ขณะที่ หมอตุลย์ในวัย 45 ปีคือตัวแทนของกลุ่มเสื้อหลากหลากสีที่เป็นวัยทำงานตอนปลายขึ้นไป ภัคพล ปรีชาชนะชัย หรือแชมป์ ชายหนุ่ม วัย 27 ปีเจ้าของธุรกิจส่วนตัวด้านแพทย์อายุรวัฒน์ ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่ม “มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านต่อต้านการยุบสภา” บนเฟซบุ๊คที่ตอนนี้มีสมาชิกเกือบ 5 แสนรายแล้วหลังจากที่ก่อตั้งในเวลาไม่ถึง 2 เดือน คือสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่มักอยู่บนโลกออนไลน์ ที่กลายเป็นพลังสำคัญให้ “เสื้อหลากสี” มีขนาดใหญ่ขึ้น
แม้ว่าแชมป์จะไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งและไม่ได้ทำหน้าที่แอดมินของกลุ่มนี้ แต่ด้วยความสนใจเรื่องการเมือง อีกทั้งยังเป็นคนกล้าตัดสินใจและกล้าแสดงออกทำให้สมาชิกในกลุ่มที่เป็นทีมงานดูแลผู้ชุมนุมมอบมอบหน้าที่ “ตัวแทน” จากเฟซบุ๊คให้เขาเป็นผู้ตอบคำถามกับสื่อและขึ้นเวทีปราศัยในการชุมนุมทุกครั้ง ส่วนผู้ที่ก่อตั้งกลุ่มนี้นั้นทีมงานให้ข้อมูลเพียงแค่ว่าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 และไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้มากกว่านี้เพราะยังเด็กจึงเกรงว่าจะเกิดการถูกข่มขู่จากฝ่ายตรงข้าม
โดยก่อนหน้าที่จะตัดสินใจรวมตัวกันนอกโลกออนไลน์นั้น แชมป์มักเปิดกระทู้สนทนาเรื่องการชุมนุมของเสื้อแดงกับสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มผ่านเฟซบุ๊คอยู่เสมอ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างทหารและกลุ่มเสื้อแดงในวันที่ 10 เมษายน ทำให้เขาและเพื่อนๆ ที่เป็นสมาชิกในกลุ่มตัดสินใจรวมตัวเพื่อแสดง “พลังที่เคยเงียบ” ให้คนภายนอกได้รับรู้ว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่มเสื้อแดง โดยเริ่มต้นชุมนุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 เมษายนที่สวนจตุจักร มีผู้ร่วมมาชุมนุมประมาณ 400 คน ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกในกลุ่มราว 1.5 แสนราย
ด้วยความบังเอิญที่วันนั้นกลุ่ม “เสื้อหลากสี” ของนายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ หรือหมอตุลย์ได้มีการรวมตัวกันครั้งแรกเช่นกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จึงได้เจรจากันและพบว่ามีแนวทางเดียวกันคือ “ปกป้องสถาบันกษัตริย์และต่อต้านการยุบสภา” จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่มารวมกันในนามของกลุ่มเสื้อหลากสีที่มีอัตราผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมาจากคนรุ่นใหม่ที่ใช้เฟซบุ๊คแล้วบอกต่อไปยังกลุ่มคนภายนอกที่ไม่ได้ใช้ช่องทางนี้แต่มีจุดยืนเดียวกันและชักชวนกันมาร่วมชุมนุมอย่างสงบด้วยการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีให้แก่พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว และร้องเพลงชาติร่วมกันทุกวัน ตั้งแต่เวลา 16.00-18.30 นาฬิกา ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ
แชมป์ยอมรับว่าช่วงแรกของการเริ่มชุมนุมกว่า 60-70% เป็นคนที่มาจากเฟซบุ๊ค แต่วันนี้จำนวนผู้ชุมนุมแต่ละครั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ต่ำกว่าหลักพันคน ทำให้กลุ่มดังกล่าวลดลงเหลือแค่ 30-40% เท่านั้น “คนจากเฟซบุ๊คยังมีเท่าเดิมแต่ที่เพิ่มขึ้นคือคนทั่วไป” ซึ่งเขาเชื่อว่าการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊คเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพสูงเพราะสามารถดึงคนมาชุมนุมได้เป็นจำนวนมาก โดยช่วงแรกเขาใช้ช่องทางนี้เป็นหลักในการสื่อสารกับผู้ชุมนุม แต่ตอนนี้มีสื่ออื่นๆ เข้ามาช่วยกระจายข่าวมากขึ้นจึงทำให้เฟซบุ๊คกลายเป็นช่องทางรองเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์กับสมาชิกในกลุ่มแทน
นอกจากนี้ ไม่ได้มีแค่เพียงกลุ่ม “มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านต่อการยุบสภา” บนเฟซบุ๊คเท่านั้นที่มาร่วมชุมนุม แต่ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่มีแนวทางเดียวกันมาร่วมอีกไม่ต่ำกว่า 10 กลุ่ม เช่น กลุ่ม I Support PM Abhisit กลุ่มมั่นใจคนไทยเกิน 20 ล้านต้องการยุบนปช. รวมถึงกลุ่มมั่นใจคนไทยเกิน 1 ล้านต่อต้านการยุบสภาในภาคต่างๆ อีกด้วย ซึ่งแชมป์บอกว่าคนที่ก่อตั้งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ โดยส่วนใหญ่มักเป็นสมาชิกจากกลุ่มมั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านต่อต้านการยุบสภาที่แตกชื่อออกไปในกลุ่มอื่นๆ นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้เขาจึงมองว่า โซเชี่ยลเนทเวิร์คมีผลต่อการเมืองคราวนี้มากกว่าในอดีตอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อถามถึงทวิตเตอร์ แชมป์บอกว่า “ผมเล่นทวิตเตอร์ไม่เป็น กลัวเจอแม้ว!”