ปลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า GDP ไทยปี 2563 จะเติบโต 2.7% แต่จากสถานการณ์การระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่ขยายไปสู่ทั่วโลกทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกตามมา โดยคาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนักคาดว่า GDP ปีนี้จะเติบโตเพียง 0.5% เท่านั้น โดยคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายอีกทีในช่วงครึ่งปีหลัง
หั่น GDP ไทยจาก 2.7% เหลือ 0.5%
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาถือเป็นตัวแปรสำคัญของเศรษฐกิจทั่วโลก และเนื่องจากสถานการณ์ยังไม่นิ่ง ส่งผลให้การประเมินสภาวะเศรษฐกิจได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรจึงตั้ง 3 สมมุติฐานเพื่อประเมิน ได้แก่ 1.จีน สามารถควบคุมจำนวนการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อได้ในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า 2.ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศอิตาลีและเกาหลีใต้สามารถควบคุมได้ในไตรมาส และ 3.ไทย ยังไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาสั้น ๆ คาดว่าจะทำให้เห็น GDP ในปีนี้โตเพียง 0.5% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 2.7%
“ไตรมาสแรก GDP ไทยติดลบไม่ถึง 1% แต่ไตรมาส 2 น่าจะแย่กว่า แต่เราคาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 3 GDP น่าจะบวก 1% ส่วนไตรมาส 4 บวก 3% ถ้าสถานการณ์ไม่ลากยาวยันปลายปี และอยากย้ำว่าสถานการณ์รอบนี้ไม่เหมือนปี 2540 เนื่องจากรอบนี้เป็นเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ขณะที่ปี 2540 มาจากปัญหากลไกเศรษฐกิจและภาคธุรกิจที่ไม่สมดุลซึ่งแก้ยากกว่าและฟื้นตัวได้ช้ากว่ามาก”
ท่องเที่ยวสูญเงิน 4 แสนล้าน ตกงาน 2 แสนตำแหน่ง
ผลกระทบหนักสุดเป็นภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะหายไป 8.3 ล้านคน สูญรายได้กว่า 4.1 แสนล้านบาท หรือ 2.4% ของ GDP หรือหดตัว -20.8% จากปีก่อนหน้า คาดว่าจะมีผู้ว่างงานที่มาจากภาคการท่องเที่ยวกว่า 2 แสนตำแหน่ง จากปัจจุบันมี 4 ล้านตำแหน่ง ส่วนภาคการส่งออกจะหดตัวลึกขึ้นเป็น -5.6% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ -1.0% เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกทรุด อีกทั้งซับพลายเชนของจีนยังสะดุด ขณะเดียวกันการบริโภคและลงทุนในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน เพราะผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายและเดินทางออกนอกบ้าน ส่งผลให้ค้าปลีกไทยอาจได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท
“ทั้งหมดนี้ทำให้ต้องจับตาปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจและสถานการณ์การจ้างงาน ซึ่งเป็นประเด็นเฉพาะหน้าที่ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลเป็นลำดับแรก ๆ อีกทั้งยังต้องติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะออกงบประมาณเพิ่มเติมด้วย”
ธปท. ลดดอกเบี้ย 0.25-0.50%
หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% คาดว่า ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 0.25-0.50% ในระยะที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะตามมาด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ส่วนมาตรการของกระทรวงการคลังที่เสนอมาตรการดูแลและเยียวยา โดยคาดว่าจะใช้เงินมากกว่า 100,000 ล้านบาท นั้นมองว่า ตอนนี้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินและรุนแรง เพราะประชาชนไม่มีรายได้จับจ่าย ดังนั้นต้องทำอย่างไรก็ตามให้มีคนมีเงินเพื่อจับจ่าย แต่เงินต้องลงเร็วและมากพอ โดยเฉพาะคนที่ตกงานไม่ทันตั้งตัว
สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ ทั้งรายได้จากดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะรายได้ดอกเบี้ยหลักจากเงินให้สินเชื่อที่จะเผชิญทั้งผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม และสินเชื่อที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการของอัตราการเติบโตลงมาที่ระดับไม่เกิน 1% ในปี 2563 (เดิมมองกรอบล่างไว้ที่ 3.0%) เทียบกับ 2.2% ณ สิ้นปี 2562 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพอาจเพิ่มขึ้นตามทิศทางเอ็นพีแอลที่มีโอกาสขยับขึ้นจาก 2.98% เมื่อสิ้นปี 2562 โดยต้องรอดูสถานการณ์และตัวเลขไตรมาสแรกที่จะออกมาภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ด้วยเพื่อประเมินทิศทางที่ชัดเจนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญกว่าของธนาคารพาณิชย์ไทย ณ ขณะนี้ คือการช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่ร่วมมือกับทางการ เพื่อให้ลูกค้าผ่านพ้นช่วงยากลำบากนี้ไปก่อน ขณะที่ผลกระทบต่อผลประกอบการในปีนี้ เป็นสิ่งที่นักลงทุนรับรู้ไประดับหนึ่งแล้ว และเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสถาบันการเงินทั่วโลก
#กสิกร #ศูนย์วิจัยกสิกร #โควิด19 #COVID19 #GDP #Positioningmag