ฉากใหม่ของ “พอลล์ กาญจนพาสน์” เติม “อิมแพ็ค” ให้เต็มด้วย “ร้านอาหาร-แคเทอริ่ง”

ครบ 2 ทศวรรษการก่อตั้ง “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” โดยมี “พอลล์ กาญจนพาสน์” เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญ ผู้บริหารให้อิมแพ็คเติบโต และเขากำลังเริ่มทศวรรษใหม่ด้วยการแตกไลน์ธุรกิจร้านอาหารอย่างจริงจัง ช่วยเสริมแกร่งให้ธุรกิจสถานที่จัดอีเวนต์ครบวงจรยิ่งขึ้นด้วยบริการแคเทอริ่งทุกระดับ ไม่ปล่อยให้โอกาสใดๆ หลุดมือ

พอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด เพิ่งปิดดีลนำแฟรนไชส์ร้านกาแฟ The Coffee Academics หรือ TCA ร้านกาแฟสเปเชียลตี้ระดับพรีเมียมจากฮ่องกงเข้ามาเปิดสาขาแรกในไทย ณ โครงการเวลา หลังสวน 

ความเป็นนักธุรกิจเจนสนามผู้บริหารอิมแพ็ค เมืองทองธานีมานานเกิน 2 ทศวรรษ จุดมุ่งหมายของพอลล์ในการเปิดร้านกาแฟจึงไม่ใช่เป็นงานอดิเรก แต่เป็นการโหมโรงบุกธุรกิจร้านอาหารและแคเทอริ่่งเต็มตัวมากขึ้น

พอลล์ กาญจนพาสน์
พอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด

“คนอาจจะคิดว่าเราแค่มาเปิดร้านกาแฟที่หลังสวน แต่จริงๆ เรามองมากกว่านั้น” พอลล์กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Positioning “อิมแพ็คเริ่มต้นจากการเป็นพื้นที่จัดงานนิทรรศการและจัดเลี้ยง เราเริ่มต้นกลุ่มอาหารจากฟูู้ดคอร์ท จากนั้นก็ทำแคเทอริ่่ง 20 ปีผ่านไปเรามีการทำแคเทอริ่งมากขึ้น แต่บางครั้งแคเทอริ่งที่เรามีก็ไม่พอแล้ว” 

คำว่า ‘ไม่พอ’ นั้น พอลล์ขยายความว่าลูกค้าต้องการแคเทอริ่่งที่หลากหลายขึ้น อาหารเฉพาะกลุ่ม ต้องการแบรนดิ้งมาช่วยเสริม ยกตัวอย่างเช่นงาน Motor Expo ครั้งก่อน บูธของ BMW ใช้แคเทอริ่งจากเชนโรงแรมเชอราตัน ขณะที่เปอโยต์ใช้แบรนด์ Paul หรือเมอร์เซเดส เบนซ์เลือกใช้เชนโรงแรมโอเรียนทัล 

แม้ว่าการนำอาหารหรือเครื่องดื่มจากภายนอกเข้ามาจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มแต่ลูกค้ากลับยอมจ่าย นั่นทำให้พอลล์มองว่าการขยายธุรกิจร้านอาหารและแคเทอริ่่งในมือจะสร้างโอกาสได้ 

“บางคนถามว่า อิมแพ็คจะมาเปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ เนี่ยจำเป็นหรือเปล่า แต่ผมมีความคิดว่าอิมแพ็คคือหนึ่งวงกลมใหญ่ ถ้าเราจะทำอะไรมากกว่าวงกลมนั้น อย่างไรมันก็ต้องแตะกับวงกลมใหญ่ได้ ต้องสามารถเชื่อมโยงกันได้” พอลล์อธิบายวิสัยทัศน์

ผมมีความคิดว่าอิมแพ็คคือหนึ่งวงกลมใหญ่ ถ้าเราจะทำอะไรมากกว่าวงกลมนั้น อย่างไรมันก็ต้องแตะกับวงกลมใหญ่ได้

ปัจจุบันร้านอาหารของอิมแพ็คมีอยู่ประมาณ 17 แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารเพื่อต้อนรับลูกค้าในอิมแพ็คเอง แต่ก็มีบางร้านที่ขยายออกไปภายนอกด้วย เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่นสึโบฮาจิ ที่มีทั้งหมด 6 สาขา กระทั่งเมื่อมีการเปิดร้านกาแฟ TCA เป็นการปักธงเริ่มขยายพอร์ตร้านอาหารและเครื่องดื่มโดยเริ่มต้นจากภายนอกพื้นที่อิมแพ็ค 

ส่วนการบริการแคเทอริ่ง ก็มีบริการของอิมแพ็ค เคเทอริ่งไว้รองรับ สามารถจัดได้ทั้งบุฟเฟต์อาหารไทย อาหารตะวันตก โต๊ะจีน ไปจนถึงอาหารกล่อง โดยพอลล์นิยามแคเทอริ่งองเขาว่าจัดได้ในระดับ 3-4 ดาว 

 

