้เห็นผลบ่อยๆ ส่วนคอมมูนิตี้อย่างกรุ๊ป “คนรักกล้องฟิล์ม” ในเฟซบุ๊ก ปัจจุบันก็มีสมาชิกถึง 1.7 เเสนคนเเล้ว
เรียกได้ว่ากระเเส “กล้องฟิล์มคัมเเบ็ก” นี้มาจริง ไม่ได้มาเล่นๆ
หลายคนที่กำลังเล่นกล้องฟิล์มอยู่ อาจมีข้อสงสัยว่า ทำไม “ฟิล์ม” ในเมืองไทยจึงมีราคาเเพงเเละยังขาดตลาด รวมไปถึงเทรนด์ของคนรักกล้องฟิล์มส่งผลต่อวงการกล้องดิจิทัลอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันกับ “ฟูจิฟิล์ม” เจ้าใหญ่ต้นตำรับผู้ผลิตฟิล์มที่มีอายุกว่า 86 ปี
ทำไมฟิล์มในไทยถึงขาดตลาด ?
“เรามองเห็นกระเเสฟิล์มในไทยได้รับความนิยมในไทยชัดเจนเมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงมีการสั่งออเดอร์เพิ่มมากขึ้น เเละทุกครั้งที่นำเข้ามาก็จะขายหมดทั้งสิ้น พอสินค้าไม่มีเพียงพอก็นำไปสู่การขายต่อเเบบอัพราคา ซึ่งก็ทำให้ราคาฟิล์มในตลาดเเพงขึ้น” สิทธิเวช เศวตรพัชร์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสผลิตภัณฑ์กล้องดิจิตอล อิมเมจจิ้ง บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
เขาอธิบายต่ออีกว่า ปัจจุบันมีการนำเข้าฟิล์มของฟูจิมาในไทยราว 10,000 ม้วนต่อเดือน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ตาม การจะเพิ่มกำลังการผลิตหรือไม่นั้น “ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทเเม่”
“สาเหตุที่การนำเข้าฟิล์มมาที่ไทยยังน้อย เป็นเพราะบริษัทเเม่ที่ญี่ปุ่นมองว่าตลาดในยุโรปเเละอเมริกาใหญ่กว่าเรามาก จึงต้องผลิตสินค้าเพื่อส่งตลาดนั้นก่อน อีกทั้งกระบวนการผลิตฟิล์มก็ไม่ง่าย ต้องใช้เวลาพอสมควร จึงอาจไม่ทันต้อความต้องการที่กำลังเป็นเทรนด์อยู่ขณะนี้ ซึ่งทางฟูจิฟิล์ม ประเทศไทยก็มีการรายงานความต้องการนี้โดยตลอด”
“บริษัทเเม่ที่ญี่ปุ่น กำลังพิจารณาว่ากระเเสความนิยมฟิล์มในไทยตอนนี้เป็นระยะสั้นหรือระยะยาว ซึ่งจะมีผลต่อการสั่งผลิตต่อไป”
กระเเสฮิตฟิล์ม สู่กล้องดิจิทัลเเบบ Film Simulation
ด้าน ปัทมาพร จันทร์จารุกุลกิจ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) บอกถึงมุมมองที่น่าสนใจถึงเทรนด์กล้องฟิล์มคัมเเบ็กที่ส่งผลต่อวงการ “กล้องดิจิทัล” ว่า จากความนิยมกล้องฟิล์มที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทได้พัฒนาฟังก์ชัน Film Simulation (ระบบการจำลองฟิล์ม) ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบสไตล์รูปภาพจากกล้องฟิล์มโดยนำมาไว้ในกล้องดิจิทัลให้สะดวกเเละถ่ายได้จำนวนมาก ซึ่งพัฒนาให้ภาพที่ได้ออกมาคล้ายคลึงกับฟิล์มของฟูจิมากที่สุด
“เราเรียกว่าเป็นการผสมผสานยุคฟิล์มและยุคดิจิทัลในหนึ่งเดียว เห็นได้จากกล้อง FujiFilm X-Pro3 ที่เราได้ชูความเป็น Digital Film Camera สามารถถ่ายภาพชนิดของฟิล์มที่มีให้เลือกใช้มากถึง 11 แบบเพื่อเจาะตลาดคนที่ชอบภาพจากฟิล์มโดยเฉพาะ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมากเเละจะมีการพัฒนาต่อไป”
“ความท้าทายต่อไปของเราก็คือการทำให้คนที่ใช้กล้องฟิล์มมาซื้อกล้องดิจิทัลที่มี Film Simulation ด้วย ให้ลูกค้าเลือกใช้กับสถานการณ์ที่เหมาะสมตามไลฟ์สไตล์ของพวกเขา”
