‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ถือเป็น 1 ใน 17 หมายในการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของ UN และเนื่องในวัน สตรีสากล (International Women’s Day) ที่ผ่านมา (8 มี.ค.) Positioning มีโอกาสได้คุยกับ ‘วีธรา ตระกูลบุญ’ กรรมการบริหาร ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น เชลล์แห่งประเทศไทย (Shell) ถึงแนวคิดการทำงาน รวมถึงมุมมองของผู้หญิงที่ต้องมีอยู่ในอุตสาหกรรมที่ภาพลักษณ์ของผู้ชาย
“กว่าเรากว่าจะมาจุดนี้ ก็ต้องฝ่าฟัน และที่สำคัญต้องมีแรงบันดาลใจ” นี่เป็นคำพูดของคุณวีธรา ที่เล่าถึงจุดเปลี่ยนจากที่เคยทำงานอยู่ในอุตสาหกรรม FMCG และย้ายมาอยู่ในอีกอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจมาร่วมงานกับเชลล์นั้น คุณวีธราให้เหตุผลว่า เพราะตนชอบความท้าทาย
“เมื่อเราทำงานมาถึงจุดหนึ่ง จุดที่เรียนรู้ได้ทุกอย่าง ดังนั้นเราจึงต้องหาที่ใหม่เพื่อทดสอบความเป็นผู้นำของเรา ตอนแรกก็กลัว เพราะธุรกิจนี้เป็นผู้ชายทั้งนั้น”
คุณวีธรา กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ตนเคยมี คือ การ Limit ตัวเองเร็วเกินไป ดังนั้นอยากให้ผู้หญิงหรือใครก็ตามต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองเยอะ ๆ อย่างเพิ่งรีบวางเพดานอาชีพไว้เร็วเกินไป ลองมองหาโอกาส สร้างเป้าหมายระยะยาวให้ได้ ขณะที่ แรงบันดาลใจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะตนก็ชอบพูดคุยกับผู้บริหารหญิงที่ประสบความสำเร็จเพื่อหาแรงบันดาลใจ ซึ่งเรื่องนี้อาจหาคนคุยได้ยาก ดังนั้น การสร้างคอมมูนิตี้ของ Female Leader เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้าง ‘ผู้หญิง’ ในรุ่นหลัง
ที่ผ่านมา เชลล์เคยทำแคมเปญ ‘ฮีโร่รถบรรทุก’ ก็เพราะต้องการสร้างแรงบันดาลใจ ในตอนนั้นเราเห็นปัญหาว่า ผู้ขับรถบรรทุกมักจะถูกมองอย่างไม่เป็นมิตร ไม่ได้รับการยอมรับ ภาพลักษณ์ไม่ดี และเชลล์บังเอิญได้รู้จักกับ ‘พี่จันทร์’ ผู้หญิงที่ขับรถบรรทุกเป็นอาชีพ กลายเป็นว่าช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงได้ก้าวข้ามเส้นแบ่งของภาพที่มองว่า ‘งานของผู้ชาย’ ซึ่งพี่จันทร์ปัจจุบันได้เป็นครูผู้ฝึกสอนขับรถหัวลาก
“เรื่องบางอย่างก็เป็นเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งแรงบันดาลใจเป็นสิ่งสำคัญ ให้เขารู้สึกว่ามันสามารถข้ามเส้นได้ ทำอะไรที่ผู้ชายทำได้”
ขณะที่การทำงานในออฟฟิศ ไม่ใช่แค่เรื่องของแรงบันดาลใจ แต่เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ต้องมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม โดยคุณวีธรา เล่าว่า เชลล์มีค่านิยมที่เรียกว่า ‘Respect for People’ ที่เป็น DNA ของบริษัท เพราะ ‘คน’ เป็นปัจจัยหลัก ต่อให้ผู้นำดี กลยุทธ์ดี แต่ถ้าคนไม่ไปก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น คนที่จะอยู่ในเชลล์ได้ต้องเท่าเทียมกันหมดไม่ว่าเพศไหน อายุเท่าไหร่ เชื้อชาติไหน โดยเราให้ ‘โอกาส’ อย่างเท่าเทียม ตำแหน่งงานสามารถทำได้ทั้งหญิงและชาย เวลาดู candidate ต้องบลานซ์ และทุกเพศ สามารถเป็นผู้บริหารระดับสูงได้หมด
“การจะสร้าง DNA นี้ไม่ใช่แค่ผู้บริหาร แต่ต้องร่วมกันหมด ต้องรณรงค์ร่วมกัน แต่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนพนักงานก็ต้องกล้าแสดงความคิดเห็น ดังนั้นเราจึงมี Shell People Survey หรือแบบสำรวจความพึงพอใจของพนักงานไว้เป็นตัวชี้วัด”
ในส่วนของการบาลานซ์เรื่องชีวิตและงาน หรือ Work Life Balance ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญมาก เพราะตนเองก็เจอปัญหานี้ ถ้าจะโฟกัสเรื่องงานก็ต้องหาตัวช่วยในการจัดการเรื่องการใช้ชีวิต โดยเชลล์เองมีการคำนึงถึงจุดนี้ อย่างผู้หญิงที่ทำงานบ้านไกล มีลูกเล็ก เราก็ให้ความสำคัญ โดยมีข้อกำหนดหรือยกเว้นต่าง ๆ เพื่อเข้ามาช่วย อีกส่วนคือ การทำงานแบบ Agile โดยเราไม่มีห้องส่วนตัว ทำงานร่วมกันหมด ช่วยให้สามารถคุยกันง่าย ๆ ในทุกที่ ช่วยให้การตัดสินใจต่าง ๆ ง่ายขึ้นเยอะ การทำงานก็เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถูกใจคนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันราว 50% ของพนักงานเราเป็นคนเจนมิลเลนเนียล หรืออายุ 18-34 ปี
“ตอนนี้หมดยุคที่เราจะไปสั่งให้ลูกน้องทำอะไร แต่เราต้องฟังว่าเขาอยากทำอะไร และช่วยไกด์เขาในการทำ อย่างตำแหน่งไม่มีในไทยเราช่วยหาจากเมืองนอกไปทำ ซึ่งเป็นข้อดีขององค์กรใหญ่ ดังนั้นการเติบโตไม่ได้จำกัดแค่ในไทย”
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่ได้ร่วมงานกับเชลล์นั้น คุณวีธรามองว่า ที่ทำไปทั้งหมดนั้นมาถูกทางแล้ว เพราะ Shell People Survey มีผลชี้วัดที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ผู้บริหารให้ความสำคัญ มีการตั้งเป้าเติบโตในทุกปี เพราะเราอยากให้ทุกคนอยู่อย่างมีความสุข มีความภูมิใจและมีความก้าวหน้าในการทำงาน ขณะที่พนักงานในปัจจุบันมีผู้หญิงและผู้ชายอย่างละครึ่ง ส่วนภาพรวมธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นของไทยปี 2019 ไม่เติบโต แต่เราสามารถเติบโต 6% และเป็น Top 3 ของตลาด รวมทั้งได้รับรางวัล Automotive Award ติดต่อกัน 6 ปี
หากให้มองถึงความท้าทายปีนี้ คงจะมีเยอะมาก ทั้งสภาวะเศรษฐกิจ การระบาดของไวรัสโควิด-19 สุดท้าย โดยเราเองก็มีการวางแผนกันบ่อย ๆ แต่ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัยของคน เพราะเราก็เป็นห่วงคนของเราและลูกค้าเรา ตอนนี้ความสำคัญแรกคือ ความปลอดภัย
#Shell #เชลล์ #Female #Woman #Positioningmag