ไขข้อข้องใจ ในวันที่ทุกค่ายโหมลุย 5G ‘Dtac’ กำลังทำอะไรอยู่

หลังจากที่ค่าย สีแดง ได้ระบุว่า เตรียมแจกซิม 5G ไว้ให้ผู้บริโภคบางส่วนได้ทดลองใช้งาน ผ่านไปไม่นาน ค่าย สีเขียว ก็ออกมาประกาศว่าพร้อมให้บริการ 5G บนเครื่องสมาร์ทโฟน 5G และซิมการ์ดจริง ด้วยแพ็กเกจที่ใช้งานจริง ไม่ใช่การทดสอบ! ขณะที่ค่ายสีฟ้าอย่าง ดีแทค (Dtac) กลับดูเงียบๆ ดังนั้นจึงได้ออกมาไขข้อข้องใจว่ากำลัง ซุ่ม ทำอะไรกับ 5G บ้าง

มั่นใจเน็ตเวิร์ก ‘เร็วกว่า’ คู่แข่ง

5G จะมีบทบาทของทราฟฟิกที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่ 4G ยังเป็นโครงสร้างหลักของโอเปอเรเตอร์ในเมืองไทยในปัจจุบัน อย่างสตรีมมิ่งความละเอียด 4K จะใช้ความเร็วเน็ตเพียง 20 Mbps เท่านั้น ซึ่งเครือข่าย 4G ในปัจจุบันตอบโจทย์แล้ว ยิ่งมีการทำ Massive MIMO ยิ่งช่วยเพิ่มความเร็วดาวน์โหลดเฉลี่ยของทั้งเครือข่ายให้สูงขึ้น ดังนั้น ดีแทค ยืนยันว่าความถี่ที่ดีแทคถือครองในปัจจุบันเพียงพอกับการให้บริการ และมีแผนที่จะเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 3500 MHz และ 28 GHz ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ปัจจุบัน เน็ตเวิร์กดีแทค เร็วกว่า ผู้ให้บริการรายอื่น เพราะเริ่มติดตั้งสถานีฐานเพื่อให้บริการคลื่นความถี่ย่านกลางมาตั้งแต่ปี 2018 และตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีสถานีฐานในการให้บริการคลื่น 2300 MHz จำนวน 2 หมื่นสถานีฐาน ในขณะที่คู่แข่งเพิ่งเริ่มทยอยติดตั้งเพื่อนำมาให้บริการ

“กว่าโอเปอเรเตอร์รายอื่นที่ติดตั้งให้บริการคลื่นความถี่ 2600 MHz ให้ครอบคลุมเท่า 2300 MHz ของดีแทค ต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้นผู้บริโภคที่ใช้งานเครือข่าย 2300 MHz ของดีแทคในเวลานี้ จะได้รับประสบการณ์ที่ดีกว่าแน่นอน” สมัคร สิมพา หัวหน้าสายงานพัฒนาโครงข่าย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าว

สมัคร สิมพา หัวหน้าสายงานพัฒนาโครงข่าย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

ปัญญาหลักยังอยู่คลื่นย่าน ต่ำ

ตามที่ระบุ ดีแทคได้เตรียมความพร้อมคลื่นย่านกลางที่นำมาเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในแง่ของความเร็วในการใช้งาน เพราะคลื่นที่ดีแทคโรมมิ่งกับทีโอทีบน 2300 MHz เพียงพอกับการรองรับการใช้งานของลูกค้าอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเสริมคลื่น 2600 MHz มาให้บริการเพิ่มในเวลานี้ แต่ปัญหาหลักที่รู้มาโดยตลอด คือ ขาดคลื่นความถี่ย่าน ‘ต่ำ’ ที่จะนำมาขยายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุมมากกว่าเดิม เพราะขาดทรัพยากรที่จะนำมาใช้งาน

ดังนั้น คลื่นความถี่ 700 MHz ที่ดีแทคเข้าไปรับการจัดสรรจาก กสทช. ที่คาดว่าจะนำมาใช้งานได้ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งคลื่น 700 MHz จะเป็นย่านสำคัญในการขยายเครือข่าย 4G และ 5G ให้ครอบคลุมในปีนี้ ขณะที่ 900 MHz ในปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนกับทาง กสท โทรคมนาคม ทำให้ยังไม่สามารถขยายพื้นที่ให้บริการ 3G ได้ตามที่คาดการณ์ไว้

