กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคม ทันทีที่มีการแถลงการณ์ของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศว่าเตรียมร่อนจดหมายปิดผนึกถึงบรรดามหาเศรษฐีในไทย 20 อันดับ 20 คน เพื่อระดมสมองในการแก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทย
ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้แถลงการณ์ผ่านรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เตรียมเทียบเชิญมหาเศรษฐี 20 คน ข้อมูลส่วนใหญ่จะอ้างอิงจากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes ที่เพิ่งจัดอันดับมหาเศรษฐีในไทยประจำปี 2563 จากตระกูลใหญ่ที่ล้วนดำเนินธุรกิจใหญ่ๆ ในไทยทั้งสิ้น
ทั้งนี้ยังไม่ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีจะส่งจดหมายเทียบเชิญในการขอ “บริจาค” เงิน เพื่อช่วยเหลือประเทศ หรือจะเป็นการขอความคิดเห็นในการร่วมฝ่าวิกฤต
ทาง Positioning ขอยกตัวอย่าง 5 ตระกูลใหญ่ 5 มหาเศรษฐีที่ได้ร่วมบริจาคทั้งเงินและสิ่งของแก่โรงพยาบาล และประชาชนทั่วไป โดยไม่เรียงลำดับของมูลค่าทรัพย์สิน พบว่ามีการบริจาคตั้งแต่ระดับ 20 ล้านบาท ไปจนถึงหลัก 100 ล้านบาท เป็นธารน้ำใจที่หลั่งไหลไม่มีหยุด เพื่อฝ่าวิกฤต COVID-19 ไปด้วยกัน
กลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ตระกูลภิรมย์ภักดี
สันติ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ครองตำแหน่งเศรษฐีอันดับ 15 มีมูลค่าทรัพย์สิน 1,860 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 60,700 ล้านบาท
บุญรอดบริวเวอรี่ หรือสิงห์ คอร์เปอเรชั่น อาณาจักรเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาหารเครื่องดื่มรายใหญ่ของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” เรียกว่าเป็นองค์กรแรกๆ ที่ประกาศบริจาคเงิน และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์
บุญรอดฯ ได้ประกาศมอบเงินมูลค่า 50 ล้านบาท ให้แก่ 6 โรงพยาบาลหลักที่ดูแลเรื่อง COVID-19 แห่งละ 5 ล้านบาท ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์, โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันบำราศนราดูร
รวมถึงมอบให้กับโรงพยาบาลในจังหวัดสำคัญในแต่ละภูมิภาคได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่, โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์, โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น, โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, โรงพยาบาลอุดรธานี, โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (รพ.มอ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รวมทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน 50 ล้านบาท
เงินเหล่านี้เพื่อให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย Face Shield, ชุด PPE และจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่อช่วยในการรักษาชีวิตผู้ป่วยเช่นเครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
นอกจากเงินบริจาคแล้ว บริษัทบุญรอดฯ ยังได้สนับสนุน “น้ำดื่มสิงห์” และอาหารเพื่อดูแลบุคคลากรทางการแพทย์ ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย
กลุ่ม CP ตระกูลเจียรวนนท์
กลุ่มพี่น้องเจียรวนนท์ ครองตำแหน่งเศรษฐีอันดับ 1 มีมูลค่าทรัพย์สิน 27,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 892,000 ล้านบาท
เครือ CP ได้ร่วมบริจาคทั้งเงิน อาหาร และสิ่งของ ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง CPF ได้สนับสนุนในเรื่องอาหารแก่คนไทยที่กลับจากต่างประเทศ ด้วยการส่ง “ถุงยังชีพ” ที่จะประกอบไปด้วยอาหารแช่แข็งของ CPF เพื่อสนับสนุนคนไทยที่ต้องกัดตัวอยู่บ้านเป็นเวลา 14 วัน หลังจากกลับจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสนับสนุนงบอีก 200 ล้านบาท สำหรับส่งอาหารให้โรงพยาบาลรัฐทั้งหมด 88 แห่งทั่วประเทศทุกวัน
