วันนี้ (14 พ.ค.) เป็นวันเเรกที่กระทรวงการคลังจัดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ในปีงบประมาณ 2563 แบบไร้ใบตราสาร วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท เป็นการระดมทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตามแผนงานโครงการของรัฐบาล ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
พันธบัตรรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” เป็นพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นพิเศษที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป ใครสนใจ “ออมเงินระยะยาว” ต้องศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน โดยมีรายละเอียดดังนี้
มีแบบไหนบ้าง?
พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (แบบไร้ใบตราสาร) วงเงินจำหน่าย 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี เเละรุ่นอายุ 10 ปี
ผลตอบเเทนเเละอัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างไร?
• อัตราดอกเบี้ยต่อปี ปีที่ 1 ร้อยละ 2.00
• อัตราดอกเบี้ยต่อปี ปีที่ 2-3 ร้อยละ 2.25
• อัตราดอกเบี้ยต่อปี ปีที่ 4 ร้อยละ 2.50
• อัตราดอกเบี้ยต่อปี ปีที่ 5 ร้อยละ 3.00
พันธบัตรรุ่นอายุ 5 ปี จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2568
รุ่นอายุ 10 ปี
• อัตราดอกเบี้ยต่อปี ปีที่ 1-3 ร้อยละ 2.50
• อัตราดอกเบี้ยต่อปี ปีที่ 4-8 ร้อยละ 3.00
• อัตราดอกเบี้ยต่อปี ปีที่ 9 ร้อยละ 3.50
• อัตราดอกเบี้ยต่อปี ปีที่ 10 ร้อยละ 4.00
พันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2573
ใครซื้อได้บ้าง?
บุคคลที่มีสิทธิ์ซื้อ
บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ และนิติบุคคลอื่นที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร
องค์กรที่ไม่สิทธิ์ซื้อ
ธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกัน กองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนส่วนบุคคลที่บริหารโดยสถาบันการเงิน กองทุนรวม คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล บรรษัท สำนักงาน ประกันสังคม รัฐวิสาหกิจ บริษัท ห้างร้าน นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โรงพยาบาลเอกชน สถานศึกษาเอกชน และนิติบุคคลที่แสวงหากำไร
ช่วงเปิดขายเเละวงเงินซื้อขั้นต่ำ
เปิดจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 – 10 มิถุนายน 2563 แบ่งออกเป็น 3 ช่วงได้เเก่
- ช่วงที่ 1 วันที่ 14-20 พฤษภาคม 2563 จองซื้อรวมทุกรุ่น ขั้นต่ำ 1,000–2,000,000 บาท/คน/ธนาคาร
- ช่วงที่ 2 วันที่ 21-27 พฤษภาคม 2563 จองซื้อรวมทุกรุ่น ขั้นต่ำ 1,000–2,000,000 บาท/คน/ธนาคาร (ไม่นับรวมยอดช่วงที่ 1)
- ช่วงที่ 3 วันที่ 28 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2563 จองซื้อรวมทุกรุ่น ขั้นต่ำ 1,000 บาท และไม่จำกัดวงเงินจองซื้อ
วันที่ครบกำหนดไถ่ถอน
- พันธบัตรรุ่นอายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 14 พฤษภาคม 2568
- พันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2573
จ่ายดอกเบี้ยอย่างไร?
เสียภาษีเท่าไร?
หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ต่อปี ทุกครั้งที่มีการจ่ายดอกเบี้ย
ซื้อได้ที่ไหน?
