เปิดแล้ว! มอเตอร์เวย์ “พัทยา-มาบตาพุด” ใช้ฟรี 3 เดือน จ่อขยายเส้นทางถึงสนามบินอู่ตะเภา

“ศักดิ์สยาม” กดปุ่มเปิดใช้มอเตอร์เวย์ “พัทยา-มาบตาพุด” ใช้ฟรีถึง ส.ค. 63 เผย “นายกฯ” สั่งเร่งต่อเข้าสนามบินอู่ตะเภาอีก 7 กม. เติมโครงข่าย EEC เชื่อมอากาศ และราง

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดทดลองให้บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ณ ด่านเก็บเงินค่าผ่านทางอู่ตะเภา ซึ่งพร้อมเปิดทดลองให้ประชาชนได้ใช้บริการโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2563 เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2563

โดยผู้ใช้ทางสามารถเข้ามาใช้บริการได้ 2 ทาง คือ วิ่งต่อเนื่องจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงชลบุรี-พัทยา ที่บริเวณทางแยกต่างระดับมาบประชัน หรือเข้าจากทางหลวงหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท ที่ด่านอู่ตะเภา

ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ที่อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา เพื่อให้การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรม เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขยายโอกาสการค้าและการลงทุน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต

ในพื้นที่ EEC ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการเมืองการบินอู่ตะเภาซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 60 ล้านคนต่อปี ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เร่งให้ดำเนินการต่อเชื่อม จากจุดสิ้นสุดมอเตอร์เวย์ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ไปยังสนามบินอู่ตะเภา ระยะทางประมาณ 7 กม. เพื่อเติมเต็มระบบคมนาคมขนส่งในระเบียงเศรษฐกิจ EEC ให้สมบูรณ์

และอนาคตจะต่อขยายจากอู่ตะเภาไประยอง ปราจีนบุรี เพื่อเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ 6,000 กว่า กม.นั้น ได้ให้นโยบาย ทล.วางแผน ออกแบบ โดยบูรณาการก่อสร้างร่วมกับโครงการรถไฟทางคู่ และก่อสร้างไปพร้อมๆ กันเพื่อลดผลกระทบในการก่อสร้างและการเวนคืน ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานกลาง ในการประสานการศึกษาร่วมกับกรมทางหลวงและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีจะชัดเจน

สำหรับการลงทุนมอเตอร์เวย์นั้นจะเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) และให้เน้นการใช้ผู้รับจ้างในประเทศก่อน (Local Content) หากเต็มความสามารถผู้ประกอบการในประเทศแล้วจึงจะเปิดประมูลนานาชาติ ทั้งนี้ การพัฒนาระบบมอเตอร์เวย์ควบคู่กับรถไฟทางคู่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์อาเซียนต่อไป

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา-มาบตาพุด เป็นทางหลวงมาตรฐานสูงที่มีการควบคุมการเข้า-ออกอย่างสมบูรณ์ (Fully Controlled Access) มีถนนขนาด 4-6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อเส้นทางสายชลบุรี-พัทยา บริเวณทางแยกต่างระดับมาบประชัน มุ่งไปทางทิศใต้ผ่าน อ.บางละมุง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ไปสิ้นสุดที่บริเวณบรรจบทางหลวงหมายเลข 3 เทศบาลเมืองมาบตาพุด อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ระยะทางรวม 32 กม.

นับเป็นเส้นทางสายหลักที่เชื่อมสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตลอดจนนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ให้ดียิ่งขึ้น โดยกรมทางหลวงใช้รายได้ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ที่เปิดให้บริการในปัจจุบันมาใช้ดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด แบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 14 สัญญา ได้แก่ งานโยธา (งานก่อสร้างทางและสะพาน) 13 สัญญา และงานระบบ 1 สัญญา วงเงินลงทุนรวม 17,784 ล้านบาท (มูลค่าเวนคืน 6,000 ล้านบาท และมูลค่าก่อสร้าง 11,784 ล้านบาท) โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2559 จนเปิดทดลองให้ประชาชนได้ใช้บริการแล้วในวันนี้

สำหรับรูปแบบโครงการมีลักษณะเป็นทางหลวงพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจร ที่ควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ ผู้ใช้ทางสามารถใช้ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตลอดเส้นทาง ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากทางแยกต่างระดับมาบประชันถึงสนามบินอู่ตะเภาลงกว่า 30 นาที โดยตลอดแนวเส้นทางโครงการมีด่านชำระค่าผ่านทาง 3 แห่ง ได้แก่ ด่านฯ ห้วยใหญ่ เชื่อมสู่บ้านอำเภอ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี, ด่านฯ เขาชีโอน เชื่อมสู่ทางหลวงหมายเลข 331 อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และด่านฯ อู่ตะเภา เชื่อมสู่ถนนสุขุมวิท อำเภอเมือง และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

โดยใช้ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ประกอบด้วย ระบบเงินสด (MTC) และแบบอัตโนมัติ (ETC) ซึ่งสามารถพัฒนาสู่รูปแบบการเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้นในอนาคต โดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทาง

นอกจากนี้ ผู้ใช้ทางยังสามารถจอดพัก ผ่อนคลายจากการขับขี่ได้ ณ จุดพักรถ (Rest Stop) มาบประชัน และสถานที่บริการทางหลวง (Service Area) บางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างและมีแผนเปิดให้บริการภายในปี 2565

Source