ครม.เห็นชอบอุดหนุนส่วนต่าง PSO ให้รฟท.-ขสมก.วงเงินรวมกว่า 5,550 ล้านบาท สำหรับบริการสาธารณะ ปี 2565 เสริมสภาพคล่องและไม่กระทบต่อการให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง สั่งรฟท.เร่งพัฒนาทรัพย์สิน สร้างรายได้เพิ่ม และเดินหน้าฟื้นฟู ขสมก. ช่วยลดงบอุดหนุนจากรัฐ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 พ.ย. 2564 มีมติเห็นชอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 (วันที่ 1 ต.ค. 2564 – 30 ก.ย. 2565) รวมทั้งสิ้น 5,557 ล้านบาท
แบ่งเป็นขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 2,279.781 ล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 3,278.866 ล้านบาท โดยในส่วนของ ขสมก. เป็นการอุดหนุนสำหรับการให้บริการรถโดยสารถธรรมดาในเขตกทม.และปริมณฑล จำนวน 1,460 คัน ซึ่งประเมินระยะทางวิ่งให้บริการเฉลี่ย 209 กม./คัน/เดือน ประมาณการผู้โดยสารจำนวน 354 คน/คัน/วัน
ทั้งนี้ ขสมก.ได้ประเมินโดยใช้สมมุติฐานรายได้ จากปี 2563 และสมมุติฐานค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าซ่อมแซมรถ ค่าภาษีต่อทะเบียนรถโดยสาร ค่าประกันภัยรถโดยสาร ค่าเช่าสถานีที่ ค่าเช่าระบบ GPS ค่าเชื้อเพลิง เงินเดือนค่าจ้างและสวัสดิการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เฉลี่ย 3 ปี โดยประเมินรายได้จากการให้บริการสาธารณะ 1,933.995 ล้านบาท ขณะที่ประมาณการต้นทุนอยู่ที่ 4,213.776 ล้านบาท ขาดทุนเพื่อขออุดหนุน PSO จำนวน 2,279.781 ล้านบาท
สำหรับ รฟท. เป็นการอุดหนุนบริการเชิงสังคมทั่วประเทศ จำนวน 152 ขบวน (รถชานเมือง 65 ขบวน รถท้องถิ่น 51 ขบวน รถธรรมดา 32 ขบวน และรถรวม 4 ขบวน) และมีประมาณการจำนวนผู้โดยสารเชิงสังคม จำนวน 24.22 ล้านคน โดยประมาณการรายได้จากบริการสาธารณะ ที่ 297.988 ล้านบาท ประมาณการต้นทุนที่ 3,576.854 ล้านบาท มีผลขาดทุนเพื่อขออุดหนุน PSO จำนวน 3,278.866 ล้านบาท
ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม ครม. วันที่ 30 พ.ย.2564 ว่า ครม.เห็นชอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 รวมทั้งสิ้น 5,557 ล้านบาท แบ่งเป็น ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 2,279 ล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 3,278 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเป็นวงเงินอุดหนุนจ่ายชดเชยผลขาดทุนให้กับ ขสมก. และ รฟท. ในรูปของเงินงบประมาณตามจำนวนส่วนต่างของประมาณการรายได้และต้นทุนการให้บริการสาธารณะ
ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถทั้ง ขสมก.และ รฟท. จัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพกับประชาชนอย่างต่อเนื่องและลดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินภารกิจ ซึ่งภาระงบประมาณที่รัฐต้องชดเชยดังกล่าว ยังคงไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด
นอกจากนี้ ครม.ยังให้ ขสมก. และ รฟท. พิจารณาหาวิธีการเพิ่มรายได้และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการให้บริการสาธารณะ เพื่อเป็นแนวทางในการลดกรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะจากรัฐบาลด้วย โดยให้ ขสมก. เร่งดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการที่สอดคล้องกับแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ส่วน รฟท. นั้นให้เร่งดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะการหารายได้เพิ่มจากทรัพย์สิน จากการถ่ายโอนทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทลูกของ รฟท. (บริษัท เอสอาร์ทีแอสเสท จำกัด) เพื่อให้มีเงินสดเพียงพอต่อการดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน