แอลจี อีเลคทรอนิคส์ อิงค์ (แอลจี) เผยผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 มีรายได้รวม 12.45 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.86 แสนล้านบาท) และผลกำไรจากการดำเนินงาน 921.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.86 หมื่นล้านบาท) แม้รายได้จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ผลกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 จากไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ของบริษัทฯ ที่มีกำไรจากการดำเนินงานมากกว่า 921 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.86 หมื่นล้านบาท) คิดเป็นอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ร้อยละ 7.4 ซึ่งเป็นอัตราประจำไตรมาสแรกสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแอลจี
กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องปรับอากาศ รายงานรายได้ประจำไตรมาสแรกที่ 4.58 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.42 แสนล้านบาท) และผลกำไรจากการดำเนินงาน 636.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.97 หมื่นล้านบาท) โดยมีรายได้คงที่ในมูลค่าใกล้เคียงกับไตรมาสแรกของปีก่อนหน้า แม้ความต้องการซื้อในตลาดทั่วโลกลดลงจากวิกฤติโรคโควิด-19 แต่ยอดขายในประเทศเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้นจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีฟังก์ชั่น Steam เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เครื่องล้างจาน และนวัตกรรมเพื่อการดูแลเสื้อผ้า LG Styler สะท้อนถึงความสนใจของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในการดูแลสุขภาพและสุขอนามัย โดยทั้งผลกำไรจากการดำเนินงาน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา) และอัตรากำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสแรกนี้ มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแอลจี อันเป็นผลจากประสิทธิภาพในการลดต้นทุนและความสนใจที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์พรีเมียม
กลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ประกาศรายได้ประจำไตรมาสแรกที่ 2.51 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 7.78 หมื่นล้านบาท) ลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากข้อจำกัดด้านการจัดหาชิ้นส่วนและการชะลอตัวของความต้องการซื้อทั่วโลก ซึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง โดยในปีนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนการจัดประเภทผลิตภัณฑ์ไอทีจากกลุ่มผลิตภัณฑ์
โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ไปยังกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร ทำให้รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 คิดเป็นมูลค่า 275.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 8.53 พันล้านบาท) ด้วยประสิทธิภาพการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นและการขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์พรีเมียม เช่น ทีวี OLED และทีวี NanoCell นอกจากนี้ ด้วยความต้องการซื้อที่ลดลงจากวิกฤติโรคระบาด แอลจีจึงได้จัดสรรสัดส่วนของผลิตภัณฑ์พรีเมียมใหม่ เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ ยกระดับประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากรและสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อสร้างความสามารถในการทำกำไรอย่างต่อเนื่องในอนาคต
กลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ เผยยอดขายประจำไตรมาสที่ 1 ที่ 843.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.62 หมื่นล้านบาท) โดยมีผลการดำเนินงานขาดทุนน้อยลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ 200.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 6.23 พันล้านบาท) ยอดขายลดลงประมาณร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการหยุดชะงักของผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศจีน จึงต้องมีมาตรการต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติโรคโควิด-19 ด้วยการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตและการตลาด เพื่อใช้ต้นทุนอย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่งในไตรมาสที่ 2 นี้ จะมีการเปิดตัวสมาร์ทโฟน LG Velvet 5G ใหม่ในประเทศเกาหลีใต้ นับเป็นการสร้างแนวทางใหม่ทั้งในเรื่องของปรัชญาการดีไซน์ อีกทั้งยังเพิ่มความคุ้มค่าในการใช้ชิ้นส่วนและเสริมความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น รวมถึงการยกระดับกลยุทธ์ในการขายผ่านช่องทางออนไลน์
กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ รายงานรายได้ประจำไตรมาสแรกที่ 1.11 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.44 หมื่นล้านบาท) ลดลงร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ผลการดำเนินงานขาดทุน81.8 ล้านเหรียญสหรัญฯ (หรือประมาณ 2.54 พันล้านบาท) เนื่องจากการหยุดชะงักของผู้ผลิตยานยนต์ในอเมริกาเหนือและยุโรป ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาด บริษัทฯ ได้วางแผนในการเสริมประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานโดยคำนึงถึงความต้องการซื้อที่ลดลงของผู้ผลิตยานยนต์เป็นสำคัญ พร้อมมุ่งพัฒนาโครงสร้างธุรกิจด้วยการลดต้นทุนยิ่งขึ้นในไตรมาสที่ 2
กลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร สร้างยอดขายในไตรมาสแรกที่ 1.44 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 4.46 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และสูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 18.8 จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของแผงโซลาร์เซลล์และผลิตภัณฑ์ไอที เช่น โน้ตบุ้ค LG gram ผลกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มูลค่า 179.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 5.56 พันล้านบาท) ซึ่งมากกว่าไตรมาสที่แล้วถึงร้อยละ 159 จากยอดขายแผงโซลาร์เซลล์ ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งจากจอดิจิทัลเชิงพาณิชย์ รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับประสิทธิภาพในการผลิต และเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาด บริษัทฯ จะขยายช่องทางการขายออนไลน์สำหรับผลิตภัณฑ์ไอที เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานและการศึกษาจากระยะไกล
ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของไตรมาสที่ 1 ปี 2563
รายได้ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบด้านบัญชีประจำไตรมาสของ แอลจี อีเลคทรอนิคส์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ IFRS (International Financial Reporting Standards) สำหรับช่วงสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของสามเดือนในไตรมาสเดียวกัน โดยอัตราแลกเปลี่ยน ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 อยู่ที่ 31 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ (ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารแห่งประเทศไทย)