รู้จัก “Travel Bubble” การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ยุค COVID-19 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

หลังสถานการณ์ COVID-19 บ้านเราดีขึ้นมาตามลำดับ ปลอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศมากว่า 2 สัปดาห์ จนรัฐบาลคลายล็อกในเฟส 3 ให้คนไทยสามารถเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้ พร้อมกับมีแผน “แจกเงินเที่ยว” เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกิจกรรมไทยเที่ยวไทย

นอกจากนี้รัฐบาลลุงตู่ ยังมองข้ามช็อตไปถึงการเปิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับเข้ามาเที่ยวเมืองไทยอีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขเรื่องความปลอดภัยจาก COVID-19

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมความพร้อมในการเจรจาจับคู่การเดินทางกับประเทศที่สามารถจัดการกับสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ได้ดีเยี่ยม จนสามารถเปิดการเดินทางระหว่างกันได้โดยไม่ต้องกักตัว หรือที่เรียกว่า “ทราเวลบับเบิล” ขึ้น เพื่อหวังจะดูดเงินนักท่องเที่ยวต่างชาติมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกทาง

รู้จัก Travel Bubble

“ทราเวลบับเบิล” (Travel Bubble) เป็นศัพท์ใหม่ที่ถูกบัญญัติขึ้นในช่วง COVID-19 เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

Travel Bubble หรือที่มีคำนิยามในภาษาไทยว่า “ระเบียงท่องเที่ยว” หมายความถึงการจับคู่ด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศที่มีความมั่นใจในความปลอดภัยของโรค COVID-19

โดยจะมีการตกลงกันระหว่างรัฐบาลของแต่ละประเทศในการให้สิทธิพิเศษของการเดินทางเข้าออกระหว่างกันได้โดยไม่ต้องมีการกักตัว 14 วัน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขมาตรการป้องกัน COVID-19 อย่างเข้มข้น เช่น การตรวจเช็กสุขภาพทั้งจากประเทศต้นทางและปลายทางว่าผู้ที่เดินทางมานั้นปลอดจากโรคจริง

หรือมีหนังสือรับรองผ่านการตรวจโรคว่ามีผลเป็นลบมาแสดง การใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวตลอดการเดินทาง และที่สำคัญคือต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 ด้วยวิธีการที่แต่ละคู่ประเทศจะตกลงกัน

ต้นแบบโมเดล Travel Bubble

สำหรับประเทศคู่แรกที่ถือเป็นต้นแบบของโมเดลทราเวลบับเบิลก็คือ “นิวซีแลนด์” และ “ออสเตรเลีย” ซึ่งทั้งคู่ใช้ชื่อว่าใช้ชื่อว่า “Tran-Tasman Travel Bubble” โดยคู่ประเทศทั้งสองตกลงยินยอมให้มีการเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องให้มีการกักตัว แต่ยังคงมีมาตรการตรวจเข้มข้นที่สนามบินของแต่ละประเทศ โดยอาจจะเริ่มอนุญาตให้มีการเดินทางไปมาในบางเมืองก่อน

แผนการจับคู่ท่องเที่ยวกันของนิวซีแลนด์ และออสเตรเลียมีข่าวออกมาว่าทั้งสองประเทศอาจจะเริ่มเปิดพรมแดนระหว่างกันเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงราวเดือน ส.ค. ซึ่งก็มีความเป็นไปได้มากเพราะในช่วงเดือนนี้เป็นฤดูกาลเล่นสกีในนิวซีแลนด์ และช่วงเดือน ก.ย. ก็เป็นช่วงปิดเทอมของโรงเรียนในสองประเทศนี้

เทรนด์ใหม่ Travel Bubble

หลังแผนการเปิดพรมแดนจับคู่เที่ยวระหว่างนิวซีแลนด์ และออสเตรเลียเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จึงเกิดรูปแบบของการท่องเที่ยวในแบบ Travel Bubble ซึ่งวันนี้ได้มีหลายประเทศนำแนวคิดนี้ไปใช้เพื่อวางแผนจับคู่ประเทศหรือจับกลุ่มประเทศเปิดการท่องเที่ยวระหว่างกัน อย่างเช่น

