“เสื้อหลากสี” แทรกสงครามการเมือง

จากการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 โดยเริ่มต้นจากการยึดแยกผ่านฟ้า ถนนราชดำเนิน มาจนถึงแยกราชประสงค์ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สูญเสียชีวิต ในการปะทะกันระหว่างทหารและผู้ชุมนุม โดยมีไอ้โม่งพร้อมอาวุธเป็นสัญญาณความรุนแรง ในวันที่ 10 เมษายน ได้จุดประกายให้ “กลุ่มเสื้อหลากสี” ภายใต้การนำของ ผศ. นพ. ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ หรือ หมอตุลย์ ออกมามีบทบาท โชว์พลังเงียบจนสร้างกระแสใหม่ได้ว่า การเมืองไทยไม่ได้มีแค่ เหลือง แดง เท่านั้น อีกต่อไป

“ทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องเปลี่ยนจากพลังเงียบให้กลายมาเป็นพลังที่เคยเงียบเสียที” หมอตุลย์เล่าถึงที่มา โดยเขานัดรวมตัวกลุ่ม “เสื้อหลากสี” ครั้งแรกราว 400 คนเมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อนำพวงมาลาไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน ไปวางที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่กลุ่ม “มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนต่อต้านการยุบสภา” จำนวนกว่า 400 คนจากเฟซบุ๊กนัดรวมตัวกันครั้งแรกที่สวนจตุจักรเช่นกัน โดยทั้ง 2 กลุ่มมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ ปกป้องสถาบันกษัตริย์และต่อต้านการยุบสภาเพื่อสนับสนุนนายกรัฐมนตรี

“เมื่อคุยกันแล้วเห็นว่ามีแนวทางเดียวกันผมเลยชวนพวกเขามาอยู่เวทีเดียวกัน ทำให้เป็นกลุ่มเสื้อหลากสีที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีพลังมากขึ้น” ซึ่งผู้ชุมนุมกลุ่มที่มาจากเฟซบุ๊กส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น ขณะที่กลุ่มเสื้อหลากสีที่เขาชักชวนมานั้นจะมีอายุมากกว่าและค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับสื่อที่เลือกใช้ในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งเขามองว่าสื่อทั่วไปและเฟซบุ๊กสามารถสร้างอิมแพคได้เท่าๆ กัน ต่างกันที่กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานมักติดตามข่าวผ่านเฟซบุ๊ก ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่โตขึ้นจะติดตามผ่านสื่อโทรทัศน์มากกว่า

แม้ว่าการชุมนุมเสื้อหลากสีในครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ชัยฯ จะมีผู้มาร่วมชุมนุมไม่ถึงหลักพัน แต่หลังจากที่ได้รวมตัวกันกับกลุ่มเฟซบุ๊กและมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทั้ง 2 ช่องทางอย่างต่อเนื่องก็ทำให้จำนวนผู้มาชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้ง โดยเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 3-4 พันคน โดยวันที่มีผู้มาชุมนุมมากที่สุดคือวันที่ 23 เมษายนซึ่งเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกของเสื้อหลากสี ที่จัดขึ้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีผู้ร่วมชุมนุมราว 5-6 หมื่นราย

เขายอมรับว่าเฟซบุ๊กช่วยในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารและความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อหลากสีได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากกลุ่มมั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนต่อต้านการยุบสภาแล้ว ยังมีอาจารย์ในจุฬาฯ ที่ชื่นชอบผลงานของเขาทำกลุ่ม “ช่วยกันให้กำลังใจ หมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์” บนเฟซบุ๊กด้วยเช่นกัน โดยมีสมาชิกกว่า 1 หมื่นคนภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน

“ผมได้เข้าไปดูบ้าง ก็รู้สึกมีกำลังใจดี” หมอตุลย์เล่ายิ้มๆ ด้วยความดีใจ ซึ่งเขาเข้าไปอ่านฟีดแบ็กต่างๆ จากสมาชิกว่ามีความเห็นอย่างไรเพื่อนำไปปรับปรุง รวมทั้งยังใช้เป็นช่องทางกระจายข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อหลากสีด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อเทียบกับสมัยพฤษภาทมิฬในปี 2535 ที่ใช้เพจเจอร์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อดึงคนมาชุมนุมแล้ว โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค “มีพลัง” กว่ามากทั้งในด้านความเร็วและการกระจายข้อมูล รวมทั้งสามารถดึงคนมาร่วมชุมนุมได้มากกว่าด้วย แต่เมื่อถามถึงการใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวแล้ว เขาบอกว่าเพิ่งสมัครไม่นานนี้ เพราะถูกรบเร้าจากคนรอบข้างให้ใช้ จึงยังเป็นมือใหม่หัดเล่นอยู่

ด้วยภาพลักษณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อหลากสีรวมถึงหมอตุลย์ ที่สะท้อนถึงความเป็นคนกรุงเทพฯ ซึ่งแกนนำเสื้อแดงจัดให้เป็น “ชนชั้นกลาง” เพื่อจุดประเด็นเรื่องการ “แบ่งแยกชนชั้น” เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมของตนเองกว่าครึ่งมาจากต่างจังหวัด ที่มักคิดว่าคนเมืองหลวงดูถูกคนที่รายได้น้อยกว่า

