เร็วไปที่จะฉลอง! อ่านท่าที “จีน” ทำไมจึงยังเปิดเมืองเต็มขั้นและเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ได้

ศูนย์การค้าบางแห่งในมณฑลหูเป่ยเริ่มกลับมาเปิดให้บริการในวันที่ 30 มีนาคม 63 (photo: TPG/Getty Images)
หลังการต่อสู้กับโรคระบาดไวรัส COVID-19 มานานกว่า 2 เดือน “จีน” เริ่มประกาศชัยชนะต่อเชื้อไวรัสร้ายนี้ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2563 เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเริ่มลดลงทำให้รัฐบาลจีนหันไปพิจารณาแผนการลำดับต่อไปนั่นคือ การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ โดยอนุญาตให้บริษัทห้างร้านต่างๆ กลับมาทำธุรกิจได้อย่างเต็มที่ แต่ต่อมารัฐบาลจีนกลับลำกะทันหันและให้ปิดกิจการบางส่วนต่อไปก่อน

สองสามสัปดาห์หลังสถานการณ์การระบาดดีขึ้น รัฐบาลจีนเริ่มชี้ทิศเตรียมกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้นโยบาย “กลับมาทำงาน กลับมาผลิต” สร้างความยินดีแก่ประชาชนชาวจีนที่พร้อมกลับคืนสู่ชีวิตปกติ

ห้างสรรพสินค้าทยอยกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 63 โรงภาพยนตร์เริ่มกลับมาเปิดบริการ และกำลังวางแผนจะจัดฉายภาพยนตร์ Harry Potter 3D เพื่อกระตุ้นลูกค้า ประชาชนในเมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการระบาด ที่ถูกล็อกดาวน์ให้อยู่แต่ภายในบ้านมานานกว่า 2 เดือน ได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้าน และมณฑลหู่เป่ยเตรียมจะเปิดเขตแดนในวันที่ 8 เมษายนนี้

แต่บริษัทห้างร้านกลับมาเปิดทำการได้ไม่นาน กลับมีคำสั่งจากรัฐบาลจีนให้บางส่วนต้องปิดชั่วคราวอีกครั้งในช่วงสัปดาห์นี้

Apple Store ในจีนกลับมาเปิดบริการทั้งหมด 42 สาขาในวันที่ 13 มีนาคม 63

มณฑลเสฉวนสั่งการกะทันหันให้สถานบันเทิงทุกประเภทปิดทำการ เมืองจิ่นโจวในมณฑลเหลียวหนิง ประกาศให้ปิดทำการร้านกาแฟ คาราโอเกะ ผับบาร์ และสถานที่ชุมนุมชนต่างๆ ในเซี่ยงไฮ้สั่งปิดทำการสถานที่ท่องเที่ยวในร่ม เช่น พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ หอไข่มุกตะวันออก ฯลฯ ขณะที่ปักกิ่งสั่งให้พลเมืองยกเลิกทริปท่องเที่ยวเพื่อป้องกันการนำเชื้อกลับมาระบาดใหม่

แม้แต่อู่ฮั่น ประชาชนที่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ให้ออกจากบ้านและกลับไปทำงานได้ เพราะตรวจโรคแล้วพบว่ามีสุขภาพแข็งแรง ประชาชนกลุ่มนี้บางส่วนกลับถูกยึดคืนใบอนุญาตเสียเฉยๆ

 

ประกาศชัยชนะ แต่แท้จริงยังต้องระวังการระบาดซ้ำ

เหตุของการกลับลำคำสั่งนี้ไม่มีการประกาศชัดเจน แต่มีการคาดการณ์ว่าเกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนพบว่า ประชาชนที่เป็น “พาหะเงียบ” อาจก่อให้เกิดการระบาดซ้ำได้

โดยสำนักข่าว South China Morning Post รายงานข้อมูลที่ได้จากรัฐบาลจีน มีการศึกษาพบว่ามีโอกาสมากถึง 1 ใน 3 ที่ผู้ติดเชื้อจะเป็นพาหะเงียบ เพราะติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการใดๆ หรือแสดงอาการช้ากว่าปกติ และคณะกรรมการสาธารณสุขจีนเพิ่งประกาศว่าจะเริ่มนับเอาเคสผู้ป่วยไม่แสดงอาการเหล่านี้รวมในจำนวนผู้ติดเชื้อด้วย

ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงต้องเผชิญ “ทางแยกที่ท้าทาย” คือต้องเลือกระหว่างการเปิดเมืองเต็มที่เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ กับการควบคุมโรคระบาดให้เด็ดขาด

Photo : Shutterstock

ในที่สุด พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 63 ว่าพรรคจะให้ความสำคัญกับการควบคุมโรคเพื่อป้องกันการระบาดระลอกสอง มากกว่าความจำเป็นของการเริ่มต้นใหม่ทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม “มือหนึ่งจะกุมบังเหียนการป้องกันโรค และอีกมือหนึ่งจะควบคุมการกลับสู่การทำงานและการผลิต”

ทั้งนี้ กลุ่มนักวิเคราะห์ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว The Guardian ว่า อันที่จริงนักวิเคราะห์มีการตั้งข้อสังเกตมาระยะหนึ่งแล้วว่า ถึงแม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจีนจะให้ภาพเชิงบวกต่อสถานการณ์ระบาดไวรัส COVID-19 ที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์ที่แท้จริงนั้นต้องวัดจากการปฏิบัติงานจริงของเจ้าหน้าที่

โดยพบว่า ยังไม่มีการวางแผนประชุมสภาซึ่งเป็นกิจกรรมหลักทางการเมือง และแม้ว่าโรงเรียนมัธยมจะกลับมาเปิดเรียนแล้วในหลายมณฑล แต่กระทรวงศึกษาธิการจีนกลับประกาศในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมาว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะเลื่อนออกไปก่อน 1 เดือน สะท้อนให้เห็นมุมภาคปฏิบัติของประเทศจีนที่ยังเฝ้าระวังอย่างเต็มที่เช่นเดิม

 

ฟื้นเศรษฐกิจยากหากไร้คู่ค้า

ไรอัน แฮส ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศจีนจาก Brooking Institution ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว The Washington Post ว่า จีนกำลังพยายามจะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด แต่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะ 60% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจจีนขึ้นอยู่กับภาคบริการ ซึ่งขณะนี้โรงภาพยนตร์หรือร้านอาหารยังเปิดบริการเต็มที่ไม่ได้ และถึงจะเปิดเต็มที่ เขาก็เชื่อว่าดีมานด์จากประชาชนน่าจะไม่มากนัก

Starbucks หนึ่งในร้านที่ปิดบริการไปในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศจีน (photo: Pixabay)

นอกจากจีนจะยังต้องเฝ้าระวังการระบาดซ้ำทำให้กลับมาเดินเครื่องเศรษฐกิจไม่ได้อย่างใจ อีกเหตุผลที่จะทำให้จีนชะลอตัวทางเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะหนึ่ง คือ คู่ค้าของจีนยังไม่มีผู้ใดพร้อมกลับมาเดินเครื่องเศรษฐกิจด้วย

อลิเซีย การ์เซีย เฮอร์เรโร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนักเศรษฐศาสตร์เอเชียแปซิฟิก Natixis วาณิชธนกิจจากฝรั่งเศส มองว่า ขณะนี้จีนไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการเร่งเครื่องเศรษฐกิจกลับสู่สภาวะปกติ เพราะดีมานด์ในประเทศที่ว่าต่ำแล้ว ดีมานด์ต่างประเทศนั้นต่ำยิ่งกว่าจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกของไวรัส COVID-19

“ในโลกที่ไม่มีดีมานด์ การเร่งกลับมาโหมผลิตจะทำให้เกิดกำลังผลิตส่วนเกินและทำให้ราคาตกต่ำ” เฮอร์เรโรกล่าว “ดังนั้น ผู้นำจีนอาจจะพูดได้ว่า การตัดสินใจชะลอตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปเพื่อสุขอนามัยประชาชน แต่ที่จริงอาจจะเป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถขายสินค้าให้ใครได้เลย”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ที่ตั้งความหวังกันว่าจีนซึ่งสามารถควบคุมโรคได้ก่อน จะกลับมาเดินเครื่องเศรษฐกิจก่อน และช่วยฉุดเศรษฐกิจโลกปีนี้ขึ้นจากเหว อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากประเทศอื่นในโลกยังมีผู้คนล้มตายจากไวรัส COVID-19

Source: The Guardian, The Washington Post, SCMP