Photo : Shutterstock
  • ญี่ปุ่น เตรียมจับคู่กับ ไทย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และเวียดนาม
  • จีน จับคู่กับ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า เปิดให้เที่ยวได้ใน 10 ภูมิภาคของจีน
  • กลุ่มประเทศในยุโรป ประกอบด้วย เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ และออสเตรีย เปิดให้เที่ยวระหว่างกันในกลุ่ม
  • สิงคโปร์ จับคู่กับ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และจับคู่เดินทางไปบางมณฑลในจีน
  • กลุ่มประเทศในสแกนดิเนเวีย จับคู่เดินทางกันเองยกเว้นสวีเดน เนื่องจากวันนี้สวีเดนยังคงมีการระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง
  • กลุ่มประเทศแถบทะเลบอลติก ในยุโรปตะวันออก ประกอบด้วย ลัตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย อนุญาตให้ประชาชนเดินทางไป-มา ได้อย่างเสรี
  • อิตาลี เป็นประเทศแรกในยุโรปที่เปิดพรมแดนให้ต่างชาติเข้ามาเที่ยว เพราะต้องการให้การท่องเที่ยวมาช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

นี่คือตัวอย่างของหลายประเทศที่เริ่มทยอยเปิด Travel Bubble ซึ่งนอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังพิจารณาการเปิดการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่นี้ รวมถึงประเทศไทยเราด้วย

ไทยจ่อคลายล็อก เปิด Travel Bubble

ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความสนใจใน Travel Bubble ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปศึกษาแนวทางการท่องเที่ยวดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ราวไตรมาส 3-4

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เรื่องการคลายล็อกดาวน์ให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการฟื้นการท่องเที่ยวของไทย แต่การเปิดให้นักท่องเที่ยงเข้ามา ต้องเลือกสรรอย่างดี ประเทศที่จะจับคู่กัน ต้องปลอดจากการระบาดของ COVID-19 พอสมควร

“การให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทย ไม่จำเป็นต้องเปิดให้ต่างชาติเข้าทั้งประเทศ สามารถเลือกเป็นเมือง หรือมณฑล เชื่อมโยงระหว่างคนกับพื้นที่ ต้องติดตามให้ดี มีระบบดิจิทัล ต้องค่อยๆ เปิด จะมีต่างประเทศเข้ามาเที่ยวไทยในไตรมาส 3-4” นายสมคิดกล่าว

แนวทางของ Travel Bubble

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ได้มีการประกาศคลายล็อกระยะ 4 พร้อมกับได้พูดถึงประเด็น Travel Bubble โดยที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้กล่าวว่า

ที่ประชุมเห็นชอบหลักการในการเปิดประเทศเพื่อท่องเที่ยวอย่างจำกัด ตามที่การท่องเที่ยวเสนอ เป็น Travel Bubble โดยต้องเลือกเป้าหมาย ประเทศที่ควบคุมการระบาดที่ดี และตรวจเชื้ออย่างเข้มงวดตั้งแต่การออกนอกประเทศ จนมาถึงประเทศไทย ซึ่งมีแนวทางในการคัดเลือก ดังนี้

  1. ผู้เดินทางจะต้องมีการซื้อประกันสุขภาพ และใบรับรองสุขภาพอย่างละเอียด
  2. เมื่อเดินทางมาถึงแล้วจะไม่ต้องมีการกักตัว แต่จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น
  3. กลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามา จะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มที่เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ หรือ เมดิคัลทัวร์ลิสต์ ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวและมีความจำเป็นต้องเข้ามา
  4. นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว จะมีระบบติดตาม
Photo : Shutterstock

ทั้งนี้ จะต้องหารือกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ก่อนจะออกมาตรการเพื่อบังคับใช้จริงต่อไป

และนี่ก็คือแนวทางของการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ Travel Bubble ซึ่งหากไทยเรามีการวางแผน มีมาตรการรับมือโรค และการบริหารจัดการที่ดี ก็จะสามารถดูดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ไม่น้อย แต่หากบริหารจัดการไม่ดี ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มรัฐบาลก็จะถูกด่าไม่น้อยเช่นกัน

Source