“ทวิตเตอร์” เป็นเครื่องมือสื่อสารสำหรับนักข่าวหลายคน และพลเมืองทวิตเตอร์ในกลุ่มนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทวีตกันอย่างคึกคัก แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” นักข่าวรายการ “ข่าว 3 มิติ” ของช่อง 3 เมื่อคืนระเบิดลงวันที่ 22 เมษายน ที่สีลม ไม่เพียงแต่เป็นบทเรียนสำคัญของ “ฐปณีย์” แต่คือการแตะเบรกให้คนในอาชีพสื่อ ที่ต่อไปนี้ต้องระวังมากขึ้นกับการทวีต เพราะไม่เช่นนั้นข้อความ 140 ตัวอักษรจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อย่างไม่ทันตั้งตัว
จาก Timeline ของ@thapanee3miti ที่เปลี่ยนมาจาก @yam3miti ซึ่งข้อความที่เธอทวีตในวันนั้นยังอยู่ โดย 5 ข้อความที่เป็นประเด็นที่เธอทวีตในช่วงเวลาประมาณ 5 ทุ่ม ภายใน 18 นาทีหลังเกิดเหตุระเบิดที่สีลม มีดังนี้ (ไล่เรียงจากข้อความล่าสุดไปจนถึงข้อความก่อนหน้า)
“เมื่อนักข่าวไม่สามารถรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้หรือรายงานงานแล้วไม่มีคนเชื่อ ก็น่าเห็นใจสังคมไทยจริงๆ”
“ถามทหารแล้วไม่พูดไรแต่ตำรวจที่ถูกเอาปืนจ่อหัวเป็นระดับรอง ผกก.และ ผบ.หมู่ แต่ก็นั่นแหละเขาไม่ยอมเปิดเผยใบหน้าก็ทำได้เท่านี้ย้ำแค่บอกในสิ่งที่เห็น”
“โปรดใช้วิจารณญาณในการติดตามนะคะ นี่คือข้อเท็จจริงจากพื้นที่เกิดเหตุไม่ได้เข้าข้างใคร แต่ทวีตจากสายตาที่เห็นหูที่ได้ยินคะ”
“ตำรวจบอกกลุ่มคนที่ก่อเหตุไม่ใช่คนสีลมหรือเสื้อหลากสี แต่เป็นกลุ่มจัดตั้ง นี่เป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่ความเห็นนะคะ”
“นี่คือข้อเท็จจริงจากปากคำตำรวจยอมรับไล่กลุ่มชายฉกรรจ์ 20 คนที่ปาระเบิดขวดวิ่งหนีไปหลังแนวทหาร แต่กลับถูกทหารเอาปืนจ่อหัวบอกไม่ต้องตามต่อไป”
หลังจากนั้นจนถึงรุ่งสาง ข้อความเหล่านี้ถูกส่งต่อไปยังเว็บไซต์และโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คอีกหลายเครือข่าย ด้วยการบิดเบือนและตีความไปถึงว่า จากข้อความของเธอแสดงให้เห็นชัดเจนว่าทหารอยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมในคืนนั้น
แม้ว่า @thapanee3miti จะพยายามทวีตอีกหลายข้อความต่อมาที่ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าเธอไม่ได้อ้างถึงทหารอยู่เบื้องหลังก็ตาม แต่ข้อความที่เป็นประโยชน์ทางการเมืองในช่วงของการแบ่งฝ่าย แบ่งสีเท่านั้นจึงจะถูกพูดต่อ
เหมือนอย่างที่ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำเสื้อแดง นำมาใช้ในการแถลงประจำวัน โดยหยิบยกทวิตเตอร์ของ “ฐปณีย์” ที่ “ณัฐวุฒิ” ระบุว่า ถ้าเหตุการณ์นี้เป็นความจริงอธิบายได้ว่าบ้านเมืองนี้ ปืนทหารใหญ่กว่ากฎหมายของประเทศไทยไปแล้ว แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร ความจริงพวกนี้ ศอฉ.และรัฐบาลมีคำอธิบายหรือไม่ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นกองกำลังจัดตั้งของรัฐบาล ถ้าพวกนั้นไม่ใช่กองกำลังของทหาร ทำไมต้องเอาคืนมาจ่อนายตำรวจรระดับรองผู้กำกับการฯ ถ้าตำรวจจับได้หมดคนพวกนี้จะสารภาพหมดใช่หรือไม่