- ผ่าน BOND DIRECT Application และช่องทางของธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์
- ซื้อผ่านเครื่อง ATM ระบบอินเทอร์เน็ต และ Mobile Application : ธนาคารผู้จัดจำหน่ายจะหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ซื้อทันทีเมื่อสิ้นสุดการทำรายการซื้อ
- ซื้อผ่านเคาน์เตอร์: สามารถชำระได้ทั้งเงินสด หักบัญชีเงินฝาก หรือเช็ค (วันที่ 10 มิถุนายน 2563 ไม่รับชำาระด้วยเช็ค) โดยสั่งจ่าย “บัญชีจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษของกระทรวงการคลัง รุ่นอายุ 5 ปี” “บัญชีจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษของกระทรวงการคลัง รุ่นอายุ 10 ปี”
วิธีลงทะเบียนซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ (กรณีซื้อครั้งแรก)
ในกรณีที่ไม่เคยซื้อพันธบัตรออมทรัพย์กับธนาคารมาก่อน จะต้องลงทะเบียนซื้อพันธบัตรและเปิดบัญชีฝากหลักทรัพย์ที่สาขาธนาคาร โดยใช้หลักฐาน ดังนี้
บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือเอกสารหลักฐานการแสดงตนที่ออกโดยหน่วยงานราชการ (กรณีนิติบุคคล) และสำเนาเอกสารดังกล่าว พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีเงินฝาก (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากประจำ) ของผู้ซื้อที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคารนั้น พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง ในกรณีที่ไม่มีบัญชีเงินฝาก ผู้ซื้อต้องเปิดบัญชีใหม่ ซึ่งต้องเป็นบัญชีของธนาคารที่ทำรายการซื้อเท่านั้น
คลังตอบ 18 ข้อสงสัย “พันธบัตรรัฐบาล “เราไม่ทิ้งกัน”
ทาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้ออกมาตอบ 18 ข้อสงสัย คำถามที่พบบ่อยของพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ แบบไร้ใบตราสาร รุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ดังนี้
1. ทำไมการลงทุนในพันธบัตรรุ่นนี้จึงน่าสนใจ หากเทียบกับการฝากเงินแบบประจำ
กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกพันธบัตร โดยมอบอำนาจให้ ธปท. เป็นนายทะเบียน การลงทุนในพันธบัตรจึงเป็นการลงทุนที่มั่นคง ไม่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินต้นคืน ได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนในอัตราแบบคงที่ตามระยะเวลากำหนดที่แน่นอน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรในขณะที่ออกจำหน่ายโดยส่วนใหญ่จะกำหนดให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในขณะนั้น
2. ข้อดีของการเป็นพันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) คืออะไร
เมื่อพันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ถือกรรมสิทธิ์ไม่ต้องคืนใบพันธบัตรให้ ธปท. โดยเงินต้นจะโอนเข้าบัญชีเงินฝาก (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากประจำ) ของผู้ถือกรรมสิทธิ์อัตโนมัติ และไม่ต้องมีภาระในการเก็บรักษาใบพันธบัตร ทั้งนี้ให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์นำสมุดบัญชีเงินฝากและ Bond Book ไปปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้ที่ธนาคารที่ทำรายการซื้อ
3. สนใจซื้อพันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) ต้องทำอย่างไร
ผู้สนใจสามารถเลือกวิธีการซื้อพันธบัตรวิธีใดวิธีหนึ่งได้จาก 4 ช่องทาง ดังนี้
3.1 การซื้อผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ผู้ซื้อจะต้องลงทะเบียนและเปิดบัญชีฝากหลักทรัพย์ที่ธนาคาร (ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์) และทำรายการซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 – 10 มิถุนายน 2563 หรือจนถึงวันที่จำหน่ายได้ครบวงเงินตามที่แต่ละธนาคารได้รับจัดสรร โดยผู้ซื้อสามารถดาวน์โหลดใบจองซื้อได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