จะเห็นได้ว่า ดีแทค มีแผนงานที่ชัดเจน และมุ่งหน้าไปคือเรื่องการขยายความครอบคลุมของสัญญาณ เนื่องจากปัจจุบันดีแทคอยู่ในจุดที่ไม่สามารถนำคลื่นย่านกลางมาใช้เพื่อขยายความครอบคลุมได้ เพราะในการลงสถานีฐานคลื่นย่านกลางต้องลงถึง 3 สถานี เพื่อให้เทียบเท่ากับสถานีฐานคลื่นย่านต่ำ 1 สถานี

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ากว่าจะได้คลื่นความถี่ย่านต่ำมาใช้งาน คือ ช่วงปลายปี ดังนั้นบางพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องสัญญาณก็อาจจะยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด เพราะเทคโนโลยีที่ Massive MIMO ที่ช่วยขยายเรื่องความเร็วในการใช้งานจะช่วยเพิ่มพื้นที่ Coverage เพียงบางจุดเท่านั้น

 

5G ใช้ใน Fixed Wireless Broadband รายแรกของไทย

การประมูลคลื่น 5G ครั้งที่ผ่านมา ดีแทคได้คลื่นความถี่ 26 GHz แต่ด้วยการที่ดีแทคเลือกช่วงคลื่นความถี่บนสุดที่สามารถนำไปใช้งานบนอุปกรณ์ของ 28 GHz ได้ด้วย ทำให้ ดีแทค จะกลายเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่นำเครือข่าย 5G มาให้บริการ Fixed Wireless Broadband

“ช่วงคลื่น 26 GHz ที่ดีแทคเลือกมาปัจจุบันมีอีโคซิสเตมส์ที่รองรับอยู่แล้ว เพราะใช้อุปกรณ์ชุดเดียวกับคลื่น 28 GHz ซึ่งทางดีแทคเลือกช่วงคลื่นความถี่ที่ติดกับคลื่น 28 GHz มาเพื่อที่ในอนาคตกรณีที่มีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 28 GHz จะสามารถนำมาให้บริการร่วมกับคลื่น 26 GHz ได้เป็นผืนเดียวกันได้ด้วย”

อย่างไรก็ตาม ดีแทค ระบุว่า การเปิดให้บริการ Fixed Wireless Broadband จะเกิดขึ้นในพื้นที่บางจุด ที่จะเปิดให้ลูกค้าที่มีอุปกรณ์รองรับเข้ามาใช้งาน และจะทยอยขยายพื้นที่ให้บริการต่อไปภายในปีนี้ เนื่องจากต้นทุนของเทคโนโลยียังค่อนข้างสูง และระยะในการให้บริการคลื่น 26 GHz ที่มีข้อจำกัดเพียง 200-300 เมตร เท่านั้น เพื่อให้บริการได้ระดับ 1 Gbps

ในส่วนการให้บริการ 5G ที่ใช้งานผ่านอุปกรณ์มือถือ จะเกิดหลังจากหลังจากได้คลื่น 700 MHz โดยจะไม่ได้เน้นเรื่องของความเร็วในการใช้งาน แต่เน้นความครอบคลุมการใช้งานทั่วประเทศ เนื่องจากคลื่น 700 MHz ที่มีแบนด์วิดท์ 2×10 MHz สามารถให้บริการ 5G ได้ความเร็วประมาณ 2-300 Mbps แต่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ดังนั้นจะสามารถใช้ต่อยอดบริการอื่น ๆ ในอีโคซิสเตมส์ของ 5G เช่น ใช้งาน IoT ส่วนในเรื่องของอัตราการเข้าถึง และความหน่วงในการใช้งาน ขึ้นอยู่กับสถานีฐานที่ติดตั้ง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนแบนด์วิดท์ที่ใช้

“การประมูลคลื่นความถี่รอบนี้ ไม่ใช่รอบสุดท้าย และเชื่อว่าอนาคตทางหน่วยงานกำกับดูแลจะนำคลื่นมาประมูลเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ดังนั้น การที่ดีแทคยึดอยู่กับแผนงานนี้ ถือเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลมากที่สุดแล้ว บนคลื่นความถี่ที่เกินพอในปัจจุบัน”

Source

#Dtac #5G #สัญญาว่าจะไม่หยุด #Positioningmag