เรื่องราวทำท่าจะวุ่นวาย แต่สถานการณ์คลี่คลายลง เมื่อทหารและตำรวจออกมาแถลงถึงความเข้าใจผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเท่ากับยืนยันว่า “ฐปณีย์” ไม่ได้ทวีตมั่ว ขณะเดียวกับเธอเองก็ทำแถลงการณ์ชี้แจงถึงการทำหน้าที่สื่อ และเปลี่ยนชื่อจาก @yam3miti มาเป็น @thapanee3miti หลังจากมีคนใช้ชื่อเดิมไปขยายผลต่ออีกมากมาย และเพื่อใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว เธอขอหยุดทวีตไป 3 วัน
ระหว่างนั้นเธอยังคงได้รับทั้งคำด่า คำวิจารณ์ ที่มีจำนวนประมาณ 20-30% และชื่นชมอีกประมาณ 70% และนี่เองที่ทำให้เธอยังไม่ขยาดการใช้ทวิตเตอร์ และเดินหน้าในอาชีพสื่อ โดยเชื่อมั่นว่าเวลาและผลงานจะเป็นตัวพิสูจน์เธอได้ในที่สุด ต่างจากความรู้สึกในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังเกิดเหตุการณ์นั้น ที่เธอบอกว่าแทบอยากจะเลิกใช้ทวิตเตอร์ และคิดถึงขั้นเลิกจากอาชีพนี้ ถ้าสิ่งที่พูดถูกทำให้กลายเป็นสีดำ หรือมีความพยายามทำให้เป็นเรื่องไม่จริง
“ฐปณีย์” บอกว่าข้อความในคืนนั้น เป็นความผิดพลาดเรื่องถ้อยคำ ที่เป็นภาษาข่าว ที่มาจากข้อเท็จจริง ที่ถูกจำกัดด้วย 140 ตัวอักษร ขณะเดียวกันสื่อทวิตเตอร์เหมือนลูกโซ่ ที่ผู้ตามของเธอสามารถส่งต่อไปยังเครือข่ายได้กว้างขวางมหาศาล
กรณีของ “ฐปณีย์” เป็นกรณีศึกษาอีกครั้งที่ตอกย้ำให้เห็นว่าเมื่อเกิดสถานการณ์ความขัดแย้ง หรือการถกเถียงเกิดขึ้น โลกของโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คจะตื่นตัวขึ้นอย่างมากล้น ชนิดที่เธอเองยังบอกว่าวงการทวิตเตอร์คงต้องบันทึกไว้
จากเดิมที่ “ฐปณีย์” ถูกจัดเป็นผู้ปฏิเสธเทคโนโลยี ไม่ร่วมในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คมากนัก อย่างมากคืออีเมล และค้นหาข้อมูลเท่านั้น เพราะตั้งแต่ hi5 Facebook ล้วนแล้วแต่เพื่อนจัดให้ หรือแม้แต่แบล็คเบอร์รี่ ก็นานกว่าจะใช้ แต่เมื่อใช้แล้วก็ติดเพราะมีความสนุกและสะดวกในการได้ติดต่อสื่อสารทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน
จากคำแนะนำของ “กิตติ สิงหาปัด” เจ้าของและผู้บริหารรายการข่าว 3 มิติ ที่ผลักดันให้ “ฐปณีย์” ลองทวีตดู เพราะแฟนข่าวถามถึงอยู่บ่อยๆ และเพื่อเป็นประโยชน์ในการประสานงานข่าวกับกับนักข่าวด้วยกันเองด้วย ทวีตแรกจึงเริ่มเมื่อเดือนมกราคม 2553 มีคนตามอยู่ประมาณ 900 คน หลังจากนั้นมีเหตุการณ์การสูญเสีย “จ่าเพียร” ที่เธอลงพื้นที่รายงานข่าวที่ภาคใต้ ก็เริ่มมีคนตามเพิ่มวันละ 100 กว่าคน จนมาทำข่าวม็อบเสื้อแดงตลอดเดือนมีนาคม-เมษายนก็ยังคงมีสถิติผู้ตามเพิ่มขึ้นวันละ 100 กว่าคน จนคืนวันที่ 22 เมษายนที่เกิดเหตุระเบิดและเธอกลายเป็นประเด็น ยอดตามเพิ่มขึ้นเป็นวันละไม่ต่ำกว่า 2,000 คน จน ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 14.14 น. มีผู้ตามอยู่ 7,475 คน
นี่คือสิ่งสะท้อนที่ “ฐปณีย์” บอกว่า คนอยากตามข่าวสารจากคนในพื้นที่จริงๆ แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่เธอเองก็มองว่าอันตรายเหมือนกัน เพราะคนที่ตามนั้นมีทั้งชื่นชอบ ดูข่าวสาร และคนที่ไม่ชอบ เพื่อมาติดตามว่าพูดอะไร เพราะมีข้อความกลับมาจำนวนมากที่ต่อว่า ด่า ระบายด้วยถ้อยคำรุนแรงซึ่งหลายๆ ครั้งเธอก็โดนทั้งกลุ่มที่ชื่นชอบเสื้อแดง และแฟนๆ ของรัฐบาลส่งข้อความด่ามา
โลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คที่ “ฐปณีย์” เข้าถึงมากขึ้น แม้จะเจ็บปวดกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา แต่คือสิ่งที่ “เธอ” บอกว่า เป็นสื่อที่มีประโยชน์ เพราะไม่ใช่คือการสื่อสารทางเดียว เป็นการสื่อถึงคนจำนวนมากอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เพียงแต่ว่าต้องใช้อย่างระมัดระวัง รอบคอบ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในที่สุด
+++++++++++++++
ล้อมกรอบ
People
@thapanee3miti
Name thapanee ietsrichai
Bioฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าว ข่าว 3 มิติ
Followers 7,474
Following 41
Tweets 815
“ฐปนีย์ เอียดศรีไชย” วัย 33 ปี นักข่าว 3 มิติ ที่ผู้ชมจำภาพเธอได้ว่าเป็นนักข่าวบุก ลุยทุกสถานที่ตั้งแต่ในป่า ดงระเบิดในภาคใต้ จนมาถึงนักข่าวม็อบอีกคนหนึ่งของวงการการเมือง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลังสงขลานครินทร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ เริ่มอาชีพนักข่าวที่สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น เมื่อปี 2543 จากนั้นปี 2545 ก็ร่วมงานกับไอทีวี
ภาพจำของเธอที่ติดกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะบังเอิญถูกจัดให้ทำข่าวประจำพรรคไทยรักไทย ซึ่งนักข่าวการเมืองที่ประจำพรรคใดแล้วพรรคนั้นได้ป็นรัฐบาล ก็จะเป็นนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลไปโดยอัตโนมัติ “ฐปณีย์” จึงเป็นภาพจำว่ารายงานข่าวความเคลื่อนไหวของรัฐบาลตลอดเวลา
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อปี 2548 เมื่อเธอรายงานข่าวการชุมนุมของเสื้อเหลืองแล้วถูกล้อมกรอบโดยกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่มองว่าเธอรายงานไม่เป็นกลาง การถูกโยงใยได้เห็นภาพชัดขึ้นเมื่อไอทีวีถือหุ้นโดยชินคอร์ปอเรชั่น ถูกปิดตัวลงและจอมืด และเธอคือหนึ่งในทีมข่าวไอทีวีที่ร้องไห้ในคืนนั้น เข้าใจเป็นอื่นไม่ได้ และเธอถูกกล่าวหาอีกครั้งว่าคือไอทีวี ที่เป็นพวกของชินคอร์ป และ “ทักษิณ”
“ฐปณีย์” ยังคงถูกจับตาเมื่อมาร่วมงานกับ “กิตติ สิงหาปัด” ที่ช่อง 3 ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา หลายคนเกือบลืมเรื่องราวแดง ทักษิณ และฐปณีย์ไปแล้ว ดังนั้น เมื่อคืนวันที่ 22 เมษายน ที่สีลม จึงเป็นกระแสอีกครั้งที่ “ฐปณีย์” บอกว่า เธอคือเหยื่อทางการเมืองมากกว่า ซึ่งเธอบอกความรู้สึกจากเหตุการณ์ล่าสุดว่า “เราก็ไม่ไหวเหมือนกัน เพราะผลกระทบไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นครอบครัวเรา เป็นตราบาป ตกเป็นเหยื่อทางการเมือง ตัวเองเสียใจ เครียด ครอบครัวลำบากใจด้วย”
แต่หากถามตรงๆ ว่าเธอเป็น “แดง” หรือไม่นั้น คำตอบของเธอที่ชัดเจนคือไม่มีสี แต่คือคนทำหน้าที่สื่อ ที่เธอพยายามรายงานข้อเท็จจริงมากกว่าแสดงความคิดเห็น