3.2 การซื้อผ่านเครื่อง ATM ผู้ซื้อจะต้องดำเนินการตามข้อ 3.1 และแจ้งธนาคารเพื่อขอทำบัตร ATM ซึ่งมีข้อดี คือ ผู้ซื้อจะสามารถดำเนินการผ่านเครื่อง ATM ได้ทุกเครื่องของธนาคาร โดยไม่ต้องเดินทางมาที่ธนาคาร
3.3 การซื้อผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และ Mobile Application ผู้ซื้อจะต้องดำเนินการตามข้อ 3.1 และลงทะเบียนเพื่อเปิดใช้บริการระบบอินเทอร์เน็ต และ Mobile Application โดยผู้ซื้อจะได้รับความสะดวกในการซื้อและสามารถซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง
3.4 การซื้อผ่าน BOND DIRECT Application ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้ซื้อจะต้องมีบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารกรุงไทย และจะต้องชำระเงินผ่าน Mobile Application ของธนาคารกรุงไทย หรือเคาน์เตอร์ของธนาคารกรุงไทย
4. ซื้อแล้วได้หลักฐานอะไรกลับไป
เมื่อผู้ซื้อชำระเงินในการซื้อพันธบัตรแล้ว ทั้ง 4 ช่องทาง มีหลักฐานเพื่อยืนยันการซื้อ ดังนี้
4.1 กรณีซื้อผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ผู้ซื้อจะได้รับเอกสารยืนยันการซื้อพันธบัตร
4.2 กรณีที่ซื้อผ่านเครื่อง ATM ผู้ซื้อจะได้รับใบเสร็จหรือใบแสดงรายการที่พิมพ์จากเครื่อง ATM (Slip) เพื่อเป็นหลักฐานในการชำระค่าซื้อพันธบัตร
4.3 กรณีซื้อผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และ Mobile Application ผู้ซื้อจะได้รับหลักฐานการทำรายการตามบริการของแต่ละธนาคารกำหนด
4.4 กรณีซื้อผ่าน BOND DIRECT Application หากชำระเงินผ่าน Mobile Application ของธนาคารกรุงไทย ผู้ซื้อจะได้รับหลักฐานการทำรายการตามบริการที่ธนาคารกำหนด กรณีชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ ผู้ซื้อจะได้รับเอกสารยืนยันการซื้อพันธบัตร
สำหรับผู้ซื้อพันธบัตรรายใหม่ จะได้รับสมุดพันธบัตรรัฐบาล กระทรวงการคลัง (Bond Book) ที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพันธบัตร โดยจะได้รับในวันที่ซื้อหรืออาจได้รับภายหลังไม่เกิน 15 วันทำการ สำหรับผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่มี Bond Book อยู่แล้ว ให้นำ Bond Book ไปปรับปรุงข้อมูลรายการซื้อให้เป็นปัจจุบันได้ที่ธนาคารที่ทำรายการซื้อภายหลังจากวันที่ทำรายการซื้อแล้ว 15 วันทำการ
โดยผู้ถือกรรมสิทธิ์จะนำไปใช้อ้างอิงสำหรับ การทำธุรกรรมได้ รายการที่ปรากฏอยู่ใน Bond Book เป็นรายการซื้อที่แสดงมูลค่าตามราคาตรา (Par Value) ในวันที่จดทะเบียน และในวันที่ทำรายการจะแสดงมูลค่าตามราคาตลาด (Market Value) ของแต่ละธนาคาร โดยจะถือว่าถูกต้องเมื่อรายการดังกล่าวตรงกันกับรายการที่บันทึกไว้ที่ธนาคาร
ทั้งนี้ จะปรากฏเฉพาะรุ่นพันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) ที่ซื้อผ่านธนาคารเท่านั้น โดยผู้ถือกรรมสิทธิ์สามารถนำ Bond Book ที่ได้รับตั้งแต่การซื้อพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 จนถึงพันธบัตรรุ่นนี้ไปปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันผ่านธนาคารที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ทำรายการซื้อเท่านั้น
สำหรับการจ่ายคืนเงินต้นพันธบัตรเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน กระทรวงการคลังจะจ่ายคืนตามราคาตรา (Par Value)
5. คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล หรือกองทุนส่วนบุคคลสามารถซื้อพันธบัตรรุ่นนี้ได้หรือไม่
คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่สามารถซื้อได้ เนื่องจากไม่มีสถานภาพเป็นบุคคล (บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะซื้อได้ กองทุนส่วนบุคคลที่บริหารโดยสถาบันการเงินไม่สามารถซื้อได้
6. คู่สมรสจะต้องให้ความยินยอมหากอีกฝ่ายต้องการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์หรือไม่
ไม่ต้องให้ความยินยอม
7. ซื้อพันธบัตรรุ่นเดียวกัน จำนวนเงินเท่ากัน ทำไมได้รับดอกเบี้ยงวดแรกไม่เท่ากัน