แต่สิ่งที่ได้สร้างเสียงฮือฮามากที่สุดก็คือ การประกาศทุ่มงบ 100 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตหน้ากาอนามัยสำหรับ “แจกฟรี” ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังมอบชุดคลุมป้องกันเชื้อชนิดคลุมทั้งตัว 2,000 ชุด พร้อมหน้ากาก Face Shield 40,000 ชิ้นให้โรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลที่ขาดแคลน
ทางด้าน CP All โดย “เซเว่น อีเลฟเว่น” ได้มอบเงิน 77 ล้านบาท เพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ 77 โรงพยาบาล และมอบชุด PPE 10,000 ชุด ให้ 5 โรงพยาบาล อีกทั้งล่าสุดยังรับผลไม้จากเกษตรกรเพื่อจำหน่ายในเซเว่นฯ อีกด้วย
กลุ่มเซ็นทรัล ตระกูลจิราธิวัฒน์
ตระกูลจิราธิวัฒน์ เจ้าของอาณาจักรเซ็นทรัล ครองตำแหน่งเศรษฐีอันดับ 4 มีทรัพย์สิน 9,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 310,000 ล้านบาท
กลุ่มเซ็นทรัล ได้สนับสนุนงบประมาณ 30 ล้านบาทให้แก่โรงพยาบาล 20 แห่ง ที่ขาดแคลนทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับต่อสู้ COVID-19
สำหรับธุรกิจในเครืออื่นๆ เช่น ไทวัสดุ ได้ส่งมอบเครื่องป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสำหรับผู้ป่วย อันอาจเกิดจากการไอ จาม เสมหะของผู้ปวย ไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังบุคลากรทางการแพทย์หรือบริเวณโดยรอบ รวมทั้งสิ้น 9 โรงพยาบาล 6 จังหวัด จำนวน 58 ชุด
ท็อปส์-เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์-แฟมิลี่มาร์ท เตรียมมอบหน้ากาก N95, หน้ากากป้องกันละอองฝอย และเจลแอลกอฮอลล์ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และ CPN พนักงานทุกคนพร้อมใจกันทำหน้ากาก Face Shield จำนวนกว่า 60,000 ชิ้น ส่งมอบให้บุคลากรทางการแพทย์กว่า 5,000 คน
เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป สนับสนุนอาหารจากแบรนด์ในเครือให้โรงพยาบาลทั้งหมด 6 แห่ง รวมไปถึง โรงแรมในเครือเซ็นทารา สนับสนุนห้องพักให้กับผู้บริหารและอาจารย์แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยทั่วไป
กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ ตระกูลสิริวัฒนภักดี
เจริญ สิริวัฒนภักดี ครองตำแหน่งเศรษฐีอันดับ 3 มีทรัพย์สิน 10,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 343,000 ล้านบาท
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของตระกูลสิริวัฒนภักดี ได้ผลิตแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ มอบให้กับโรงพยาบาล หน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ รวมไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้บริการและรับผิดชอบในเรื่องการดูแลการป้องกันไวรัส COVID-19 ได้มีการส่งมอบแล้วรวมกว่า 500,000 ลิตร
ทางด้านของบริษัทในเครืออย่าง โออิชิ กรุ๊ป บริจาคเงินและอาหาร-เครื่องดื่มของโออิชิ กรุ๊ป ให้กับโรงพยาบาล 7 แห่ง รวมมูลค่า 24 ล้านบาท และล่าสุดได้ประกาศหยุดการทำแคมเปญโปรโมชั่นหน้าร้อน พร้อมกับโยกงบการตลาดที่เหลือในการบริจาคเพื่อสู้ COVID-19
กลุ่ม TCP ตระกูลอยู่วิทยา
เฉลิม อยู่วิทยา ครองตำแหน่งเศรษฐีอันดับ 2 มีทรัพย์สิน 20,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 660,000 ล้านบาท
กลุ่มธุรกิจ TCP ของตระกูล “อยู่วิทยา” หรืออาณาจักรกระทิงแดง ได้มอบเครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติเพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรค COVID-19 จากบริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 15 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รวมถึงมอบหน้ากากผ้าจำนวน 120,000 ชิ้น แก่บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั่วประเทศ รวมไปถึงแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป