เปิดแผนฟื้นฟู “ขสมก.” ล้างหนี้ 1.27 แสนล้าน ปรับค่าโดยสาร ดึงเอกชนเดินรถ ปี 72 เลิกขาดทุน!

Photo : Shutterstock
คนร. ไฟเขียวปรับปรุงแผนฟื้นฟู ขสมก.ใหม่ รัฐรับหนี้ 1.27 แสนล้าน หนุน PSO และเออร์รี่ 1.4 หมื่นล้าน เปลี่ยนจ้างเอกชนวิ่งตามระยะทาง 2,511 คัน ดึงรถร่วม 54 เส้นทางรับจ้างวิ่งด้วยอีก 1,500 คัน จ่าย 30 บาท/วัน ขึ้นได้ทุกสาย “ศักดิ์สยาม” ลั่น ปี 72 เลิกขาดทุน

ปรับค่าโดยสาร ให้เอกชนเดินรถ

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 8 มิ.ย. มีมติเห็นชอบหลักการการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งมีรายละเอียดเปลี่ยนแปลงจากแผนฟื้นฟูเดิมที่ ครม.เคยมีมติเห็นชอบไปเมื่อ 25 มิ.ย. 2562 เช่น

  • การจัดหารถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 2,511 คัน จากการซื้อและเช่า เป็นการจ้างวิ่งตามระยะทาง
  • ปรับปรุงเส้นทางเดินรถ ไม่ให้ทับซ้อน
  • เปลี่ยนค่าโดยสาร จาก 15-20-25 บาทตามระยะทาง เป็น 30 บาท/วัน ไม่จำกัดเที่ยว เป็นต้น

โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาแผนฟื้นฟูฯ และการบริหารจัดการหนี้อย่างละเอียด เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน มิ.ย.นี้ โดยจะเสนอใน 4 ประเด็นคือ

  • ทบทวนมติ ครม.เดิม เพื่อให้ ขสมก.เช่ารถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน
  • จ้างเอกชนเดินรถบริการ (NGV) จำนวน 1,500 คัน
  • ขอจัดสรรงบประมาณ ประจำปี 2565 สำหรับโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด จำนวน 5,301 คน วงเงิน 4,560 ล้านบาท
  • ขอให้รับภาระหนี้สิน 127,786.1 ล้านบาท และขอเงินอุดหนุนค่าบริการเชิงสังคม (PSO) จำนวน 7 ปี วงเงิน 9,674 ล้านบาท

ขาดทุนเดือนละ 360 ล้าน

เนื่องจากสภาพรถ ขสมก.เก่าและชำรุด ใช้งานมากว่า 20 ปี อีก 3 ปีอะไหล่จะเลิกผลิต มีปัญหาค่าเหมาซ่อมสูง ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ทำให้มีผลประกอบการขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี 2519 และถึงวันที่ 31 มี.ค. 2562 มีหนี้สินรวม 123,824.9 ล้านบาท หรือขาดทุนประมาณ 360 ล้านบาทต่อเดือน (ดอกเบี้ยจ่าย 233 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นหนี้จากการออกพันธบัตร จำนวน 64,339.1 ล้านบาท และหนี้เงินกู้ อีก 63,446.9 ล้านบาท ซึ่งจะมีกำหนดครบชำระทยอยแต่ละปีตามแผนฟื้นฟูนี้ ขสมก. เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเข้ามาดูแลรับภาระหนี้

รถเมล์ ขสมก

แผนฟื้นฟูใหม่ ขสมก. มีการปรับปรุงเส้นทางเดินรถจาก 269 เส้นทางเป็น 162 เส้นทาง (ขสมก.108 เส้นทาง รถร่วมเอกชน 54 เส้นทาง) เพื่อไม่ให้ทับซ้อน โดย ขสมก.จะจัดหารถ EV 2,511 คัน ในรูปแบบการจ้างวิ่งจ่ายค่าเช่าตามระยะทาง เอกชนต้องรับภาระค่าเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงทั้งหมด โดยเลือกรายที่เสนอค่าจ้างวิ่งต่ำสุด ซึ่งจากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจร.) การเดินรถเฉลี่ยจะอยู่ที่ 240 กม./คัน /วัน ดังนั้นต้นทุนหลังจากนี้จะอยู่ที่ราคาประมูลของเอกชนเท่าไร นำมาคูณกับจำนวนรถที่เช่า ซึ่งคาดว่าจะมีต้นทุนค่าจ้างวิ่งประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี ขณะที่ปัจจุบัน ขสมก.มีต้นทุนการบริการกว่า 50 บาท/กม. ดังนั้นเอกชนต้องเสนอราคาที่ต่ำกว่านี้แน่นอน

ปรับค่าโดยสาร 30 บาท/วัน

ส่วนรถร่วมเอกชนมี 54 เส้นทางนั้นจะเป็นรถ NGV จำนวน 1,500 คัน ซึ่ง ขสมก.จะจ้างให้เอกชนมาร่วมเดินรถโดยจ่ายค่าเช่าวิ่งตามกิโลเมตร เพื่อให้โครงสร้างค่าโดยสารเหมือน ขสมก. ที่ 30 บาท/วัน ไม่จำกัดเที่ยว หากไม่จ้างเอกชนวิ่ง ประชาชนจะต้องจ่ายค่าโดยสารเส้นทางของรถร่วมเอกชน ที่ 15-20-25 บาท

โดยหลัง ครม.อนุมัติ ขสมก.จะเร่งออก TOR เปิดประมูลรถ 2,511 คันในเดือน ก.ค. – ก.ย. 63 ลงนามสัญญา ปลาย ก.ย. 63 เริ่มรับมอบรถคันแรกใน มี.ค. 2564 ส่งมอบเดือนละ 400 คัน ครบใน 7 เดือน (ก.ย. 2564) กำหนดระยะเวลาสัญญาเช่าวิ่ง 7 ปี แบ่งออกเป็น 3 สัญญา จากก่อนหน้านี้จะให้เป็นสัญญาเดียวแต่เกรงว่าจะเกิดการผูกขาด ส่วนรถร่วมเอกชน ที่จะเข้ามารับจ้างวิ่ง 54 เส้นทาง จำนวน 1,500 คัน เริ่มส่งมอบเดือน พ.ค. 2564 เดือนละ 300 คันครบใน ก.ย. 2564

“ แผนฟื้นฟูใหม่ จะลดค่าครองชีพประชาชน จากแค่ 30 บาท/วัน นั่งไม่จำกัดเที่ยวและเส้นทาง ผู้สูงอายุจ่าย 15 บาท (ลด 50%) บัตรรายเที่ยว 15 บาท บัตรรายเดือน (นักเรียน นักศึกษา 630 บาท/เดือน 21 บาท/วัน) บุคคลทั่วไป 720 บาท/เดือน 24 บาท/วัน ซึ่งก่อนเกิดโควิด-19 มีผู้ใช้บริการรถเมล์ประมาณ 2 ล้านคน/วัน หากอนาคตมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่ม จะเพิ่มจำนวนรถที่เช่าจ้างวิ่งรถได้ง่าย”

ปรับลดคน มีเกษียณก่อนกำหนด

เป้าหมายแผนฟื้นฟูจะทำให้ ขสมก.มีผลดำเนินงาน EBITDA เป็นบวก ในปี 2572 หรือไม่ขาดทุนอีกต่อไป โดยจะมีการปรับลดพนักงานต่อรถ 1 คน จาก 4.65 คน เหลือ 2.75 คน โดยจะมีการเกษียณอายุก่อนกำหนด จำนวน 5,301 คน ใช้เงิน 4,560 ล้านบาท โดยจะไม่มีการรับพนักงานเพิ่มแทนผู้เกษียณ ซึ่งพบว่าคนขับรถที่เป็นพนักงาน ขสมก. จะเกษียณหมดในปี 2603 หลังจากนั้น คนขับรถจะเป็นของเอกชนที่นำรถมารับจ้างวิ่งทั้งหมด

นอกจากนี้จะขอรับเงินสนับสนุน (PSO) เป็นเวลา 7 ปี (65-71) จำนวน 9,674 ล้านบาท โดย PSO ปีแรกประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท และมีแผนหารายได้เพิ่มจากการพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจ โดยให้เอกชนร่วมทุน ที่อู่บางเขน เนื้อที่ 11 ไร่เศษ อู่มีนบุรี กว่า 10 ไร่

Source