บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เตรียมความพร้อมเปิด คลินิกธนบุรี บางซื่อ รับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 นำแนวคิดสร้างสถานพยาบาลฉุกเฉินตามอู่ฮั่นโมเดล
นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG พูดถึงแนวคิดคลินิกคัดกรอง COVID-19 แห่งใหม่ว่า แนวคิดการสร้างสถานพยาบาลฉุกเฉินหรือคลินิกพิเศษถือเป็นการเตรียมการล่วงหน้าสอดรับกับแนวทางของรัฐบาล โดยใช้ตัวอย่างโรงพยาบาลฉุกเฉินอู่ฮั่นโมเดลจากประเทศจีน เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ในระยะเวลา 3 – 6 เดือนข้างหน้า
“มีข้อบ่งชี้ว่าเชื้อไวรัส COVID-19 อาจจะมีการแพร่ระบาดเข้าสู่ขั้นที่ 3 คือ ติดต่อกันเองในประเทศหรือในผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ หรือสัมผัสกับบุคคลที่มีเชื้ออยู่ ซึ่งอาจมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น ผู้ป่วยหลายคนเป็นพาหะโดยไม่มีอาการ โรงพยาบาลหลายแห่งไม่สามารถรองรับผู้ป่วยโรค COVID-19 จากข้อจำกัดเรื่องสถานที่ บุคลากร ห้องปฏิบัติการ (Lab) กอปรกับการวินิจฉัยโรคในปัจจุบันยังมีจุดอ่อนหลายประการและเสี่ยงต่อการที่จะตรวจไม่พบเชื้อ หรือ ผลลบปลอม (False Negative) ซึ่งอาจเกิดจากการเก็บสารตัวอย่างในลำคอ จมูก ที่ไม่ได้มาตรฐาน การเก็บสารตัวอย่างไม่ถูกวิธี หรือ ผู้ป่วยมีเชื้อในปริมาณน้อยเพราะมีระยะฟักตัว หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันสูง รวมทั้งการกลายพันธุ์ที่รวดเร็วของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจ”
ในปัจจุบันการตรวจเชื้อไวรัส COVID-19 มีหลายวิธี ในประเทศสิงคโปร์ ประเทศจีน และประเทศในแถบตะวันตก นอกจากจะใช้การตรวจด้วย PCR หรือ Polymerase Chain Reaction Test เพื่อตรวจภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี้ของร่างกายแล้ว ยังใช้วิธีการตรวจทางพันธุกรรม (DNA) Next Generation Sequencing ด้วย เพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำยิ่งขึ้น
ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ได้จัดเตรียมแผนสำหรับการรับมือสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไว้ 3 เฟส ดังต่อไปนี้
เฟสที่ 1
เปิดบริการคลินิกคัดแยกผู้ป่วย (Triage Building) และห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย (Laboratory) สำหรับทำ CT Scan Chest Tomography ที่บางซื่อ ซึ่งจะเปิดให้ดำเนินการทันทีที่ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 3 ไร่ ใกล้ทางด่วน สถานีรถไฟ และสถานีขนส่งผู้โดยสาร โดยจะมีห้องแยกผู้ป่วย 50 ห้อง ห้องพักดูอาการความจุ 20 เตียง ซึ่งจะมีการแยกห้องตรวจระหว่างผู้ป่วยที่มีไข้หวัดธรรมดาและผู้ป่วยที่สงสัยจะติดเชื้อออกจากกัน
สามารถรองรับการให้บริการแบบบุคคลหรือองค์กร ที่ต้องการดูแลผู้ป่วยหรือพนักงานที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างใกล้ชิด อาทิ บริษัท สายการบิน สถานทูต หน่วยงานข้าราชการ และองค์กรต่าง ๆ ที่จะต้องเดินทางไปต่างประเทศ และต้องการผลการตรวจที่เร็วกว่า 14 วัน ก็จะมีการตรวจด้วย Next Generation Sequencing (NGS) เพื่อวิเคราะห์ลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 เนื่องจากเทคโนโลยีนี้สามารถอ่านรหัสพันธุกรรม จำแนกลักษณะจีโนมของไวรัสได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และมีบทบาทสำคัญในการจำกัดการระบาดของไวรัส ซึ่งใช้ได้ผลมาแล้วในประเทศจีน
เฟสที่ 2
โรงพยาบาลสนาม กรณีที่มีการแพร่ระบาดเข้าสู่ขั้นที่ 3 จะพัฒนาพื้นที่สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อแต่ไม่วิกฤติจำนวน 200 เตียง และห้องผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) อีก 50 เตียง โดยโรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า บนพื้นที่ 4 ไร่ โดยใช้ระยะเวลาในการเตรียมการ 6-8 เดือน
เฟสที่ 3
โรงพยาบาลพักฟื้น สำหรับรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก ที่จำเป็นต้องรักษาตัวและฟื้นฟูร่างกายในโรงพยาบาลระยะเวลานานๆ โดยสามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 1,000-1,500 เตียง ซึ่งปัจจุบันมีความพร้อมในการให้บริการที่โรงพยาบาลในเครือธนบุรีหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
แต่แนวคิดดังกล่าวอยู่ในระหว่างการให้คณะผู้บริหาร THG เร่งศึกษาและวางแผนการดำเนินงาน เพื่อการรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที โดยจะได้เข้าหารือกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับคำแนะนำต่อไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศด้วย