ถือว่าใจหายอยู่สำหรับ ‘HOOQ’ แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งที่ทำตลาดมากว่า 5 ปีได้เลิกกิจการไปด้วยเหตุ ‘สู้ต้นทุนไม่ไหว’ ดังนั้นเราจะมา Update กันว่ายังมีผู้ให้บริการที่ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ และมีผู้เล่นอีกกี่รายที่เตรียมบุกตลาดไทย บอกได้คำเดียวเลยว่าตลาดนี้ไม่ใช่ Blue Ocean อีกต่อไปแล้ว
Netflix (เน็ตฟลิกซ์)
แพลตฟอร์มยอดฮิตของไทยและของผู้ใช้ทั่วโลก ที่เริ่มต้นมาจากธุรกิจให้เช่า DVD ผ่านทางเว็บไซต์ และแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวด้วยระบบ Movie Recommendation ช่วยแนะนำภาพยนตร์เรื่องใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า และพัฒนามาเป็น Online Streaming ในปี 2007 และต่อยอดจนมี Original Content ของตัวเองและเติบโตจนให้บริการกว่า 190 ประเทศ มีผู้ใช้กว่า 160 ล้านราย และคาดว่าปีนี้อาจทะลุ 190 ล้านราย
Viu (วิว)
หนึ่งในบริการดูหนังและซีรีส์ที่เติบโตเร็วสุดของเอเชีย ที่เริ่มให้บริการเมื่อปี 2017 โดยกลุ่มบริษัท PCCW Media (พีซีซีดับเบิลยู มีเดีย) พร้อมได้พันธมิตรเป็น 3 ช่องทีวีจากเกาหลี ได้แก่ SBS, KBS และ MBC ทำให้มีจุดเด่นด้านคอนเทนต์เกาหลีและเอเชีย ทั้งซีรีส์ ภาพยนตร์และรายการวาไรตี้ แถมมาพร้อมกับโมเดล ‘ฟรีเมียม’ ให้ ดูฟรี ไม่เสียเงิน แต่มีโฆษณาและได้แค่ความคมชัดภาพแบบ SD แต่ถ้าอยากดูแบบ Full HD ไม่มีโฆษณา สามารถสมาชิกได้ในราคา 119 บาท/เดือน โดยปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการกว่า 41.4 ล้านคน มียอดเข้าชมกว่า 5.7 พันล้านครั้ง จากการให้บริการใน 6 ประเทศ
WETV (วีทีวี)
หลังจากที่ยักษ์ใหญ่อย่าง ‘เทนเซ็นต์’ ได้ให้บริการแพลตฟอร์ม Tencent Video ในประเทศจีน จนปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 200 ล้านคน/วัน มีออริจินอลคอนเทนต์กว่า 80 เรื่อง ก็มาถึงช่วงขยายการเติบโต โดยเปิดตัว แพลตฟอร์ม ‘WeTV’ ในไทยประเทศแรกต่อจากจีน โดย WeTV มีจุดเด่นด้านซีรีส์จากจีนและเอเชีย ที่น่าจะถูกใจคอภาพยนตร์กำลังภายใน และสาว (วาย) อย่าง ‘ปรมาจารย์ลัทธิมาร’ ซึ่งรูปแบบการใช้บริการมีทั้งดูฟรีและพรีเมียม ถ้าอยากดูชัด ดูเร็ว และไม่มีโฆษณาคั่นก็จัดเลย เดือนละ 59 บาท
iFlix (ไอฟลิกซ์)
ไอฟลิกซ์เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2014 โดยเน้นเจาะตลาดเกิดใหม่เป็นหลักหรือประเทศที่กำลังพัฒนา โดยปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 28 ประเทศ นอกจากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วยังมี ประเทศอื่น ๆ อาทิ เนปาล, บังกลาเทศ, ซิมบับเว, แทนซาเนีย โมร็อกโก และยูกันดา มีสมาชิกรวมกว่า 15 ล้านคน ในส่วนของคอนเทนต์จะเน้นความหลากหลายทั้งฝรั่ง จีน เกาหลี การ์ตูน มีหมด แถมบางคอนเทนต์ยังอัพเดตเร็วมาก ฉายจาก US ไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็มีซับไทยแล้ว ขณะที่รูปแบบการให้บริการก็มีทั้งฟรี iflixFREE และรูปแบบบริการแบบจ่ายค่าบริการสมาชิก ดูได้ไม่อั้นบน iflixVIP ในราคา 100 บาท/เดือน
LINE TV (ไลน์ทีวี)
แอปซีรีส์, ละครย้อนหลังและรายการวาไรตี้ยอดฮิตของคนไทย แถมมีออริจินอลซีรีส์ของตัวเองด้วย และที่ดีงามที่สุดคือ ดูฟรี แต่มีโฆษณานะ
AIS Play (เอไอเอส เพลย์)
แพลตฟอร์มคอนเทนต์จากโอเปอเรเตอร์ของไทยที่ให้ดูฟรีไม่จำกัดค่าย โดย AIS มี Netflix และ Viu เป็นพันธมิตร และมีคอนเทนต์ครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทีวีสด ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน คอนเสิร์ต รวมถึงออริจินอลซีรีส์ ‘คลับสะพานฟาย’ ที่พึ่งเปิดตัวปีนี้ แต่สำหรับใครที่อยากจะดู 10 ช่องพรีเมียม มีค่าบริการที่ 119 บาท/เดือน
True ID (ทรู ไอดี)