เนื่องจากวันที่ซื้อพันธบัตรต่างกัน ทำให้การนับจำนวนวันเพื่อนำไปคำนวณดอกเบี้ยไม่เท่ากัน โดยมีหลักเกณฑ์การนับวัน ให้นับวันที่ซื้อ ไม่นับวันที่จ่ายดอกเบี้ย เช่น
นาย ก. ซื้อพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี ชำระด้วยเงินสดจำนวน 500,000 บาท ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 จ่ายดอกเบี้ยงวดแรกวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 การนับวันจะนับวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 เป็นจำนวน 180 วัน
นาย ข. ซื้อพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี ชำระด้วยเงินสดจำนวน 500,000 บาท ในวันที่ 8 มิถุนายน 2563 จ่ายดอกเบี้ยงวดแรกวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 การนับวันจะนับวันที่ 8 มิถุนายน 2563 จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 เป็นจำนวน 159 วัน
ทั้งนี้ งวดต่อไปจำนวนวันเพื่อนำไปคำนวณดอกเบี้ยของ นาย ก. และนาย ข. จะเท่ากัน
8. การขอคืนภาษีดอกเบี้ยพันธบัตรรุ่นนี้ทำอย่างไร
เมื่อ ธปท. จ่ายดอกเบี้ยเข้าบัญชีเงินฝากของท่าน ธปท. จะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานขอคืนภาษีประจำปีได้ ในกรณีที่เงินได้สุทธิของท่านเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 15
9. การโอนดอกเบี้ยและเงินต้นพันธบัตรเข้าบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือไม่
ในการโอนดอกเบี้ยและเงินต้นเข้าบัญชีเงินฝาก (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากประจำ) เจ้าของบัญชีได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงิน
10. หากต้องการรับดอกเบี้ยและเงินต้นเป็นเงินสดและเช็คจะทำได้หรือไม่
ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจาก ธปท. จะโอนดอกเบี้ยและเงินต้นเข้าบัญชีเงินฝาก (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากประจำ) ของผู้ถือกรรมสิทธิ์เท่านั้น
11. หากต้องการแจ้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ บัญชีรับดอกเบี้ยและเงินต้น หรือข้อมูลอื่นๆ จะต้องทำอย่างไร
กรณีพันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร (Scripless)
-ติดต่อธนาคารที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ทำรายการซื้อ โดยนำ Bond Book และหลักฐานอื่นที่ต้องใช้ในการอ้างอิงไปด้วย
กรณีพันธบัตรแบบมีใบตราสาร (Scrip)
-ให้แจ้งโดยตรงที่ ธปท. สำนักงานใหญ่ สำนักงานภาค หรือธนาคาร สำนักงานใหญ่ และสาขาทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อให้ ธปท. ดำเนินการต่อไป
12. การขอหนังสือรับรองยอดพันธบัตร (กรณีไร้ใบตราสาร) กับทางสาขาธนาคาร สาขาธนาคารสามารถดำเนินการออกให้ได้เลยหรือไม่ และคิดค่าธรรมเนียมอย่างไร
ธนาคารสามารถออกหนังสือรับรองยอดพันธบัตร (กรณีไร้ใบตราสาร) ให้ได้ โดยคิดค่าธรรมเนียมการจัดทำหนังสือรับรองยอดพันธบัตร ตามอัตราที่แต่ละธนาคารประกาศกำหนด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่าง 50-200 บาท ต่อฉบับ (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ธนาคาร)
13. ถ้ามีความประสงค์จะเปลี่ยนพันธบัตรจากแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) ให้เป็นแบบมีใบตราสาร (Scrip) ทำได้หรือไม่ เสียค่าใช้จ่ายเท่าใด ใช้เวลาดำเนินการประมาณกี่วัน ลูกค้าถึงจะได้รับใบพันธบัตร
ทำได้ โดยต้องนำ Bond Book ไปติดต่อธนาคารเพื่อขอออกใบพันธบัตร โดยมีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการรวมทั้งสิ้นประมาณ 290-370 บาท ต่อรายการ (แล้วแต่กรณี) ประกอบด้วย
– ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กับศูนย์รับฝาก 65 บาทต่อรายการ ไม่รวม VAT
– ค่าธรรมเนียมการออกใบพันธบัตรที่ต้องจ่ายให้ ธปท. กรณีบุคคลธรรมดา 20 บาทต่อฉบับ กรณีนิติบุคคล 100 บาทต่อฉบับ ไม่คิด VAT
