“GMM Music” ฝ่ามรสุมดิสรัปต์ กลับสู่ยุครุ่งเรือง! ทุ่มปั้นศิลปินหน้าใหม่-จัดคอนเสิร์ตทั่วไทย

ผ่านพ้นทศวรรษแห่งดิสรัปชั่นป่วนธุรกิจเพลง “GMM Music” ประกาศกลับมายืนอย่างเต็มตัว ทำรายได้ 4 พันล้าน เติบโต 7% จากเสาหลักใหม่อย่าง “Digital Music” สามารถทดแทนแผ่นซีดีได้ พร้อมก้าวสู่ขั้นต่อไป ตั้งงบ 300 ล้านบาท ปั้นศิลปินหน้าใหม่ แนวเพลงใหม่ ลงทุนทำ Full Album เพิ่มจำนวนคอนเสิร์ตทั่วประเทศ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปิน แย้มแผนควบรวมกิจการธุรกิจอีเวนต์งานโชว์ โตก้าวกระโดดใน 5 ปี

จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ธุรกิจที่สร้างรายได้สัดส่วน 61% ในเครือแกรมมี่ เคยตกอยู่ในสถานการณ์รายได้ถดถอยเมื่อโลกดิจิทัลทำให้ผู้ฟังหาซื้อเทปหรือแผ่นเพลงน้อยลง แต่วันนี้เมื่อบริการสตรีมมิ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ทำให้รายได้จากกลุ่ม Digital Music ในปี 2562 ขึ้นมาเป็นเสาหลัก และสามารถทดแทนรายได้จากการขายแผ่นได้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว

“ภาวิต จิตรกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงรายได้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ในปี 2562 ทะลุ 4 พันล้านบาทเป็นครั้งแรกในรอบสิบปี เติบโต 7% จากปีก่อนหน้า และทำกำไรสุทธิ 472 ล้านบาท เติบโต 13.2%

“ภาวิต จิตรกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้กลับมาโตจนยืนหยัดได้อีกครั้งมาจาก 3 ปัจจัยเหล่านี้

1.ธุรกิจกลุ่ม Digital Music ทำรายได้ 1,123 ล้านบาท เติบโต 31% เป็นครั้งแรกที่รายได้จากการสตรีมมิ่งเพลงสูงเกิน 1 พันล้านบาท ทำให้กลายเป็นเสาหลักใหม่ที่สามารถทดแทนรายได้จากการขายแผ่นได้จริง สะท้อนภาพของผู้บริโภคที่ได้อพยพจากการฟังเพลงบนแผ่นเพลงมาเป็นการฟังบนดิจิทัลแทนเป็นส่วนใหญ่

2.ธุรกิจกลุ่ม Showbiz ทำรายได้ 524 ล้านบาท เติบโต 36% กลุ่มธุรกิจการจัดคอนเสิร์ตด้วยตนเองของแกรมมี่ทำได้ดีขึ้นและมากขึ้น ผ่านการวิเคราะห์ดาต้า เพื่อกำหนดช่วงราคาที่เหมาะสม ทำนายยอดขายบัตรล่วงหน้าได้แม่นยำเพื่อคำนวณความคุ้มค่าในการจัดงาน

3.ธุรกิจกลุ่ม Publishing หรือบริหารลิขสิทธิ์เพลง ทำรายได้ 313 ล้านบาท เติบโต 25%

GMM Music

ทำให้ปัจจุบันจีเอ็มเอ็ม มิวสิคมีสัดส่วนรายได้มาจาก 6 ช่องทาง คือ ธุรกิจ Sponsorship & Artist Management (งานจ้าง อีเวนต์ โฆษณา) สัดส่วน 35%, ธุรกิจ Digital Music สัดส่วน 28%, ธุรกิจ Showbiz สัดส่วน 13%, ธุรกิจบริหารลิขสิทธิ์ สัดส่วน 8%, ธุรกิจ Trading (จำหน่ายแผ่นซีดี ดีวีดี ฯลฯ) สัดส่วน 7% และธุรกิจอื่นๆ สัดส่วน 9%

 

ขึ้นบันไดขั้นที่ 2 โหมลงทุนอีกครั้ง

ภาวิตกล่าวว่า ตามแผนงานเดิมที่จีเอ็มเอ็ม มิวสิคต้องการจะเดินบนบันได 3 ขั้นสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจ บริษัทได้ผ่านบันไดขั้นแรกคือการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับจุดมุ่งเน้น และสร้างเสถียรภาพมาแล้ว ต่อไปคือ บันไดขั้นที่ 2 ซึ่งจะเป็นการสร้าง ลงทุน และควบรวมกิจการ ก่อนจะไปสู่บันไดขั้นที่ 3 คือการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

