ทวีตเพิ่มเรตติ้ง ดังข้ามสื่อ โฆษณายิ่งเข้า

“นักข่าว” หลายคนในยุคนี้ ไม่ได้แค่อยู่ในพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์แหล่งข่าว หาข้อมูล และจากนั้นส่งข่าวถึงสถานี หรือสำนักพิมพ์เท่านั้น แต่ ”นักข่าว” กำลังมีสื่อของตัวเอง จนสามารถเช็กเรตติ้งของตัวเองว่ามีแฟนประจำมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะสื่อ Twitter ที่แค่ 140 ตัวอักษร ก็สามารถแจ้งเกิดนักข่าวเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักได้ นอกเหนือจากสามารถสนอง Need ของตัวนักข่าวเองในการได้รายงานเบื้องหลังข่าวที่ไม่อาจบอกในเบื้องหน้าได้

“สุภาณี เดชาบูรณานนท์” บิ๊กบอสจากกรุ๊ปเอ็ม บอกว่า หากเปรียบเทียบแล้วก็แป็นวิธีการ Marketing Product โดยใช้สื่อทวิตเตอร์ ที่สามารถสร้างแฟนผู้อ่าน ผู้ชม หรือเป็นดาราเหมือนการสร้างแฟนคลับ และในทางกลับกันนักข่าวก็สามารถได้ข้อมูลจากผู้อ่านที่สื่อสารกลับเข้ามาได้ เพราะในที่สุดแล้ว Consumer ก็กลายเป็นผู้ที่สื่อสารให้ข่าวด้วย หากเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนคอลัมนิสต์สมัยก่อนที่ผู้อ่านติดตามทางคอลัมน์ และเขียนจดหมายมาพูดคุย

การพูดคุยได้อย่างสะดวกจากความสามารถของโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟน ที่เอื้อให้ทวีตได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้ผู้อ่านหรือแฟนๆ รู้สึกเข้าถึงและใกล้ชิดนักข่าวยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตสามารถสร้างเป็นชุมชนของตัวเองขึ้นมาได้ และแน่นอนสามารถต่อยอดในอนาคต หากนักข่าวคนนั้นดัง และเป็นที่ต้องการของสินค้าและบริการในการเป็นพรีเซ็นเตอร์ นอกเหนือจากการเช็กเรตติ้ง หรือรับคำติชมจากผู้อ่าน หรือผู้ชมโดยตรงเพื่อนำมาปรับปรุงตัวเองให้ถูกใจผู้ชมมากขึ้น

กรณีนักข่าวรุ่นใหญ่อย่าง ”สุทธิชัย หยุ่น” @Suthichai ที่ทวีตจนงานเข้า มีสปอนเซอร์นกแอร์อยู่ช่วงหนึ่ง และวางนโยบายให้นักข่าวเนชั่นทวีต จนดังไปทั้งเครือ อารมณ์นี้นักข่าวจึงมีอิสระตั้งแต่คิดจนถึงทวีตข้อความและรูปภาพ จนหลายคนมีคนตามนอกจากในจอทีวีแล้ว ยังมาจนถึงจอคอมพิวเตอร์และจอมือถือ และในโลกความจริงด้วยแฟนคลับประจำตัว ไม่ต่างจากดารา กรณีของ @noppajak คือตัวอย่างที่โดดเด่น ที่มีทรัพยากรในตัว คือคอนเทนต์ที่ล้นเหลือจากการเป็นนักข่าวประจำม็อบ ที่ผู้ติดตามข่าวกระหายใคร่รู้ถึงความเคลื่อนไหวล่าสุด ไม่ว่าจะเรื่องของมติแกนนำ ยุทธศาสตร์ล่าสุด หรือแม้แต่ระเบิด M 79 ที่คนในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คอดใจไม่ไหวที่จะรอตามในทีวี หรือในเว็บไซต์ข่าวแบบเดิมๆ

หรือ ”กิตติ สิงหาปัด” @kitti3miti ที่ระมัดระวังการทวีต แบบไม่ค่อยเล่าถึงพื้นที่ชุมนุม โดยแจ้งกับผู้ตามทั้งหลายว่าเพราะเขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่ถึงกระนั้นคงก็ติดตามเขาจำนวนมาก

ในทางกลับกันนี้จึงทำให้นักข่าวเองต้องระมัดระวังในการทำหน้าที่ให้รอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อจะทวีต เพราะถูกตรวจสอบได้ง่าย เร็ว และแพร่กระจาย รวมไปถึงการถูกใช้เป็นเครื่องมือ เหมือนอย่างกรณีของนักข่าวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ช่อง 3 ที่ทวีตเล่าเหตุการณ์เข้าใจผิดทหารเอาปืนจ่อหัวตำรวจที่สีลม

สิ่งที่เห็นในสถานการณ์การเมืองคุกรุ่นนี้ ในแง่ของเม็ดเงินโฆษณา เว็บไซต์ข่าวจึงเติบโตควบคู่ไปกับสื่อทีวี โดยมีทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กช่วยดึงคนให้อยู่หน้าจอมากขึ้น เพื่อติดตามคนที่เขา Follower โดยเฉพาะทีวีแล้ว ที่กลายเป็นสื่อที่เปิดแช่ตลอดวัน แม้ข่าวทีวีจะถูกวิพากษณ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ แต่ผู้ชมก็มีทางเลือกไม่มากนัก ต้องเปิดรอดูข่าวในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน

“สุภาณี” บอกว่าแนวโน้มของพฤติกรรมการใช้สื่อของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยมีการใช้หลายสื่อพร้อมกันเพื่อให้เข้าถึงข้อมูล คนที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ก็พึ่งพาสื่อทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี เป็นต้น ส่วนฟรีทีวี ก็คือความเข้าถึงง่าย จึงยากที่จะปฏิเสธ

นี่คือผลที่ทำให้ตัวเลขการใช้สื่อในช่วงมกราคม-มีนาคม มีอัตราการเติบโตของอินเทอร์เน็ตสูงสุด และทีวียังคงสดใส ขณะที่สื่อนอกบ้านย่ำแย่ เพราะคนเริ่มออกจากบ้านน้อยลง โดย ”สุภาณี” เชื่อว่าในเดือนเมษายนนี้ยอดการใช้สื่อทั้งสองจะยิ่งเติบโต แรงพอๆ กับสถานการณ์การเมืองตลอดเดือนอย่างแน่นอน

มูลค่าการซื้อสื่อ ม.ค.-มี.ค. 2553
———————————————————————————
สื่อ มูลค่า (ล้านบาท) %เติบโต
———————————————————————————-

ทีวี 13,639.1 14.2
วิทยุ 1,800 3.3
หนังสือพิมพ์ 3,519.3 11.18
นิตยสาร 1,154.7 -2.2
โรงหนัง 1,184 23.2
สื่อนอกบ้าน 938.6 -8.2
สื่อขนส่ง 497.5 12.9
สื่อในห้างอาคาร 211.3 12.3
อินเทอร์เน็ต 68.8 68.2
—————————————————————————-
ที่มา : Nielsen Media Research