– ค่าธรรมเนียมการดำเนินธุรกรรมในการถอนพันธบัตรจากระบบ Scripless ที่ต้องจ่ายให้ธนาคาร 200 บาทต่อรายการ รวม VAT
– ลูกค้าจะได้รับใบพันธบัตรประมาณ 4 – 10 วัน (ยังไม่รวมการจัดส่งใบพันธบัตร) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร
14. การขอออกใบพันธบัตรตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 สามารถออกเป็นชื่อบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ซื้อในครั้งแรกได้หรือไม่ เช่น นาย ก. ซื้อ แต่ขอออกใบเป็นชื่อ นาย ข.
นาย ก. จะต้องทำการโอนให้นาย ข. ก่อน โดยต้องนำ Bond Book ไปติดต่อที่ธนาคาร และกรอกแบบฟอร์มแจ้งการโอนกรรมสิทธิ์พร้อมเอกสารประกอบ โดยธนาคารไม่คิดค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างลูกค้ารายเดิมภายในกลุ่มผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ซื้อผ่านธนาคารเดียวกัน
ทั้งนี้ หากเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างลูกค้ารายเดิมให้กับลูกค้ารายใหม่ ธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์จากลูกค้ารายใหม่ 250 บาท ต่อรายการ รวม VAT แล้วจึงขอออกใบพันธบัตรเป็น นาย ข.
15. การโอนเปลี่ยนมือระหว่างธนาคารทำได้หรือไม่
การโอนกรรมสิทธิ์พันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) สามารถกระทำได้โดยอาจเป็นการโอนให้กับลูกค้ารายใหม่หรือลูกค้าเดิมภายในกลุ่มผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ซื้อผ่านธนาคารเดียวกัน แต่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างธนาคารได้ โดยผู้ถือกรรมสิทธิ์จะต้องนำ BondBook ไปติดต่อธนาคารที่ได้ฝากพันธบัตรไว้
16. ความเสี่ยงของการถือพันธบัตรรุ่นนี้มีอะไรบ้าง
ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรไม่มีความเสี่ยงจากการสูญเงินต้น แต่อาจมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนในพันธบัตรอาจเสียโอกาสที่จะลงทุนในทางเลือกอื่น ๆ ที่มีผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากพันธบัตร เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในอนาคตสูงขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในพันธบัตร จะได้รับดอกเบี้ยคงที่ตามอัตราที่กำหนดไว้บนหน้าพันธบัตร ตลอดอายุพันธบัตร
ในกรณีที่นำพันธบัตรไปขายให้กับสถาบันการเงินหรือบุคคลอื่น ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับเงินต้นคืนไม่เท่ากับ 1,000 บาทต่อหน่วยตามที่ตราไว้ โดยราคาที่ได้อาจมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด ณ ขณะนั้นๆ อย่างไรก็ดี หากผู้ลงทุนถือพันธบัตร จนถึงวันครบกำหนดแล้ว จะได้รับคืนเงินต้นเต็มจำนวนเสมอ
ท่านสามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ที่ website ต่างๆ ดังนี้
https://www.bot.or.th/Thai/DebtSecurities
17. การไถ่ถอนคืนเงินต้นพันธบัตรเมื่อครบกำหนดต้องดำเนินการอย่างไร
กรณีพันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) ธปท. จะจ่ายคืนเงินต้นพันธบัตร โดยโอนเงินต้นเข้าบัญชีเงินฝาก (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากประจำ) ให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามรายชื่อและข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากศูนย์รับฝาก ซึ่งเป็นรายชื่อ ณ สิ้นวันทำการสุดท้ายก่อนวันปิดสมุดทะเบียนเพื่อจ่ายคืนเงินต้นตามที่ ธปท. ประกาศกำหนด
กรณีพันธบัตรแบบมีใบตราสาร (Scrip) การจ่ายคืนเงินต้นพันธบัตรจะกระทำได้ต่อเมื่อ ธปท. ได้รับคืนใบพันธบัตร โดย ธปท. จะจัดส่งแบบคำขอรับคืนเงินต้นพันธบัตรให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน
เอกสารไถ่ถอน ประกอบด้วย
– คำขอรับคืนเงินต้นพันธบัตร ที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้กรอกข้อมูลและลงลายมือชื่อตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับ ธปท.