GMM Music

สำหรับบันไดขั้นที่ 2 บริษัทวางกลยุทธ์ไว้ในช่วง 5 ปีนี้ (2563-2567) เป็นการสร้างและลงทุนขยับขยายทางธุรกิจ เพราะบริษัทมีความพร้อมแล้ว และเชื่อว่าตลาดเพลงไทยกำลังไปสู่ทิศทางขาขึ้นเช่นเดียวกับตลาดเพลงระดับโลกซึ่งเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.7%

“เราเคยเจอดิสรัปชั่นและภาวะเศรษฐกิจฝืด ทำให้บันไดขั้นแรกเราต้องยืนให้ได้ในสิ่งที่เรามีก่อน แล้วค่อยมาสร้างศิลปินใหม่ ธุรกิจใหม่” ภาวิตกล่าว

 

ปั้นศิลปินใหม่ แนวเพลงใหม่ ทำ Full Album

การลงทุนแรกคือการลงทุนในแกนหลักนั่นก็คือ “ศิลปิน” ปัจจุบันจีเอ็มเอ็ม มิวสิคมีศิลปินกว่า 300 ราย และได้ตั้ง งบลงทุนเพื่อปั้นศิลปินใหม่ 300 ล้านบาท วางเป้าเปิดตัวศิลปินใหม่ปีละเฉลี่ย 30 ราย จากที่ผ่านมามีการชิมลางผ่านโปรเจกต์ปั้นศิลปินใหม่ เช่น Gene Lab ไปแล้ว ต่อจากนี้จะบุกหนักยิ่งขึ้น และจะขยายไปในแนวเพลงใหม่ๆ ด้วย เช่น ฮิปฮอป จากปัจจุบันแกรมมี่มีแนวเพลงหลัก คือ ป็อป ร็อก ลูกทุ่ง และอินดี้ นอกจากนี้ กำลังเจรจาค่ายเพลงต่างประเทศอีก 4-5 รายเพื่อหาความร่วมมือในการช่วยเทรนนิ่งศิลปินให้ทัดเทียมระดับสากล

ไททศมิตร หนึ่งในศิลปินหน้าใหม่ของค่าย GMM Music ภายใต้โปรเจกต์ Gene Lab

ส่วนการทำเพลง จะได้เห็นการกลับมาของ Full Album ลงทุนทำเพลงใหม่ทั้งอัลบัม 10 เพลง โดยเป็นไปได้ทั้งศิลปินเก่าและใหม่ ขึ้นอยู่กับกระแสและคาดการณ์เสียงตอบรับ โดยที่เปิดตัวแล้วว่ากำลังจะมี Full Album ใหม่คือวง Klear นอกจากนี้ ยังจะร่วมมือทำคอนเทนต์เพลงได้กับศิลปินทุกค่าย ไม่ยึดติดกับการทำงานเฉพาะในบริษัท

“Full Album คือการโชว์ DNA ของศิลปินนั้นๆ ได้มากกว่าการออกเพลงฮิตเพลงเดียว เมื่อบริษัทเราพร้อมแล้ว เราก็ควรจะเปิดพื้นที่ให้ศิลปิน เพื่อให้ศิลปินที่เก่ง มีความสามารถ ต้องการจะอยู่กับเรา”

 

มิวสิคเฟสฯ ทั่วประเทศไทย

เมื่อปีก่อนการเติบโตของธุรกิจ Showbiz มาจากการจัดงานมากกว่า 30 งานต่อปี สำหรับปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 40 งาน โดยคอนเสิร์ตไซส์เล็ก (ผู้ชมไม่เกิน 2,000 คน) จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 12 งานเป็น 24 งาน เนื่องจากมีความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์นอกบริษัทด้วย

งานเชียงใหญ่เฟส มิวสิค เฟสติวัล ที่จัดขึ้นใน จ.เชียงใหม่

ส่วนคอนเสิร์ตไซซ์ใหญ่ (ผู้ชม 1-2 หมื่นคน) และใหญ่พิเศษ (ผู้ชมมากกว่า 2 หมื่นคน) ก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยกลุ่มมิวสิค เฟสติวัลปีนี้จะมี 5 งาน และขยายไปจัดทั่วประเทศไทย ปัจจุบันมีการเปิดมิวสิค เฟสติวัลไปแล้วทั้ง Big Mountain จ.สระบุรี Rock Mountain จ.เพชรบูรณ์ และเชียงใหญ่เฟส จ.เชียงใหม่ ภูมิภาคต่อไปที่จะได้เห็นคือภาคใต้

นอกจากนี้ยังจะมีการจัดคอนเสิร์ตเดี่ยวเฉพาะศิลปิน 4 งานในปีนี้ รวมถึงธุรกิจ Theme Concert 2 งาน เป็นคอนเสิร์ตที่ร่วมมือกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์