เพิ่มร้านใหม่ 4 แบรนด์เข้าพอร์ต 

โจทย์แคเทอริ่งที่เหมือนจะพอแต่ไม่พอนี้ทำให้พอลล์ตัดสินใจนำเข้าแบรนด์ TCA ดังกล่าว วางแผนปีนี้จะเปิดครบ 3 สาขาคือ หลังสวน เกษรวิลเลจ และเซ็นทรัลเวิลด์ โดยการขยายสาขาจะสร้างให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น 

The Coffee Academics สาขาหลังสวน

ต่อมาคือร้านอาหารไทย “ทองหล่อ” เป็นแบรนด์ที่อิมแพ็คสร้างขึ้นใหม่ เน้นอาหารไทยใช้วัตถุดิบออร์แกนิกเพื่อสุขภาพ โดยเปิดสาขาแรกที่ทองหล่อ 

ขณะที่อีก 2 แบรนด์ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ประเดิมด้วย Le Notre ร้านกาแฟและเบเกอรี่จากฝรั่งเศสที่ถอยจากเมืองไทยไปเมื่อปี 2558 แต่อิมแพ็คได้เซ็นสัญญานำร้านนี้กลับมาเปิดใหม่่ในปี 2564 แต่จะมาในฐานะโรงเรียนสอนทำเบเกอรี่ เพื่อไม่ให้มีร้านทับซ้อนกับ TCA ดังนั้นร้านนี้จะชูโรงเรื่องขนมฝรั่งแทน 

สุดท้ายเป็นแบรนด์ร้านอาหารจีนจากฮ่องกงที่พอลล์ยังขออุบชื่อแบรนด์ไว้ก่อน แต่อธิบายว่าเป็นร้านอาหารจีนสไตล์โมเดิร์น แตกต่างจาก Hongkong’s Fisherman ที่อิมแพ็คมีอยู่ซึ่งเป็นร้านอาหารจีนดั้งเดิม

ร้านอาหาร Thonglor Thai Cuisine ร้านใหม่ในเครืออิมแพ็ค (photo: Facebook@thonglorcuisine)

กองทัพร้านอาหารเหล่านี้เมื่อลงหลักปักฐานได้ระดับหนึ่งจะขยายมาบริการแคเทอริ่งด้วย ตัวอย่างเช่น TCA วาง positioning ตัวเองเป็นร้านกาแฟสเปเชียลตี้ จะสร้างความรู้สึกพรีเมียมให้แขกที่มาร่วมงาน นอกจากนี้ แบรนด์เดิมที่มีความแข็งแกร่งอย่าง Hongkong’s Fisherman ซึ่งเด่นด้านอาหารจีนโดยเฉพาะติ่มซำ และสึโบฮาจิ ร้านอาหารญี่ปุ่น ก็จะขยายมาทำแคเทอริ่งด้วยเช่นกัน 

 

ขยายตลาดบริการลูกค้าภายนอก 

ในอาณาจักรหมื่นล้านของอิมแพ็ค กลุ่มธุรกิจแคเทอริ่งและร้านอาหารปัจจุบันทำรายได้ 1,000 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งเป็นรายได้จากแคเทอริ่ง 65% และร้านอาหาร 35% แต่พอลล์ตั้งเป้าในอีก 5 ปี ต้องการให้รายได้กลุ่มธุรกิจนี้โตเท่าตัวเป็น 2,000 ล้านบาท 

อิมแพ็ค เคเทอริ่ง

เมื่อจะโตเท่าตัว ทั้งสองส่วนจึงต้องขยาย สำหรับร้านอาหารการเปิดร้านใหม่สาขาใหม่ย่อมทำให้รายได้เติบโต ส่วนบริการแคเทอริ่ เขามองว่าจะต้องรับงานบริการลูกค้าภายนอก (outside catering) ให้มากขึ้น จากปัจจุบันเน้นบริการลูกค้าที่จัดเลี้ยงภายในอิมแพ็คเป็นหลัก 

โดยเป็นความท้าทายใหม่สำหรับเขาและทีมงาน เพราะอิมแพ็คเน้นธุรกิจหลักคือการจัดเลี้ยง นิทรรศการ คอนเสิร์ต แต่ทีมร้านอาหารนั้นพอลล์ยอมรับว่าเขายัง ‘ตามหลัง’ ในอุตสาหกรรม แต่กำลังพัฒนาเต็มที่ เพื่อลงสนามแข่งขันที่ยากกว่าและละเอียดอ่อนกว่าธุรกิจสถานที่จัดอีเวนต์

พอลล์ กาญจนพาสน์

“อย่างอิมแพ็คนี่มีคู่แข่งแค่ไม่กี่เจ้า พูดถึงจัดคอนเสิร์ต เราก็เป็นหนึ่งในไม่กี่ที่ที่จัดได้ แต่ถ้าพูดถึงร้านกาแฟ แค่ละแวก 10 กิโลเมตรรอบๆ นี้ไม่รู้มีกี่แบรนด์ และธุรกิจร้านอาหาร สินค้าและบริการจะมีคุณภาพไหม สุดท้ายท้าทายที่บุคลากร ถ้าพนักงานไม่มีแรงกระตุ้นก็มีผลกระทบกับอาหารทันที”

“ดังนั้นไม่มีวันที่จะบอกได้ว่าเราสำเร็จแล้ว ทุกวันจะกลายเป็นวันใหม่ตลอด” พอลล์กล่าว