– พันธบัตรฉบับจริงทุกฉบับ ที่ครบกำหนดไถ่ถอน
– สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีเงินฝากของผู้ถือกรรมสิทธิ์ (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากประจำ) ที่รับรองสำเนาถูกต้อง
– กรณีบุคคลธรรมดา – ยื่นด้วยตนเอง แสดงบัตรประจำตัวประชาชน
– ไม่มายื่นด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่รับรองสำเนาถูกต้อง
– กรณีนิติบุคคล แนบ – สำเนาเอกสารแสดงความเป็นนิติบุคคล เช่น หนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ออกไว้ไม่เกิน 1 เดือน ใบอนุญาตจัดตั้ง และรายงานการประชุม ประจำปีครั้งล่าสุดของสมาคมมูลนิธิ ฯลฯ ที่รับรองสำเนาถูกต้องโดยผู้มีอำนาจลงนาม และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่มีอำนาจลงนาม ที่รับรองสำเนาถูกต้อง
– กรณีไถ่ถอนพันธบัตรของผู้เยาว์ การลงลายมือชื่อในคำขอรับคืนเงินต้นบันธบัตร ให้ดำเนินการดังนี้
ผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ ให้ผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรมลงลายมือชื่อ
ผู้เยาว์อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ให้ผู้เยาว์และผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรม ลงลายมือชื่อร่วมกัน
ผู้เยาว์อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อนุโลมไม่ต้องแจ้งบรรลุนิติภาวะก่อนไถ่ถอน และในคำขอรับคืนเงินต้นพันธบัตรให้ระบุบัญชีรับเงินต้นเป็นชื่อผู้เยาว์เท่านั้น โดยผู้เยาว์และผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรมลงลายมือชื่อร่วมกัน
หมายเหตุ – ยื่นด้วยตนเอง ให้แสดงบัตรประจำตัวประชาชนผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรมและสูติบัตรหรือทะเบียนบ้านหรือบัตรประจำตัวประชาชนผู้เยาว์ แล้วแต่กรณี
– ไม่มายื่นด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ แนบสำเนาบัตรประจาตัวประชาชนผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรม และสำเนาสูติบัตรหรือทะเบียนบ้านหรือบัตรประจำตัวประชาชนผู้เยาว์ แล้วแต่กรณี ที่รับรองสำเนาถูกต้อง
– ผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรม ต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในพันธบัตร
– การไถ่ถอนพันธบัตรของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ถึงแก่กรรม ให้ผู้จัดการมรดกยื่นเอกสารไถ่ถอนแทน พร้อมคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด
18. การโอนพันธบัตรให้แก่ทายาท ในกรณีที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรถึงแก่กรรม
กรณีพันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร (Scripless)
– ผู้จัดการมรดกติดต่อยื่นขอจัดการมรดกที่ธนาคารผู้จัดจำหน่าย
– กรณีพันธบัตรแบบมีใบตราสาร (Scrip) ผู้จัดการมรดกติดต่อ ธปท. โดยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ถึงแก่กรรม ตามระเบียบที่ ธปท. กำหนด