หนึ่งในสมาชิกในกรุ๊ป “คนรักกล้องฟิล์ม” บอกกับ Positioning ว่า ปัจจุบันเขาใช้ทั้งกล้องฟิล์มเเละกล้องดิจิทัลไปตามโอกาส เเละสิ่งที่ทำให้เขาชื่นชอบกล้องฟิล์ม เเม้ในวันที่กล้องดิจิทัลมีฟังก์ชันครบเเล้ว ก็คือเสน่ห์ของการต้อง “ตั้งใจ” ในการกดชัตเตอร์เเต่ละครั้ง ซึ่งมันทำให้ภาพเเต่ละภาพมีเรื่องราวที่ไม่เหมือนกัน ได้ความรู้สึกพิเศษตอนล้างรูปเสร็จ ส่วนราคาฟิล์มเเละกล้องถือว่าเเพงขึ้นกว่าเมื่อ 5-6 ปีก่อนมาก บางครั้งหากมีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเขาก็จะซื้อกลับมาเพื่อสำรองใช้เสมอ
ตลาดกล้องดิจิทัล ขาลงหนักมาก
ฟากกล้องดิจิทัลยังต้องต่อสู้อีกยาว หลังดีมานด์ของกล้องที่ลดต่ำลงต่อเนื่อง ไม่แต่เพียงปีนี้แต่ยังจะส่งผลใปในปีต่อๆ ไปด้วย
โดยภาพรวมของตลาดกล้องดิจิทัลในประเทศไทย (ไม่รวมยอดขายออนไลน์) ในปี 2562 มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 190,000 ตัว มูลค่าตลาดประมาณ 5,800 ล้านบาท รวมกล้องคอมแพค กล้อง DSLR และกล้องมิลเลอร์เลส โดยมีอัตราการเติบโตติดลบ ประมาณ -29% ในเชิงปริมาณ และติดลบ -28% เชิงมูลค่า
สำหรับ “กล้องมิลเลอร์เลส” ในปี 2562 ตลาดโดยรวมจำนวนตัว ประมาณ 117,000 ตัว ติดลบประมาณ -29% ในแง่จำนวนตัว และ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,900 ล้านบาท ลดลงประมาณ -20% เมื่อเทียบกับปี 2561
โดยขณะที่ กล้อง DSLR จำนวนตัวประมาณ 3,400 ตัว มีอัตราลดลงถึง -36% เมื่อเทียบกับปี 2561 ขณะที่เชิงมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท มีสัดส่วนลดลงถึง -44%
สำหรับสาเหตุหลักของการเติบโตที่ลดลงนั้น เกิดจากการที่ผู้บริโภคได้เปลี่ยนพฤติกรรมการถ่ายภาพจากกล้องดิจิทัล มาเป็นการถ่ายภาพโดยสมาร์ทโฟน เเละคำนึงถึงความง่ายในการใช้งานผ่านทางสั่งการแบบ Easy GUI และความสะดวกในการแชร์ภาพ หรือไฟล์ วิดีโอไปยังโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook,Line และ Instagram
ปรับกลยุทธ์ จับลูกค้าคนรุ่นใหม่ Vlogger – Youtuber
การปรับกลยุทธ์ใหม่ของ “ฟูจิฟิล์ม” ในปีนี้ จึงเป็นการมุ่งเน้นการจับตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมเป็น Vlogger และ Youtuber ซึ่งมีกำลังซื้อสูงเเม้เศรษฐกิจไม่อำนวย เเละกระแสการถ่ายคลิปวิดีโอเริ่มได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยหวังว่าจะเป็นการปลุกกระแสความต้องการของกลุ่ม Content Creator ทำให้ตลาดมีการแข่งขันและขยายตัวในอุตสาหกรรมการถ่ายภาพโดยรวม
“เทรนด์ซื้อสมาร์ทโฟนเเทนกล้องใหญ่ มีเเต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราต้องปรับตัวตาม โดยไม่ต้องไปเเย่งลูกค้าในส่วนนั้น เเต่ต้องดึงดูดใจให้คนที่ซื้อสมาร์ทโฟนอยู่เเล้ว อยากซื้อกล้องของเราด้วย” ผู้บริหารฟูจิฟิล์มกล่าว
ด้านความเคลื่อนไหวของ “โซนี่” ก็ออกเเคมเปญ #VlogwithSony เพื่อหันมาขยายฐานลูกค้าที่เน้นวิดีโอมากขึ้นเช่นเดียวกัน จากเดิมที่โฟกัสเฉพาะภาพนิ่ง
ส่วนเจ้าใหญ่อย่าง “นิคอน” ก็เริ่มเกมการตลาด ต่อยอดฐานลูกค้าปัจจุบันด้วยการหนุนให้อัพเกรดกล้อง-เลนส์เป็นระดับสูงขึ้น พร้อมขยายตลาดรุกกลุ่มถ่ายวิดีโอซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ด้วยการสื่อสารผ่านออนไลน์ และกิจกรรมเวิร์กช็อปต่างๆ
ตลาดกล้องดิจิทัลยังคงลดลงต่อไปเเน่นอน ยิ่งต้องเผชิญทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเเละปัจจัยลบต่างๆ ที่ทำให้คนใช้จ่ายน้อยลง จึงน่าจับตาต่อไปว่าบริษัทกล้องจะเดินเกมสู้เเละมีหมัดเด็ดอะไรมาเอาใจลูกค้าอีก