“คนชั้นกลางไม่ได้ดูถูกคนจนอย่างที่แกนนำบอก เพราะลูกน้องหรือลูกจ้างต่างๆ ก็ไม่ได้ร่ำรวยเหมือนกัน เราก็ยังเข้าใจกันดี แต่ผู้ชุมนุมเสื้อแดงมักถูกแกนนำมอมเมาและให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ทำให้มีความรู้สึกที่แตกแยกกัน” หมอตุลย์ให้ความเห็น และยอมรับว่าบรรพบุรุษของเขาเองก็เป็นชาวนามาก่อน แล้วค่อยๆ พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นคนชั้นกลางอย่างเช่นทุกวันนี้ ส่วนการแต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ต กางเกงสแลค ขึ้นบนเวทีในฐานะแกนนำก็ไม่ได้คิดว่าจะสะท้อนถึงความเป็นคนชั้นกลาง แต่เพราะต้องไปชุมนุมทุกเย็นหลังเลิกงานประจำที่โรงพยาบาลจุฬาฯ

ก่อนหน้านี้เขาเคยขึ้นเวทีปราศัยร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือเสื้อเหลืองมาก่อน รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานของกลุ่มเสื้อชมพูที่เคยชุมนุมต่อต้านกลุ่มเสื้อแดงเมื่อต้นเดือนเมษายน ทำให้การเป็นแกนนำเสื้อหลากสีของเขาถูกจับตาเป็นพิเศษว่าได้รับการสนับสนุนเบื้องหลังจากกลุ่มพันธมิตรฯ หรือฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเขายอมรับว่ามีการปรึกษากันกับกลุ่มเสื้อเหลืองจริงแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือทางด้านการเงินอย่างที่เป็นข่าว โดยเงินที่นำมาใช้ในการชุมนุมเสื้อหลากสีแต่ละครั้งนั้นได้มาจากการบริจาคของผู้ร่วมชุมนุมทั้งสิ้น มีอัตราเฉลี่ยวันละ 3-7 หมื่นบาท ซึ่งวันที่ 23 เมษายนที่เป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่ลานพระรูปทรงม้าได้รับเงินบริจาคมากที่สุดถึง 7 แสนบาท

“เคยมีคนถามว่า ผมจะนำกลุ่มนี้ไปชุมนุมกับเสื้อเหลืองหรือเปล่า ซึ่งผมก็แล้วแต่ความสมัครใจ ไม่มีการเกณฑ์หรือชวนไป อย่างหมอเหวงยังเปลี่ยนใจจากเสื้อเหลืองแล้วไปอยู่กับเสื้อแดงได้เลย”

หมอตุลย์มีทีมงานเพื่อช่วยเหลือในการจัดชุมนุมเสื้อหลากสีประมาณ 20 ชีวิต ซึ่งเป็นผู้ร่วมชุมนุมที่อาสาสมัครมาเอง โดยแบ่งเป็นทีมประชาสัมพันธ์ ประสานงาน ทำป้าย ดูแลเวที รวมถึงการ์ด แต่หลังจากถูกข่มขู่เขาก็ได้ติดต่อหน่วยรักษาความมั่นคงให้มีการ์ดส่วนตัวคอยติดตามประมาณ 2-7 คนขึ้นอยู่กับสถานที่ โดยขณะให้สัมภาษณ์มีการ์ด 2 รายนั่งคอยอยู่ห่างๆ ส่วนความปลอดภัยของผู้ชุมนุมหลากสีนั้น เขาจัดการให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยคุ้มกันบริเวณรอบๆ สถานที่ชุมนุมทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจใช้ประกาศใช้นโยบาย “ปรองดอง” เพื่อลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่าง 2 ฝ่าย โดยเลื่อนการยุบสภาให้เร็วขึ้นกว่าเดิมเป็นเดือนกันยายนเพื่อเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งหมอตุลย์และกลุ่มเสื้อหลากสีไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าว เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สั้นเกินไป โดยเสนอให้รัฐบาลกำหนดวิธีการปฏิบัติและปฏิบัติให้ดู เพื่อประเมินว่าประสบความสำเร็จเรื่องใดบ้าง ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดถึงความเหมาะสมในการกำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายนด้วย

นอกจากนี้ เขายังยืนยันว่ากลุ่มเสื้อหลากสียังจัดกิจกรรมต่อเนื่องจนกว่าอีกฝ่ายจะยุติการชุมนุม หลังจากนั้นจะเน้นจัดกิจกรรมในห้องประชุมเพื่อรวบรวมความคิดเห็นเสนอต่อรัฐบาลและสาธารณชนเกี่ยวกับทิศทางของประเทศไทยว่าควรจะเป็นอย่างไร

หมอนักแอคทิวิสท์

นอกจาก ผศ. นพ. ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ หรือ หมอตุลย์ ชายวัย 45 ปีคนนี้จะเป็นบุคคลสำคัญในฐานะแกนนำกลุ่มเสื้อหลากสีแล้ว เขายังมีงานประจำเป็นอาจารย์ประจำภาควิชา สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขาให้ความสนใจด้านการเมืองตั้งแต่วัยเรียน มีประสบการณ์ร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 ที่ผ่านมาเขาเคยรวมกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองหลายกลุ่ม อาทิ เครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย (จคป.) เครือข่ายวิชาการเพื่อประชาธิปไตย (ควป.) เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคม กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาชน เครือข่ายสมัชชาประชาชนทั่วประเทศ และยังมีอีกหลายกลุ่มด้วยกัน

Timeline การชุมนุมเสื้อหลากสี

วันที่ สถานที่ จำนวนคน (โดยประมาณ)
13 เมษายน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 400
14 – 28 เมษายน อนุสาวรีย์ชัย/ สวนจตุจักร/ วงเวียนใหญ่ 3,000-4,000
23 เมษายน ลานพระบรมรูปทรงม้า (ชุมนุมใหญ่ครั้งแรก) 50,000-60,000
หมายเหตุ : วันแรก (13 เมษายน) ยังไม่ได้รวมกับกลุ่ม “มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนต่อต้านการยุบสภา” บนเฟซบุ๊ก