วิเคราะห์ ‘New Normal อสังหาฯ’ หลังจบ COVID-19 ยุคที่ ‘บ้าน’ ไม่จำเป็นต้อง ‘ใกล้ออฟฟิศ’ อีกต่อไป

COVID-19 กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก และส่งผลกระทบไปยังทุกกลุ่มธุรกิจ ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อาจจะต้องเผชิญกับ ‘ความปกติแบบใหม่’ หรือ ‘New Normal’ จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ดังนั้น บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) จะมานำเสนอแนวทางการ ‘รับมือ’ กับ New Normal ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้

พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)

ซื้อบ้านยุคใหม่ ไม่ต้องชมห้องตัวอย่าง

พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า New Normal เรื่องแรกที่จะเกิดกับธุรกิจอสังหาฯระยะยาว คือ ผู้บริโภคจะ ‘รับได้’ กับการซื้อบ้านหรือคอนโด โดยไม่ต้องเห็นห้องตัวอย่างจริง ขณะที่วิดีโอรีวิวจะมีความสำคัญมากขึ้น ผู้บริโภคจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการเปรียบเทียบแต่ละโครงการ แทนการสำรวจทีละ 5-10 โครงการด้วยตัวเอง

“ในจีนมีแพลตฟอร์มเอเจนซี่ขายอสังหาริมทรัพย์ออนไลน์ชื่อ เหย่าลู่ โดยบนแพลตฟอร์มมีทีมขายเพียง 25 คน แต่สร้างยอดขายได้ถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยกว่า 40% ของผู้ซื้อ ตัดสินใจซื้อโดยไม่ต้องไปเยี่ยมชมโครงการ ในไทยเองก็อาจจะได้เห็น อาจจะมีไลฟ์ขายของพร้อมโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นยอดขายให้เกิดเร็วขึ้น ซึ่งออริจิ้นเองก็มีการขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มอย่างช้อปปี้”

ซื้อบ้านไกลไกลที่ทำงานได้เพราะ Work from Home

New Normal เรื่องที่สอง เมื่อสังคมรับได้กับการ Work from Home มากขึ้น จะส่งผลให้คนซื้อบ้านที่ไม่อยู่ในเมือง เพื่อให้ได้ห้องพักขนาดใหญ่ขึ้น ภายใต้งบประมาณเดิม บ้านจัดสรรอาจยังไม่ได้รับผลกระทบเรื่องขนาดมากนัก แต่เชื่อว่าคอนโดมิเนียมขนาด 1 ห้องนอนในสถานีส่วนต่อขยาย อาจต้องมีขนาดประมาณ 35 ตร.ม.ขึ้นไป ขณะเดียวกัน ภายในห้องพักจะต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และมี ‘WFH Function’ ทั้งพื้นที่สำหรับกิน นอน ทำงาน และออกกำลังกาย

สู่ยุค Individual Society

New Normal เรื่องที่สาม สังคมจะกลายเป็น ‘Individual Society’ ทุกคนยังคงต้องการใช้พื้นที่ส่วนกลาง แต่จะหวงแหนความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการต้องสร้างพื้นที่ส่วนกลางที่สอดคล้องกับความต้องการ เช่น การออกแบบ Co-separate space ให้คนไว้นั่งแยกกันในพื้นที่ส่วนกลางเดียวกัน หรือนำเทคโนโลยีแบบไร้สัมผัส หรือ Touchless เช่น ระบบการจดจำใบหน้า (Face Recognition) หรือระบบการสั่งการด้วยเสียง (Voice Command) สำหรับใช้ในพื้นที่ส่วนกลาง

ดีมานด์หายแน่ 15-30%

นอกจากโควิด-19 จะเปลี่ยนพฤติกรรมคนแล้ว ‘ดีมานด์’ เองก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 15-30% ขึ้นอยู่กับว่า จะจบช้าหรือเร็วแค่ไหน แต่ถ้ายังทำการตลาดแบบเดิม ๆ อาทิ ใช้แค่สื่อกลุ่ม Out of Home ผู้ประกอบการก็มีโอกาสจะโดน ‘ดิสรัปต์’ ไปพร้อมตลาดที่ดีมานด์หดตัว ดังนั้นต้องปรับวิธีการทำตลาดใหม่ทั้งหมด อย่างออริจิ้นเองปรับให้พนักงานทุกคนเป็น Micro-Influencer เพื่อขายของ ภายใต้โปรเจกต์ ‘Everyone can sell’ ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ออริจิ้นมียอดขายภายใต้โปรเจกต์ดังกล่าวถึงกว่า 500 ล้านบาท

“จากเดิมเรามีฝ่ายขายและการตลาดประมาณ 250 คน แต่เราเปลี่ยนพนักงานทั้งเครือกว่า 1,200 คน เข้ามาร่วมในโปรเจกต์ดังกล่าว โดยทุกคนสร้างรายได้เฉลี่ยถึง 4.1 แสนบาทต่อคนในช่วงไตรมาสแรก แม้ดีมานด์ภาพรวมอาจจะหดตัว แต่เรายังขับเคลื่อนไปต่อได้ เพราะทีมงานทุกคนรู้จักกลุ่มเป้าหมายของตัวเองดี”

อย่างไรก็ดี ภาพรวมธุรกิจโรงแรมจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังสถานการณ์จบแน่นอน เนื่องจากผู้คนยังคงต้องการท่องเที่ยว ดีมานด์ที่ถูกอั้นไว้ในช่วงนี้จะระเบิดออกมาหลังสถานการณ์คลี่คลาย

“ในระหว่างวิกฤติ เราต้องเปลี่ยนแปลง ปรับตัว ปรับสภาพแวดล้อมให้เข้ากับการดำเนินธุรกิจทันที เราโชคดีที่วัฒนธรรมองค์กรเราแข็งแกร่ง พนักงานของเรามี Disruptor Mindset ทำให้มีไอเดียใหม่ ๆ เสมอ และพอจะเปลี่ยนแปลงอะไร ก็ทำได้อย่างรวดเร็ว เราจะใช้ความเป็น Disruptor ของทีมงานทุกคน ขับเคลื่อนองค์กร สร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ตอบโจทย์ New Normal ของผู้บริโภคต่อไป”