เป็นแพลตฟอร์มจากโอเปอเรเตอร์และสามารถดูได้ไม่จำกัดค่ายเช่นกัน แต่ True ID จะมีจุดเด่นที่แตกต่างจาก AIS Play ตรงที่ มีกีฬา ‘พรีเมียร์ลีก’ ให้ชม แน่นอนว่าดูฟรีเฉพาะบางคู่ และสามารถเช่าหนังพรีเมียมได้ในราคา 149 บาท โดยหนังใหม่ใน True ID นั้นมาเร็วมาก แต่หนังฟรีก็มี รวมถึงออริจินอลคอนเทนต์ด้วย เช่น ‘Voice สัมผัสเสียงมรณะ’
Doonee (ดูนี่)
แพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่ให้ดูฟรี 30 วันเมื่อสมัคร แถมราคาเเพ็กเกจก็หลากหลาย ทั้งรายวัน 9 บาท รายเดือน 150 บาท และรายปี 1,500 บาท โดยคอนเทนต์ที่โดดเด่นจะเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ Hollywood โดยเฉพาะพวกซีรีส์สืบสวนสอบสวน และรายการดัง ๆ จากฝั่งอเมริกา อย่าง hell kitchen, Master Chef และด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มคนไทย แน่นอนว่าคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะพากย์ไทยด้วย
MONOMAX (โมโนแมกซ์)
คงไม่ต้องบอกสรรพคุณ ใครที่เป็นแฟนหนังและซีรีส์ในช่อง Mono29 ก็ตามไปดูต่อกันผ่านแพลตฟอร์มได้ ล่าสุดเตรียมเอาซีรีส์ “WESTWORLD Season 3” (เวสต์เวิลด์ ซีซั่น 3) มาลงด้วย แฟน ๆ ก็ตามรอได้เลย ใครสนใจก็สมัครดูได้ ให้ดูฟรี 30 วันเช่นกัน ใครติดใจก็สมัครต่อได้ในแพ็กเกจ 250 บาท/เดือน และ 2,500 บาท/ปี
Flixer (ฟลิกเซอร์)
แพลตฟอร์มที่มีจุดยืนชัดเจน ว่ารวบรวมคอนเทนต์จากญี่ปุ่น โดยเฉพาะ ‘การ์ตูน’ ไม่ว่าจะเป็นฮีโร่ มาส์กไรเดอร์ ขบวนการเซ็นไท อุลตร้าแมน กันดั้ม อีกทั้งยังมีรายการแนวพาเที่ยว พาชิม บันเทิงวาไรตี้สนุก ๆ มากมาย โดยบริษัท ฟลิกเซอร์ จำกัด ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มมีพาร์ตเนอร์รายใหญ่เป็น บริษัทดรีม เอกซ์เพรส หรือ DEX ที่เป็นผู้นำด้านลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากญี่ปุ่นในไทยมานานกว่า 18 ปี โดย Flixer สามารถดูฟรีและแบบพรีเมียมในราคา 89 บาท
POPS (พ็อพส์)
แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจาก POPS Worldwide (ประเทศไทย) ที่เปิดตัวในเวียดนามปีที่ผ่านมา และเตรียมขยายให้ครอบคลุมทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย POPS จะคล้าย ๆ Flixer ที่เน้นคอนเทนต์การ์ตูน แต่เป็นฝั่งซูเปอร์ฮีโร่อเมริกัน อาทิ ไอรอนแมน (Ironman) วูล์ฟเวอรีน (Wolverine) เอ็กซ์เมน (X-MEN) เบลด (BLADE) และออริจินัลคอนเทนต์ที่มีพันธมิตรเป็นเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ อย่าง บี้-เดอะสกา, ต่อ-ตอปิโด หรือทีมอีสปอร์ตระดับท็อปของไทยอย่าง เบคอน ไทม์ โดยสามารถดูฟรี
รายนามยักษ์ใหญ่ที่กำลังเข้ามา
จากลิสต์รายชื่อ ดูเหมือนจะมีแค่ ‘Netflix’ รายเดียวที่เป็นรายใหญ่ระดับโลก ที่เหลือเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคและผู้ให้บริการในไทย ขณะเดียวกัน ผู้เล่นรายใหญ่ที่ยังไม่มาไทยก็กำลังเดินหน้าทำตลาดอื่น ๆ ในโลก อาทิ Disney + ของ Disney เจ้าของแฟรนไชส์พันล้านอย่าง Marvel และ Star wars, Amazon Prime Video โดย Amazon, Apple TV+ จาก Apple, HBO Max เจ้าของซีรีส์สุดฮิตอย่าง Game of throne และ Hulu นอกจากนี้ยังมีรายที่ยังไม่เปิดตัวอย่าง Peacock โดย NBCUniversal และไม่ใช่แค่ฝั่งยุโรป แต่เอเชียก็ยังมีผู้เล่นรายใหญ่ ๆ อีกนอกจาก ‘เทนเซ็นต์’ ที่เปิดตัว WeTV ในไทย อาทิ iQiyi (อ้ายฉีอี้) ฉายา Netflix ของจีน โดยมีเจ้าของคือ Baidu และ YouKu โดย Alibaba
ขนาดยังมาไม่ครบ ก็ทำเอาผู้เล่นระดับภูมิภาคไปแล้ว ถ้าวันที่ผู้เล่นเหล่านี้ทำตลาดครบทุกประเทศ ผู้เล่นที่เล็กกว่าจะใช้แผนไหนเพื่อสร้างรายได้ให้อยู่รอด คงต้องรอดูกันยาว ๆ
#Netflix #Viu #HOOQ #WETV #LINETV #iFlix #Doonee #MONOMAX #Flixer #Pops #TrueID #AISPlay #Disney+ #AmazonPrimeVideo #AppleTV+ #HBOMax #Hulu #Peacock #iQiyi #YouKu #Positioningmag