 

เปิดบริษัทร่วมกับศิลปินผลิตสินค้าจำหน่าย

ต่อไปเป็นการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ คือการตั้งบริษัทร่วมกับศิลปินในจีเอ็มเอ็มเพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ศิลปินเป็นเจ้าของ ยกตัวอย่างปีที่ผ่านมามีผลิตภัณฑ์แรกคือ น้ำหอม Colour Soul ของเป๊ก-ผลิตโชค และปีนี้จะมีการออกสินค้าใหม่อีก 4SKUs ทั้งการขยายสินค้าเพิ่มเติมของเป๊ก และศิลปินอีกรายหนึ่งที่จะมาออกสินค้าเช่นกัน โดยบริษัทคาดว่าธุรกิจใหม่นี้จะทำยอดขายได้หลักร้อยล้านภายใน 2 ปี

น้ำหอมจากเป๊ก-ผลิตโชค ที่ GMM Music เป็นผู้ออกทุน

ภาวิตยังกล่าวถึงการเติบโตก้าวกระโดดผ่านการ “ควบรวมกิจการ” ด้วย โดยแย้มว่าอุตสาหกรรมที่สนใจคือบริษัทจัดอีเวนต์งานโชว์เพราะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับค่ายเพลงอยู่แล้ว ทั้งนี้เป็นแผนระยะยาว 5 ปี ขึ้นอยู่กับดีลที่เข้ามา

นอกจากนี้ เป็นกลยุทธ์เกี่ยวกับการรับบริหารลิขสิทธิ์หรือสร้างโปรเจกต์ร่วมกันกับค่ายเพลงอื่นๆ และการเป็นพันธมิตรกับสื่อครบวงจรเพื่อขยายการเข้าถึงผู้บริโภค ตลอดจนการใช้ระบบบิ๊กดาต้าที่มีมาผลิตสินค้าแบบ Personalized และใช้ประโยชน์การคำนวณโอกาสของเพลงฮิต พฤติกรรมแฟนคลับ การขายบัตรคอนเสิร์ต ฯลฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ลูกค้าไม่หวั่นไวรัส งานจ้างลดเพียง 8%

สำหรับเป้าระยะใกล้ปี 2563 ภาวิตวางเป้ารายได้เติบโต 10% โดยเชื่อว่าเป็นไปได้จากแนวโน้มการสตรีมมิ่งเพลงและคอนเสิร์ตที่เติบโตขึ้น ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 มองแยกผลกระทบเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มงานจ้าง-อีเวนต์ พบว่างานจ้างในเดือนมีนาคมลดลงกว่าปกติเพียง 8% ซึ่งน้อยกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้

อีกส่วนคือ ธุรกิจ Showbiz เนื่องจากคอนเสิร์ตส่วนใหญ่ของบริษัทมีการวางแผนและขายบัตรล่วงหน้าหลายเดือน ทำให้คอนเสิร์ตใหญ่ในช่วงใกล้ๆ นี้ เช่น คอนเสิร์ตของอะตอม-ชนกันต์ ในช่วงปลายเดือนเมษายน และคอนเสิร์ตวงไมโครช่วงเดือนพฤษภาคม มีการขายบัตรไปก่อนแล้ว และพบว่าลูกค้ามีการติดต่อขอคืนบัตรไม่ถึง 1% สะท้อนความต้องการของลูกค้าที่จะเข้าชม ทำให้บริษัทขอรอดูสถานการณ์ช่วงใกล้งานก่อนตัดสินใจหากจะมีการเลื่อนจัดงาน

ที่ผ่านมาผลกระทบจากไวรัสทำให้บริษัทเลื่อนจัดงานไปเพียงงานเดียว เนื่องจากตัวศิลปินมีประวัติเดินทางไปญี่ปุ่น จึงพิจารณาว่าควรเลื่อนงานออกไปก่อนเพื่อความปลอดภัยของทุกคน ส่วนงานอื่นๆ นอกจากนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงไตรมาส 3-4 ทำให้ยังไม่มีการเลื่อนงานใดๆ แต่อาจมีการเลื่อนตารางเปิดขายบัตรออกไปก่อนเพื่อให้สอดคล้องกับความรู้สึกของผู้บริโภค

ดังนั้น ภาพรวมปีนี้ภาวิตยังเชื่อว่า จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จะเดินได้ตามเป้าหมาย นอกจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสจะยกระดับขึ้นสู่ภาวะวิกฤต มีคำสั่งภาครัฐยกเลิกการจัดงานชุมนุมชนทุกชนิด ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยลบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หวังว่าจะไม่เกิดขึ้น