ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ระบุเทคโนโลยีการเกษตร โดยเฉพาะเทคโนโลยี IoT เป็นทางออกของธุรกิจการเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นเพิ่มความแม่นยำในการเพาะปลูก ช่วยให้สามารถบริหารจัดการการผลิตด้วยตัวเองจากฐานข้อมูลที่เป็นเรียลไทม์ ลดต้นทุนการผลิตและความเสียหายจากสภาพภูมิอากาศ เพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEs ใน 3 กลุ่มหลัก ที่มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 แสนล้านบาทและเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ภาครัฐส่งเสริมอย่างจริงจัง เพื่อเป็น Smart Farmer
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเกษตร หรือ Agritech ก้าวหน้าไปมาก สามารถปลดล็อกอุปสรรคต่างๆและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเกษตรไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยี IoT ซึ่งหัวใจหลักคือ การใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ติดตามและตรวจสอบสถานะข้อมูลที่จำเป็นในการเพาะปลูกแบบเรียลไทม์และเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ผลิตจริงได้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจและบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกษตรกรรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น ลดความเสียหายของผลผลิตจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้น สามารถรับมือกับยุคสินค้าออร์แกนิคที่ลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก แต่ยังให้คุณภาพของผลผลิตต่อไร่ดีเท่าเดิม นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังเป็นแรงผลักดันให้ภาคเกษตรต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทดแทนการใช้แรงงานลดการสัมผัสและการติดต่อระหว่างมนุษย์
“เทคโนโลยี IoT ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจเกษตรใน3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มหรือเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ผู้ผลิตสินค้าตามเงื่อนไขเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีตลาดรองรับชัดเจน รวมทั้งธุรกิจร้านอาหารที่ควบคุมห่วงโซ่การผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรด้วยตนเอง มุ่งเน้นตอบโจทย์ด้านสุขภาพ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีผู้ประกอบการกว่า 6 พันราย มีมูลค่าตลาดรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเทคโนโลยี IoT ช่วยลดต้นทุนได้ถึง 30-40% และช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง1.4-1.9 เท่าหากมีการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้อย่างจริงจังควบคู่กับเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสมอื่นๆ ผลผลิตข้าวต่อไร่มีโอกาสเพิ่มจาก 456 กก./ไร่ เป็น 638-933 กก./ไร่ ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดส่งออกข้าวได้ง่ายขึ้น และในอนาคตจะใช้ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ช่วยวิเคราะห์ วางแผนและตัดสินใจแทนมนุษย์มากยิ่งขึ้น”
นายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ รองผู้อำนวยการฝ่าย ผู้ร่วมทำวิจัยกล่าวเสริมว่า เทคโนโลยี IoT เพิ่มความแม่นยำในการเพาะปลูก สามารถสอดแทรกในทุกขั้นตอนการผลิต ทั้งการติดตามสภาพดิน การควบคุมโรคและศัตรูพืช เป็นตัวช่วยสำคัญในการติดตามสุขภาพของพืชและสัตว์ ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT ได้แก่ ระบบการติดตามปศุสัตว์ (Livestock Monitoring) ที่ใช้เซ็นเซอร์เก็บรวบรวมข้อมูลสถานที่และตำแหน่งของฝูงปศุสัตว์ ตรวจสุขภาพสัตว์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน และป้องกันการแพร่กระจายโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพโรงเรือนปลูกพืชระบบปิด (Smart Greenhouse) ด้วยการนำเซ็นเซอร์และแอปพลิเคชันมาช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูกเช่น ควบคุมความเข้มแสง อุณหภูมิ เทคโนโลยีควบคุมการให้น้ำ (Water Controlling) ใช้เซ็นเซอร์วัดค่าความชื้น และปริมาณน้ำใต้ดิน คำนวณปริมาณน้ำและเวลาในการรดน้ำที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช การใช้อุปกรณ์อากาศยานไร้คนขับสำหรับจัดการแปลงเกษตร (Drone for Farm Management) การใช้โดรนสำรวจพื้นที่ และฉีดพ่นปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง”
“ขณะเดียวกันยังเป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่ภาครัฐส่งเสริมเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคเกษตร 4.0 โดยภาครัฐตั้งเป้าผลักดันการทำเกษตรแบบ Smart Farmerซึ่งเป็นแนวโน้มของเทรนด์เกษตรทั่วโลก ทั้งนี้ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรสามารถประยุกต์เทคโนโลยี IoTได้ไม่ยาก นอกจากศึกษาผลงานวิจัยต่างๆ แล้วยังสามารถปรึกษาและขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อช่วยให้สามารถใช้เทคโนโลยีให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น ประกอบด้วยหน่วยงานวิจัยจากภาครัฐ เช่น ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ผู้ให้บริการระบบสื่อสารและโทรคมนาคม (Telco) ผู้ผลิตเครื่องจักรกลเกษตร ตลอดจนกลุ่ม Agritech Startup และผู้ให้คำปรึกษาด้านไอที ที่สามารถช่วยออกแบบ Solution ให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการแต่ละราย”