ถือเป็นการค้นพบที่จะทำให้โฟมพลาสติกในรองเท้า โซฟา และสินค้าอื่นมีทางกำจัดได้ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโลกมากขึ้น ล่าสุดนักวิจัยเยอรมนีค้นพบแบคทีเรียที่สามารถย่อยสลาย “โพลียูรีเทน” (Polyurethane หรือ PU) ซึ่งมีข้อหาติดตัวว่ารีไซเคิลไม่ได้ แต่เบื้องต้นเชื่อว่ายังต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะปูทางให้สามารถประยุกต์การค้นพบนี้ในกระบวนการกำจัดขยะอย่างจริงจัง
PU หรือโพลียูรีเทนเป็นพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จุดประสงค์หลักคือการนำมาใช้ทดแทนยางธรรมชาติ ถูกพัฒนาจนมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตกระดาษ ผ้าที่เน้นความทนทาน เคลือบผิวเครื่องบิน เคลือบโลหะ ฉนวนกันความร้อน ไม้ และอิฐเพราะป้องกันการกัดกร่อนและสารเคมีได้
ปัญหาคือโพลียูรีเทนส่วนใหญ่เป็นพลาสติกชนิดเทอร์โมเซต คือไม่สามารถหลอมเหลวและขึ้นรูปใหม่ได้ สินค้าที่ผลิตออกมาหลายรูปแบบทั้งที่เป็นโฟมยืดหยุ่น โฟมแข็ง สารเคลือบป้องกันสารเคมี กาว และสารผนึกล้วนต้องถูกทิ้งในลานฝังกลบขยะหรือเผาทำลายเท่านั้น
นอกจากความหวังด้านสิ่งแวดล้อมที่โพลียูรีเทนกำลังมีโอกาสถูกย่อยสลาย แต่การค้นพบแบคทีเรียพันธุ์พิเศษที่สามารถกัดกินโฟมที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ในกระบวนการทั่วไป ยังอาจจะส่งผลเปลี่ยนแปลงวงการอุตสาหกรรมทั่วโลกได้ด้วย
เอื้อในสายการผลิตแบบปิด
การค้นพบแบคทีเรียชนิดใหม่ที่สามารถกินโฟมโพลียูรีเทนได้ จะทำให้การใช้วัสดุโฟมในสายการผลิตแบบปิดทำได้ง่ายขึ้น ที่ผ่านมา ความสารพัดประโยชน์ของโพลียูรีเทน ทำให้พลาสติกชนิดนี้ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าหลากประเภท แต่เมื่อไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่าย ผู้ผลิตรองเท้าวิ่ง เบาะโซฟา และฉนวนกันความร้อน ฯลฯ จึงไม่อาจนำโฟมโพลียูรีเทนมาใช้ในสายการผลิตแบบปิดที่ไม่มีขยะรั่วไหลออกมาได้ เนื่องจากมักจะต้องนำไปทิ้งในหลุมฝังกลบหรือถูกเผาในเตาเผาขยะนอกระบบ
ทั้งหมดนี้ต้องยกความดีให้นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อม UFZ-Helmholtz Centre for Environmental Research ของเยอรมนี นักวิจัยกลุ่มนี้ค้นพบแบคทีเรียซึ่งเป็นสายพันธุ์ Pseudomonas ที่หลุมฝังกลบขยะโพลียูรีเทน เมื่อทดลองในห้องปฏิบัติการ นักวิจัยได้ทดสอบการให้อาหารแบคทีเรียเป็นโฟมโพลียูรีเทน จนพบว่าแบคทีเรียสามารถอยู่รอดได้บนวัสดุ รวมถึงสารปรุงแต่งอื่นที่เป็นพิษ ในกลุ่มคาร์บอน ไนโตรเจน และพลังงานอื่น
James Hallinan ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษา Cambridge Consultants ยกให้ความสำเร็จนี้เป็นการค้นพบที่สำคัญ แม้โพลียูรีเทนจะถูกผลิตน้อยกว่า PET หรือ Polyethylene terephthalate พลาสติกที่มีการผลิตอย่างกว้างขวางที่สุดในโลก แต่โพลียูรีเทนก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับบ่อขยะทั่วโลก เนื่องจากคุณสมบัติที่ไม่สามารถหลอมใหม่ได้ และหากนำมาหลอมใหม่ก็จะติดไฟจนไหม้เท่านั้น
สำหรับ Cambridge Consultants นั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัย แต่ก็เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญการใช้ชีววิทยาสังเคราะห์เพื่อทำงานกับเทคโนโลยี รวมถึงการจำลองเอนไซม์จากสิ่งมีชีวิตที่มีพัฒนาการเพื่อย่อยสลาย PET
ปัจจุบัน แม้พลาสติกกลุ่ม PET จะสามารถนำมารีไซเคิลใหม่ได้ แต่ Cambridge Consultants ก็ยังมุ่งพัฒนาโฟมชีวภาพทางเลือก ผ่านบริษัทชื่อ Bloom ซึ่งสามารถเปลี่ยนสาหร่ายให้กลายเป็นโฟม เพื่อพัฒนาวัสดุที่สามารถย่อยสลายหรือรีไซเคิลได้ง่ายกว่า
ยังต้องใช้เวลา
งานวิจัยนี้ระบุว่า แบคทีเรียที่เพิ่งค้นพบใหม่ยังไม่สามารถย่อยสลายโฟมโพลียูรีเทนได้อย่างสมบูรณ์ เพราะตัวพลาสติกจะต้องผ่านการย่อยสลายให้มีขนาดเล็กพอ จากนั้นแบคทีเรียจึงจะสามารถ “เคี้ยว” หรือย่อยสลายผ่านพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซึ่งขณะนี้ยังคงต้องใช้สารเคมีในการเตรียมยูรีเทนให้พร้อมสำหรับให้แบคทีเรียย่อยสลาย
Hallinan ยอมรับว่าวิธีการทางชีววิทยานี้มีหลักการทำงานเช่นเดียวกับเอนไซม์ที่ Cambridge Consultants พัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับพลาสติก PET โดยเอนไซม์จากแบคทีเรียใหม่สามารถนำมาแยกส่วนและปรับให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งหมดนี้อาจต้องใช้เวลานับ 10 ปีกว่าเทคโนโลยีจะพร้อมใช้งานในวงกว้าง ถึงเวลานั้น ศูนย์รีไซเคิลอาจมีถังเอนไซม์ที่สามารถทิ้งและแปรรูปโพลียูรีเทนได้ ซึ่งอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการออกแบบผลิตภัณฑ์ในอนาคต
หากโพลียูรีเทนสามารถปรับใช้ในการรีไซเคิลรูปแบบอื่นได้ง่ายขึ้นในอนาคต การออกแบบผลิตภัณฑ์โพบียูรีเทนก็อาจจะถูกเปลี่ยนให้เอื้อกับสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงท้ายของวงจรการใช้งานโพลียูรีเทนมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคยุคใหม่ก็มีความต้องการเช่นกัน เพราะในช่วงเวลานี้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้องต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำร้ายโลก และทุกคนต้องการรู้ว่าไม่ได้มีส่วนร่วมทำให้เกิดขยะฝังกลบที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้.