เขียนโดยแจ็คกี้ หวาง Country Manager, Google ประเทศไทย
ในปัจจุบัน บทบาทและความเสมอภาคระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในยุคสังคมดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ยิ่งเมื่อมีการรับเอาวัฒนธรรมจากตะวันตกเข้ามายิ่งทำให้ค่านิยมของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับความเท่าเทียมในระดับสากล แต่ในช่วงระหว่างการปรับเปลี่ยนอยู่นั้น จะเห็นได้ว่าส่วนหนึ่งของสังคมจากทั่วทุกมุมโลกยังมีการเรียกร้องความเสมอภาคให้กับสตรีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็คงหมายถึงการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขในบทบาทของสตรีในหลายประเด็น
คุณเคยได้ยินเรื่องราวเหล่านี้หรือไม่ เช่น ทนายสาวชาวเม็กซิโกรายหนึ่งที่ไม่ค่อยท่องโลกออนไลน์มากนัก เพราะกังวลว่าแฟนของเธอจะไม่พอใจ หรือเรื่องราวของแพทย์หญิงในอินเดียที่มีการปรับเปลี่ยนการค้นหาวิดีโอของเธอก่อนที่จะออกจากระบบ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินจากคนในครอบครัวหากพวกเขาเห็นเนื้อหาวิดีโอที่เธอรับชม นอกจากนี้ คุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับบล็อกเกอร์สาวชาวบราซิลที่คิดจะออฟไลน์เพราะทุกครั้งที่เธอโพสต์อะไรไป เธอมักจะได้รับคอมเมนต์ในเชิงคุกคามทางเพศที่รุนแรง
นั่นเป็นเพราะระยะห่างทางภูมิศาตร์และความแตกต่างทางวัฒนธรรม จึงอาจดูเหมือนว่าผู้หญิงไทยแตกต่างจากผู้หญิงอีกซีกโลกหนึ่ง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันสำหรับผู้หญิงทุกทุกๆ คนไม่ว่าจะอยู่ซีกโลกไหนก็ตาม นั่นก็คือ ผู้หญิงทุกคนต่างมีประสบการณ์ในการเผชิญกับเรื่องท้าทายและความเสี่ยงต่างๆ บนโลกออนไลน์
ปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตได้เปิดกว้างขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิง และการสื่อสาร รวมไปถึงเครื่องมือและบริการต่างๆ ได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามความจริงที่น่ากังวลคือ อินเทอร์เน็ตในปี 2563 ยังคงไม่มีความเสมอภาคทางเพศเช่นเคย
ปัจจุบัน 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกมีผู้ชายท่องโลกออนไลน์มากกว่าผู้หญิง และในหลายๆ กรณีไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของทางเลือก จากรายงานของ Google ที่มีชื่อว่า“Towards Gender Equity Online”ที่จัดทำขึ้นในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และอีก 5 ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว พบว่ามีปัจจัยมากมายและอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีอิสระเต็มที่
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสถานที่ในโลกที่ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในแบบของตัวเอง พวกเธอต้องเผชิญกับความกดดันอย่างสูงที่ไม่สามารถใช้งานออนไลน์ได้ หรือมีข้อจำกัดทางการเงินและการเคลื่อนไหว ซึ่งในกรณีที่ร้ายแรงมากพวกเธอจะถูกสั่งห้ามไม่ให้ท่องโลกออนไลน์อย่างเด็ดขาด มีผู้หญิงหลายคนพยายามดิ้นรนในการหาข้อมูลทางออนไลน์ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีอัลกอริทึมแนะนำวิดีโอ บทความ และบล็อกที่ยึดถือรสนิยมและความสนใจของผู้ชายเป็นหลัก เรื่องราวของผู้หญิงที่เป็นแบบอย่างและชุมชนออนไลน์ที่เกี่ยวกับผู้หญิงมีจำนวนน้อยลง เพราะว่าผู้หญิงมีความลำบากใจที่จะสร้างคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดีย หรือแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ผู้หญิงต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากมายในการใช้งานออนไลน์เเม้เเต่ในพื้นที่ส่วนตัว ในหลายๆ ครั้งพวกเธอจำเป็นต้องลบประวัติการค้นหา หรือใช้เครื่องมือล็อคแอปเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของตนเองบนอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงบนโลกอินเทอร์เน็ตยังหวาดกลัวในเรื่องของความปลอดภัยเนื่องจากมีความเสี่ยงมากมาย เช่น การสะกดรอยตามบนโลกออนไลน์ การสวมรอยแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น (เช่นการใช้รูปโป๊เปลือยหรือรูปโปรไฟล์ปลอม) การโจรกรรมข้อมูล และการแชร์ข้อมูลและรูปภาพที่ไม่ต้องการให้แชร์
เราควรมองปัญหานี้อย่างที่เซอร์ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลีผู้คิดค้น “เวิลด์ ไวด์ เว็บ” (World Wide Web) ได้เขียนไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ความเสมอภาคทางเพศบนโลกออนไลน์เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน จากข้อมูลของ McKinsey การทลายช่องว่างระหว่างเพศในเอเชียแปซิฟิกจะช่วยเพิ่มจีดีพีของภูมิภาคนี้ได้ถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 ซึ่งสูงกว่าจีดีพีที่เกิดจากธุรกิจปกติถึง 12% ในโลกดิจิทัลของเรานั้น สิ่งดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราทำให้แน่ใจว่าผู้หญิงสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีอิสระเต็มที่
การสร้างความเสมอภาคทางเพศบนอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความก้าวหน้าของทุก ๆ ส่วนในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่ประชากรจำนวนมากเพิ่งจะเริ่มใช้งานออนไลน์ รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ประชากรในประเทศเป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์จำนวนกว่าพันล้านคน (Next Billion Users) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต
ภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และชุมชน ต่างเป็นส่วนสำคัญในการขจัดอุปสรรคของความก้าวหน้าของผู้หญิงบนโลกออนไลน์ โดยเริ่มจากการลำดับความสำคัญที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม 3 ประการ ดังนี้
- ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะต้องมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในแง่ของการผสมผสานแรงบันดาลใจ ประสบการณ์ และข้อกังวลของผู้หญิงในการพัฒนาบริการและแอปพลิเคชันต่างๆ ตอนที่ Google เริ่มพัฒนาแอป Neighbourly ในอินเดีย ซึ่งเป็นแอปที่ช่วยให้ผู้คนสามารถถามและตอบคำถามภายในชุมชนของพวกเขา Google ได้เพิ่มฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยเพื่อให้ผู้หญิงสามารถปกป้องตัวตนและความเป็นส่วนตัวของพวกเขาลงไปด้วย โดยยึดตามข้อเสนอเเนะจากชุมชน เราจะใช้หลักการปฏิบัติเหล่านี้ต่อไปในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆทั่วโลก และร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่
- ภาคธุรกิจ รัฐบาล องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และนักการศึกษามีหน้าที่ในการทำงานร่วมกัน เพื่อมอบทักษะและความรู้แก่ผู้หญิงเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและมั่นใจ ซึ่งหมายถึงโปรแกรมการศึกษาระดับรากหญ้าที่พัฒนาขึ้นร่วมกัน ตั้งแต่การให้ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนหญิง ไปจนถึงความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัลสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ที่เป็นเพศหญิง ตลอดจนการเสริมสร้างทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นผู้หญิงในโครงการ Women Will ของ Google ที่จัดฝึกอบรมผู้หญิงจำนวน 38 ล้านคนทั่วโลก รวมถึงประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สามารถตอบโจทย์นั้นได้ และโครงการ Internet Saathi ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาวิทยากรฝึกอบรมสำหรับผู้หญิงในหมู่บ้านห่างไกลในอินเดีย
- ทุกคนในสังคมจะต้องให้การสนับสนุนและฉลองความสำเร็จของผู้หญิงและผู้หญิงที่เป็นแบบอย่างบนโลกออนไลน์ให้มากขึ้นกว่าเดิม จากกรณีของผู้ประกอบการธุรกิจหลายๆ ราย ยกตัวอย่างเช่น เชอร์ลี ซานต้า ในลอมบอก อินโดนีเซีย ที่เริ่มทำธุรกิจขายทุเรียนทางออนไลน์ รวมไปถึงบรรดาครีเอเตอร์อย่างปอนด์ ภริษา ยาคอปเซ่นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการกระตุ้นและให้กำลังใจผู้หญิงที่ใช้อินเทอร์เน็ตไปสู่ความสำเร็จ และสามารถชี้แนวทางให้กับคนอื่นต่อไปได้ ในขณะเดียวกัน เราจำเป็นจะต้องเพิ่มความพยายามในการทำให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงได้สร้างสรรค์ เรียนรู้ และเชื่อมต่อกับชุมชน พร้อมทั้งขจัดอคติที่สนับสนุนเนื้อหาที่เกี่ยวกับความชื่นชอบและความสนใจของผู้ชายเป็นหลัก
การขจัดช่องว่างระหว่างเพศบนโลกออนไลน์นั้นมีความสำคัญมากกว่าเคยในช่วงที่เรากำลังต่อสู้กับไวรัสโคโรนา ข้อจำกัดในเรื่องของการทำงานและการเดินทางในสถานการณ์ปัจจุบันทำให้เราหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีกันมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดข้อจำกัดเกี่ยวกับเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้หญิงมากขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน หลายประเทศต่างคาดหวังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวซึ่งไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตและโอกาสที่ทรงพลังไปมากกว่าการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจและแรงงานหญิง
ไม่ว่าเราจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่เพียงใด เราจะสามารถผ่านพ้นมันไปได้ถ้าเรายกระดับความเสมอภาคบนโลกออนไลน์ สภาพเเวดล้อมบนโลกออนไลน์ที่ผู้หญิงรู้สึกปลอดภัย ได้รับการสนับสนุน และมีอิสระในการใช้ศักยภาพของพวกเธออย่างเต็มที่ ไม่ได้แสดงถึงอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงโลกที่ดีขึ้นและมีอนาคตที่มั่นคงแข็งเเรงอีกด้วย ศตวรรษที่ 21 จะเป็นช่วงเวลาที่เราสร้างโลกนั้นให้เป็นจริง